ในขณะที่แต่ละประเทศกำลังหาหนทางที่จะทำให้วัคซีนป้องกันการโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ถึงมือประชาชนในชาติให้เร็วที่สุด ประเทศจอร์แดนกลับทำในสิ่งที่ล้ำหน้าใคร ๆ นั่นคือการฉีดวัคซีนป้องกันโควิดให้กับผู้ลี้ภัย ซึ่งนับเป็นประเทศแรกในโลกที่ทำเช่นนี้
หญิงผู้ลี้ภัยชื่อ Raia AlKabasi เป็นผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียนกับสำนักข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) คนแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 โดยได้รับวัคซีนไปเมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา เธอลี้ภัยมาจากประเทศอิรักและอาศัยที่เมืองอิร์บิด ทางตอนเหนือของประเทศจอร์แดน1 ทั้งนี้ในวันเดียวกันมีผู้ลี้ภัยชาวอิรักและซีเรียรวม 43 คนที่เดินทางจากค่ายผู้ลี้ภัย Zaatari ที่ได้รับวัคซีนเช่นเดียวกัน และนับจากวันนั้นมีผู้ลี้ภัยในจอร์แดนมากกว่าร้อยคนที่ได้รับวัคซีนไปแล้ว
Raia AlKabasi ผู้ลี้ภัยคนแรกของโลกที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 (ภาพจาก UNHCR Jordan)
จอร์แดนมีแผนวัคซีนโควิด 19แห่งชาติที่ระบุว่าทุกคนที่อาศัยอยู่ในดินแดนของจอร์แดนทุกคนจะได้รับวัคซีนฟรีแม้ว่าเป็นผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่พักพิง (asylum seeker) ก็ตาม โดยรัฐบาลจอร์แดนวางแผนจะฉีดวัคซีนให้ประชากร 20% ของประชากรทั้งหมดภายในไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ กลุ่มผู้สูงอายุและผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจะได้รับวัคซีนก่อนโดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติหรือสถานะความเป็นพลเมือง และจะไม่มีการแบ่งประเภทวัคซีนให้แตกต่างกัน
นโยบายเรื่องวัคซีนโควิด 19สำหรับผู้ลี้ภัยในจอร์แดนนั้น ครอบคลุมทั้งผู้ลี้ภัยที่อาศัยอยู่ในเมือง (urban refugees) และผู้ลี้ภัยที่อาศัยในค่าย (refugee camps) ผู้ลี้ภัยที่อาศัยในเมืองซึ่งคิดเป็น 80% ของผู้ลี้ภัยในจอร์แดนทั้งหมดสามารถรับวัคซีนที่คลินิกท้องถิ่นได้ ส่วนผู้ที่อาศัยในค่ายผู้ลี้ภัยจะได้รับวัคซีนโดยอยู่ภายใต้การทำงานประสานระหว่าง UNHCR และกระทรวงสาธารณสุข2
ไม่ใช่แค่นโยบายวัคซีน แต่ผู้ลี้ภัยได้รับการเอาใจใส่โดยระบุในนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 ของจอร์แดน ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงการรักษาและบริการสาธารณสุขเหมือนพลเมืองชาวจอร์แดน ทั้งนี้ผู้ลี้ภัยในจอร์แดนที่ลงทะเบียนกับ UNHCR มีจำนวนกว่า 752,193 คน และ 88 % ของผู้ลี้ภัยจำนวนนี้มาจากซีเรีย ส่วนที่เหลือมาจากอิรัก เยเมน ซูดาน โซมาเลีย และยังมีชาวปาเลสไตน์ที่องค์การเพื่อการบรรเทาทุกข์และการทำงานของสหประชาชาติ (UNRWA) ดูแล ส่วนค่ายผู้ลี้ภัยในจอร์แดนมีอยู่สองแห่งคือ Zaatari และ Azraq
