The Prachakorn

จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อประชากรไทยลดเหลือ 46 ล้านคน?


มนสิการ กาญจนะจิตรา

15 มิถุนายน 2564
1,140



เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ประชากรไทยมีขนาดประมาณ 45 ล้านคน1 ก่อนจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 70 ล้านคนในวันนี้ อีก 80 ปีข้างหน้า ประชากรไทยจะลดลงเป็น 46 ล้านคน2  แต่ครั้งนี้สถานการณ์จะแตกต่างจากครั้งก่อนอย่างสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงของประชากร ทั้งในด้านขนาดและโครงสร้างอายุ เป็นเทรนด์สำคัญที่จะเปลี่ยนโลกในยุคปัจจุบัน ขนาดประชากร หมายถึงจำนวนประชากรทั้งหมด ส่วนโครงสร้างอายุ หมายถึงจำนวนหรือสัดส่วนของประชากรจำแนกตามกลุ่มอายุต่างๆ การเปลี่ยนแปลงของประชากรในทั้งสองมิตินี้ มีความสำคัญกับทุกภาคส่วนของประเทศ ตั้งแต่การกำหนดนโยบายของชาติ เพราะการเปลี่ยนแปลงของประชากรส่งผลต่อการวางแผนความต้องการของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนโรงเรียน โรงพยาบาล บริการสาธารณะและโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ การเปลี่ยนแปลงประชากรยังส่งผลต่อการตัดสินใจและการวางแผนในการลงทุนของภาคธุรกิจ ในขณะที่สำหรับประชาชนทั่วไป การเปลี่ยนแปลงทางประชากรสามารถส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิต

สหประชาชาติคาดประมาณขนาดประชากรโลกในอีก 80 ปีข้างหน้า ว่าจะเพิ่มขึ้นราว 24% จาก 7.7 พันล้านคน เป็น 10.9 พันล้านคน จำนวนที่เพิ่มขึ้นมานี้ มาจากการขยายตัวของประชากรในประเทศรายได้ต่ำเป็นหลักจาก 775.7 ล้าน เป็น 2.5 พันล้าน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้นถึง 69%

จำนวนประชากรโลก พ.ศ. 2563-2643

  2563
(ล้านคน)
2643
(ล้านคน)
อัตราการเปลี่ยนแปลงประชากร (%)
โลก 7,794.8 10,875.4 23.8
ประเทศรายได้สูง 1,263.1 1,303.5 3.1
รายได้ปานกลาง 5,753.1 7,082.4 18.8
รายได้ต่ำ 775.7 2,484.8 68.8

ที่มา: UN World Population Prospects 2019

จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นนี้ ส่วนน้อยมาจากการเพิ่มขึ้นของประชากรในประเทศรายได้สูง เพราะในประเทศเหล่านี้กำลังประสบกับอัตราการเกิดต่ำ ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีแนวโน้มการเกิดต่ำเช่นกัน ตามการคาดประมาณของ UN ขนาดของประชากรไทยจะลดลงจากราว 70 ล้านคนในปัจจุบัน เป็น 46 ล้านคนในอีก 80 ปีข้างหน้า หรือลดลงราว 34% ซึ่งเป็นอัตราการลดที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

จำนวนประชากรประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2563-2643

 

2563
(ล้านคน)
2643
(ล้านคน)
อัตราการเปลี่ยนแปลงประชากร (%)
ไทย 69.8 46.02 -34.1
บรูไน 437 390 -10.9
สิงคโปร์ 5.9 5.7 -2.0
เวียดนาม 97.3 97.4 0.1
เมียนมา 54.4 55.3 1.6
ลาว 7.3 8.4 15.8
อินโดนีเซีย 273.5 320.8 17.3
มาเลเซีย 32.4 40.1 23.8
กัมพูชา 16.7 21.4 27.7
ฟิลิปปินส์ 109.6 146.3 33.5

ที่มา: UN World Population Prospects 2019

ถึงแม้ขนาดประชากรไทยจะลดลงเหลือราว 46 ล้านคน ซึ่งเป็นขนาดประชากรที่ใกล้เคียงกับในช่วงปี 2523 แต่โครงสร้างอายุประชากรของสองช่วงนี้แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ในปี 2523 ประชากรไทยส่วนมากเป็นวัยเด็ก พีรามิดประชากรที่แสดงโครงสร้างอายุและเพศของประชากรในช่วงนั้นเป็นรูปพีระมิดอย่างแท้จริง คือมีฐานกว้างและยอดแหลมเล็ก เพราะมีสัดส่วนประชากรวัยเด็กที่สูงแต่มีสัดส่วนประชากรวัยสูงอายุที่ต่ำ แต่ในปี 2643 ถึงแม้จะมีขนาดประชากรที่ใกล้เคียงกัน รูปร่างของพีระมิดประชากรไม่มีเค้าโครงของพีระมิดอีกต่อไป แต่กลับเป็นรูปทรงที่ผอมคล้ายทรงกระบอก และบานออกในช่วงบน แสดงถึงสัดส่วนประชากรในวัยสูงอายุที่มากขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประชากรวัยเด็ก

