สงครามกลางเมืองที่ต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี ในอัฟกานิสถานได้ยุติลงเมื่อวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เมื่อกองกำลังกลุ่มตอลิบานยึดเมืองหลวงคาบูลได้อย่างเบ็ดเสร็จ สหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตรถอนกำลังทหารและเคลื่อนย้ายพลเรือออกจากอัฟกานิสถานอย่างเร่งด่วน ผู้อพยพมีทหาร เจ้าหน้าที่ประจำกองทัพ ชาวต่างชาติรวมทั้งพลเรือนอัฟกานิสถาน ได้อพยพไปที่ฐานทัพของอเมริกาที่ประจำการชั่วคราวในประเทศใกล้เคียงกับอัฟกานิสถาน ก่อนส่งผู้อพยพไปประเทศปลายทางต่างๆ ที่เสนอให้ที่พักชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยมากกว่า 40 ประเทศ
ตลอดช่วงปี 2001-2021 สงครามในอัฟกานิสถานเป็นการสู้รบโดยมีกองทัพของรัฐบาลอัฟกานิสถานร่วมกับทหารจากอเมริกาและกองทัพพันธมิตรเพื่อกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธ ทั้ง 4 กลุ่ม คือ กลุ่มตอลิบาน กลุ่มอัลกออิดะห์ กลุ่มไอซิส และกลุ่มไอซิส-เค ที่ต้องการโค่นล้มรัฐบาลกลาง จากการสู้รบจากความขัดแย้งภายในประเทศระหว่างรัฐบาลกลางและกลุ่มกองกำลังติดอาวุธยาวนานถึง 20 ปี มีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนที่ต้องหวาดผวากับการก่อวินาศกรรมโดยกองกำลังติดอาวุธหลายกลุ่ม ผู้เผชิญชะตากรรมที่โหดร้ายครั้งนี้คงไม่พ้นเด็กและผู้หญิง เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายประการ เช่น เด็กต้องอยู่ตามลำพังเพราะพ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สู้รบ ผู้หญิงต้องดูแลรับผิดชอบครอบครัวมากขึ้นเพื่อจัดหาอาหารให้พอเพียงในสถานการณ์ที่ปัจจัยการดำรงชีวิตมีจำกัด
ข้อมูลจากรายงานประจำปีของ UN Assistance Mission in Afghanistan (UNAMA) ระบุว่า ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีเด็ก จำนวน 7,792 คน เสียชีวิต และ 18,662 คนได้รับบาดเจ็บจากระเบิดที่ฝังไว้ตามถนนที่ประชาชนใช้เดินทางวัน รวมทั้งการโจมตีทางอากาศด้วยระเบิดเพลิงทำให้ที่อยู่อาศัยถูกทำลาย เด็กและผู้หญิงเสียชีวิตเป็นจำนวนมากเพราะต้องอยู่ในบ้านเกือบตลอดเวลา1
ในช่วงที่กลุ่มตอลิบานยึดพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วมากกว่าครึ่งประเทศ คาบูลเมืองหลวงได้ตกอยู่ในสภาพที่เสี่ยงภัยอย่างยิ่งเพราะมีกลุ่มกองกำลังติดอาวุธไม่ระบุสังกัดออกปฏิบัติการเพื่อลดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะคุ้มครองประชาชน เหตุการณ์สังหารผู้พิพากษาหญิง 2 คนที่ถูกยิงขณะเดินทางไปทำงานด้วยฝีมือกลุ่มกองกำลังติดอาวุธเมื่อเดือนมกราคม 2564 รวมทั้งการสังหารเจ้าหน้าที่หญิง 3 คน ของสถานีวิทยุท้องถิ่นที่เมืองจะลาลาบัดเมื่อมีนาคมที่ผ่านมาและการปลิดชีพเจ้าหน้าที่ของศูนย์ให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโปลิโอ และเป็นไปได้ว่า ศูนย์ให้บริการวัคซีนโควิด-19 อาจเป็นเป้าโจมตีด้วย เช่นกัน รวมถึงการทำลายโรงเรียนและสถานพยาบาลอีกหลายแห่งทั่วประเทศ
รูป: การสู้รบที่รุนแรงและต่อเนื่องในเมืองศูนย์กลางหลัก เช่น เฮรัต เป็นเป้าหมายสำคัญของกลุ่มตอลิบานโดยไม่คำนึงถึงชีวิตของพลเรือน
ที่มา: https://news.un.org/en/story/2021/02/1085442 สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564
นอกจากการเสี่ยงภัยจากการสู้รบ ปัญหาสุขภาพและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข เช่น โรคโปลิโอ ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่ยูนิเซฟให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง โดยจะให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเด็กอายุต่ำกว่า 1 ปีจำนวน 1.2 ล้านคน รวมทั้งให้หญิงตั้งครรภ์ 6 ล้านคนได้รับวัคซีนเพิ่มภูมิคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 46 ของประชากรเด็กอายุระหว่าง 12-23 เดือน ไม่เคยได้รับวัคซีนป้องกันโรค2
นอกจากปัญหาสุขอนามัยแล้ว เด็กและเยาวชนยังขาดโอกาสด้านการศึกษา โดยเฉพาะในเขตชนบท เด็กจำนวน 3.7 ล้านคน ไม่ได้เรียนหนังสือเลยและในจำนวนนี้เป็นเด็กเพศหญิงมากกว่าครึ่ง3
หลังการถอนกำลังพลของสหรัฐอเมริกาและประเทศพันธมิตร ทำให้ประชาชนอัฟกานิสถานลงถนนร่วมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ภายใต้การบริหารของกลุ่มตอลิบานแถลงนโยบายที่ให้ความมั่นใจต่อประชาคมเรื่องสิทธิเสรีภาพตามหลักสากล เปิดโอกาสให้ผู้หญิงทำหน้าที่ในระดับสูงของคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบัน รวมถึงเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้รับการศึกษาทุกระดับ
อ้างอิง
ศุทธิดา ชวนวัน
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
อมรา สุนทรธาดา
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี
อมรา สุนทรธาดา
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์