ค่ายผู้ลี้ภัย Zaatari (ภาพโดย Raad Adayleh -AP)
ที่ผ่านมา ผู้ลี้ภัยในค่ายในจอร์แดนที่ติดเชื้อโควิด 19มีเกือบ 2 พันคน ซึ่งปัจจุบันหายเป็นปกติได้เกือบ 90 % หากเทียบสัดส่วนแล้ว จำนวนผู้ติดเชื้อในหมู่ผู้ลี้ภัยอยู่ที่ 1.6 % ซึ่งนับว่าต่ำกว่า สัดส่วนของผู้ติดเชื้อในประชากรจอร์แดนทั่วไปซึ่งอยู่ที่ 3 % แม้ว่าผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุข แต่มาตรการล็อกดาวน์ก็ทำให้พวกเขาไม่สามารถหาเลี้ยงชีพได้ จนถึงขั้นบ่นกันว่าอาจจะตายเพราะความอดอยากมากกว่าตายเพราะโควิด 193
ความจริงการกระจายวัคซีนให้ถึงประชากรชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศมิใช่เรื่องแปลกประหลาดนัก หากอยู่ในบริบทของประเทศพัฒนาแล้ว ที่ผนวกประชากรชาวต่างชาติอยู่ในแผนโดยไม่แบ่งแยกออกจากคนชาติ แต่หากอยู่ในบริบทประเทศกำลังพัฒนาก็ดูจะน่าแปลกใจ เพราะประเทศเหล่านี้ส่วนมากยังคงเผชิญปัญหาการป้องกันแก้ไขปัญหาโควิด 19ในหมู่แรงงานข้ามชาติ มิต้องพูดถึงการให้วัคซีน มากไปกว่านั้น กลุ่มผู้ลี้ภัยมักเป็นกลุ่มที่ถูกให้ความสำคัญน้อยสุดในประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นประเทศผู้รับ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลที่ว่าผู้ลี้ภัยมิได้ถูกมองเป็นสมาชิกของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศผู้รับก็ดี หรือเหตุผลเชิงประสิทธิผลเพื่อจัดการทรัพยากรก็ดี รวมถึงทัศนคติชาตินิยมของประชาชนของประเทศผู้รับเองก็ดี ประเทศผู้รับจึงไม่เห็นความจำเป็นและอาจไม่มีความสามารถในการดำเนินนโยบายให้ครอบคลุม
จอร์แดนนั้นมีแผนทางสาธารณสุขรองรับผู้ลี้ภัยมาโดยตลอด และมีความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศเพื่อให้ความช่วยเหลือต่อผู้ลี้ภัยมาเสมอ ในด้านหนึ่งจอร์แดนมองเห็นความจำเป็นในการผนวกผู้ลี้ภัยเข้ามาเพื่อบรรลุเป้าหมายของการควบคุมการระบาดของโควิด 19 ผู้ลี้ภัยคือสมาชิกในสังคม หากไม่ได้รับการฉีดวัคซีน พวกเขามีโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปให้ประชาชนได้
ในอีกด้านหนึ่ง ผู้ลี้ภัยในจอร์แดนเป็นแหล่งรายได้ของเงินทุนจากต่างประเทศในนามของการพัฒนาระหว่างประเทศ จอร์แดนเป็นประเทศผู้รับที่อาศัยเงินช่วยเหลือจากประเทศตะวันตกเพื่อดำเนินการทางมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยสูงมาก แคนาดาเป็นตัวอย่างหนึ่งของประเทศผู้บริจาคหลัก ซึ่งในช่วงก่อนการระบาดของโควิด 19 แคนาดาตั้งใจจะบริจาคเงินจำนวนเกือบ 5 หมื่นล้านบาทให้จอร์แดนและเลบานอนเพื่อดูแลผู้ลี้ภัยที่มาจากซีเรียและอิรัก4 นอกจากนี้วิกฤตผู้ลี้ภัยกลายเป็นโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจของจอร์แดน เพราะได้ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจทางอ้อมจากการรับผู้ลี้ภัยเข้ามาในเขตแดนเป็นจำนวนมาก ข้อตกลง Jordan