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก The Prachakorn
เข้าถึงได้ที่ https://www.facebook.com/ThePrachakorn/photos/a.1452534398100688/4215248441829256

โครงสร้างอายุประชากร คือตัวแปรสำคัญที่ทำให้บริบททางสังคมและเศรษฐกิจในปี 2523 แตกต่างกับปี 2643 ตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา ประเทศไทยมีการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีสัดส่วนประชากรวัยทำงานที่สูง เพราะมีประชากรวัยเด็กจำนวนมากที่เติบโตขึ้นเป็นกำลังแรงงานอันสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

ส่วนในปี 2643 ประเทศไทยจะไม่ได้มีจำนวนประชากรวัยแรงงานมากเช่นในปี 2523 แต่จะมีสัดส่วนประชากรเป็นคนวัยสูงอายุจำนวนมาก ดังนั้น การรับมือกับสถานการณ์นี้ต้องให้เหมาะสมกับขนาดและโครงสร้างประชากรนี้

เมื่ออนาคตของประเทศไทย จะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอด รัฐบาลควรวางแผนและดำเนินการแต่เนิ่นๆ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคุณภาพชีวิตของคนในประเทศ แนวทางการรับมือที่ได้รับการกล่าวถึงเป็นประจำ เช่น การเลื่อนอายุเกษียณ การพัฒนาคุณภาพประชากร การสร้างสังคมสูงวัยอย่างมีพลัง (active ageing) และการใช้หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์  

อย่างไรก็ตาม นโยบายไม่ควรหยุดอยู่เพียงการรับมือ แต่ควรดำเนินนโยบายเชิงรุกเพื่อให้ส่งผลต่อขนาดและโครงสร้างประชากรด้วย เช่น นโยบายการส่งเสริมการมีบุตร และนโยบายการนำเข้าพลเมือง การส่งเสริมการมีบุตรจะส่งผลให้ประชากรมีลูกมากขึ้น ที่จะส่งผลให้สัดส่วนวัยเด็กและวัยทำงานไม่ลดลงอย่างรวดเร็วตามที่คาดประมาณ แต่ในหลายประเทศได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าการส่งเสริมการเกิดนั้นมีความท้าทายอย่างมาก จึงไม่ควรคาดหวังว่านโยบายนี้จะสามารถเปลี่ยนแปลงขนาดและโครงสร้างอายุประชากรได้อย่างมีนัยสำคัญ

ในขณะที่นโยบายการนำเข้าพลเมือง (replacement migration) เป็นแนวทางสำคัญที่ควรได้รับการพิจารณาอย่างจริงจังในการสร้างความมั่นคงทางประชากรของประเทศไทย โดยการนำประชากรต่างชาติมาทดแทนประชากรไทยที่ลดลงส่วนหนึ่งเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร อย่างไรก็ตาม การดำเนินการนโยบายนำเข้าพลเมืองเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะการนำเข้าประชากรต่างชาติย่อมมีกลุ่มผู้เห็นด้วยและกลุ่มผู้ต่อต้าน จึงต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบแต่เนิ่นๆ  

การเปลี่ยนแปลงประชากรในด้านขนาดและโครงสร้างอายุ เป็นสิ่งที่จะเปลี่ยนโลกอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน การวางแผนเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่วันนี้ จะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในอนาคตอย่างยิ่ง

หากท่านสนใจอยากทราบเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงประชากรของประเทศไทยหรือนโยบายการนำเข้าพลเมืองมากขึ้น สามารถรับฟังรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก Prachakorn Forum ในหัวข้อ “จาก 50 ล้านประชากร สู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด”  และ “ความมั่นคงทางประชากรและสังคม: นโยบายการทดแทนประชากรในศตวรรษที่ 21


อ้างอิง

  1. ข้อมูลจากสำมะโนประชากร พ.ศ. 2453 – 2553, สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  2. UN World Population Prospects 2019, United Nations

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คนกับหวย

ชานิภา เอี่ยมเจริญ,จุฬาลักษณ์ อิ่นแก้ว

ส้วม

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th