Compact ที่ทำร่วมกับนานาชาติในปี 2016 เพื่อสร้างงานให้ผู้ลี้ภัยชาวซีเรียในประเทศจอร์แดน ได้ส่งเสริมการสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ และทำให้สหภาพยุโรปผ่อนคลายหลักเกณฑ์การค้ากับจอร์แดน5 ถึงแม้ผลลัพธ์ของข้อตกลงดังกล่าวยังไม่เป็นที่ประจักษ์ชัด แต่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เข้าใจได้ว่าทำไมจอร์แดนจึงมิได้กีดกันผู้ลี้ภัย
ในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ จอร์แดนเองพยายามทำให้นานาชาติมองเห็นความตั้งใจในการดูแลผู้ลี้ภัยเสมอมา ซึ่งตามประวัติศาสตร์จอร์แดนเคยพยายามตีฆ้องร้องป่าวเรื่องจำนวนผู้ลี้ภัยชาวอิรักที่มีมหาศาลหลังสงครามอิรักปี 2003 ส่วนการสร้างค่ายผู้ลี้ภัยหลังวิกฤตซีเรียเป็นการตอกย้ำภาพให้ชัดเจนว่าจอร์แดนกำลังประสบปัญหาอะไร และพร้อมช่วยบรรเทาปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างไร ซึ่งสมประโยชน์กับโลกตะวันตกที่มีแนวโน้มที่จะเสนอเงินบริจาคให้ประเทศโลกที่สาม แทนที่จะรับผู้ลี้ภัยจำนวนมหาศาลเข้าประเทศของตัวเอง6 การฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้ผู้ลี้ภัยเป็นประเทศแรกของโลก จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงให้นานาชาติเห็นถึงบทบาทที่สมบูรณ์ของจอร์แดนในฐานะประเทศผู้รับ
นอกจากนี้การฉีดวัคซีนโควิด 19ให้ผู้ลี้ภัยยังเป็นวาระหลักอันหนึ่งของ UNHCR ซึ่งเดิมมีความร่วมมือกับรัฐบาลจอร์แดนในการดูแลผู้ลี้ภัยมาตลอด โดย UNHCR เองต้องการผลักดันวาระเรื่องความรับผิดชอบของประเทศผู้รับต่อการฉีดวัคซีนโควิด 19สำหรับผู้ลี้ภัย จอร์แดนกลายเป็นประเทศตัวอย่างที่ทำให้อีก 24 ประเทศตกลงให้ข้อผูกมัดที่จะวางแผนทำในสิ่งเดียวกัน และเนื่องจากผู้ลี้ภัยส่วนมากอาศัยในประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งประเทศเหล่านี้เข้าถึงวัคซีนโควิด 19 ยากอยู่แล้ว UNHCR ก็สามารถใช้เรื่องราวของประเทศจอร์แดนเพื่อรณรงค์ผ่าน COVAX Facility ให้นานาชาติช่วยสนับสนุนประเทศผู้รับที่เป็นประเทศกำลังพัฒนาเพื่อดูแลจัดหาวัคซีนให้ผู้ลี้ภัย
อ้างอิง
อมรา สุนทรธาดา
อมรา สุนทรธาดา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
รศรินทร์ เกรย์
พรสุรีย์ จิวานานนท์
สักกรินทร์ นิยมศิลป์
ภูเบศร์ สมุทรจักร
มนสิการ กาญจนะจิตรา
สุรีย์พร พันพึ่ง
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,พรสุรีย์ จิวนานนท์
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
บุรเทพ โชคธนานุกูล
วรชัย ทองไทย
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ศุทธิดา ชวนวัน
ดนุสรณ์ โพธารินทร์
เพ็ญพิมล คงมนต์
นงเยาว์ บุญเจริญ
ภาณุภัทร จิตเที่ยง
อมรา สุนทรธาดา
ศิรดา เขมานิฏฐาไท
สุรีย์พร พันพึ่ง
กาญจนา เทียนลาย
โซรยา จามจุรี
ภูมิพงศ์ ศรีภา
ธีระพจน์ คำรณฤทธิศร
ณปภัช สัจนวกุล