The Prachakorn

มีอะไรใน Dragon Ball ตอนที่ 1 : กระจกสะท้อนวรรณกรรม ไซอิ๋ว


อภิชัย อารยะเจริญชัย

26 พฤษภาคม 2565
915



“Dragon Ball หนึ่งในการ์ตูนที่ได้รับความนิยมทั่วโลก แม้จะมีโทนเรื่องที่เน้นการต่อสู้ แต่ผู้เขียนกลับ
แทรกแนวคิดและคติความเชื่อทางศาสนาเอาไว้ได้อย่างแนบเนียน”

หลายท่านคงจะเคยอ่าน Dragon Ball ผลงานมาสเตอร์พีซของ อาจารย์ โทริยามะ อากิระ กันใช่ไหมครับ การ์ตูนในตำนานเรื่องนี้ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากนักอ่านทั่วโลก ไม่ว่าจะแปลเป็นภาษาอะไรก็ล้วนแต่ขายดิบขายดี ในญี่ปุ่นเอง Dragon Ball เป็นหนึ่งในการ์ตูนที่ได้รับความนิยมและมียอดจำหน่ายมากกว่า 300 ล้านเล่ม และเมื่อถูกแปลเป็นภาษาอื่น ก็ยังคงความนิยมในระดับต้น ๆ เช่นกัน

ว่าแต่รู้สึกกันไหมว่า อ.โทริยามะ แกแอบแทรกแนวคิดอะไรหลาย ๆ อย่างลงไปใน Dragon Ball ไม่ว่าจะด้วยความจงใจหรือไม่ก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เห็นชัดมากคือเรื่องของความเชื่อทางศาสนาที่แทรกเข้าไปในเนื้อเรื่องได้อย่างแนบเนียน

ที่มา : https://www.okaygotcha.com/2021/05/the-new-official-dragon-ball-website.html

หากจำกันได้ในตอนต้นจะว่าด้วยการออกตามหา ลูกแก้ววิเศษทั้งเจ็ด ซึ่งสมาชิกในแก๊งต้องเดินทางไกลผจญภัยต่าง ๆ มากมาย อาจารย์หมอประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เคยวิเคราะห์ไว้ในหนังสือชุด การ์ตูนที่รัก (ประเสริฐ, 2554) ว่าการเดินทางในช่วงต้นของ Dragon Ball ไม่ต่างอะไรกับการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกของพระถังซัมจั๋งในเรื่อง ไซอิ๋ว ซึ่งที่แท้จริงแล้ว อ.โทริยามะ เองก็ยอมรับว่าเขาได้นำเอาพล็อตไซอิ๋วมาใช้จริง ๆ

ที่มา : https://www.asialogy.com/dragon-ball-hakkinda-bilmediginiz-50-sasirtici-sey/

“พระถัง” อาจเปรียบได้กับ ศรัทธา “เห้งเจีย” คือ ปัญญา “ตือโป๊ยก่าย” คือ ศีล “ซัวเจ๋ง” คือ สมาธิ ศีล/สมาธิ/ปัญญา ต้องพร้อมกันทั้งหมด โดยมีศรัทธานำ หลายหนที่ตัวละครบางตัวออกนอกลู่นอกทาง เช่น เจ้าหมูตือโป๊ยก่ายลุ่มหลงไปกับอบายมุข หรือเห้งเจียที่ดื้อด้านเอาแต่ใจ นั่นจึงทำให้การเดินทางเกิดอุปสรรค ศรัทธาเพียงอย่างเดียวก็ไม่สามารถนำพาไปสู่จุดหมายได้สำเร็จ แต่องค์ประกอบทุกอย่างต้องสอดคล้องและรวมเป็นหนึ่งเดียว

ขณะที่ใน Dragon Ball เราอาจเปรียบ บลูม่า เป็นศรัทธา หรือ พระถัง เพราะเจ้าหล่อนมุ่งมั่นจะขอพรจากเทพเจ้ามังกร (นางอยากได้แฟนหล่อ ๆ ซักคน) เช่นเดียวกับพระถังที่แน่วแน่ในการเดินทางไปชมพูทวีป โงกุน คือตัวแทนของเห้งเจีย เพราะเป็นลิง (มีหาง) มีพลังพิเศษ เจ้าหมูอูรอน คือตือโป๊ยก่ายที่ผิดศีลเป็นประจำ ยามุชา คือซัวเจ๋งที่กลัวผู้หญิงเหมือนกัน ระหว่างการเดินทางก็จะมีเรื่องให้ทะเลาะกันเสมอ ๆ แต่เมื่อเจอสถานการณ์คับขันก็จะกลับมาสามัคคีกันดังเดิม

สำหรับตัวละครเอกอย่าง โงกุน กับ เห้งเจีย นั้น มีทั้งความเหมือนและความต่างที่อาจเป็นไปตามไอเดียของ อ.โทริยามะ เห้งเจียในไซอิ๋วอยากจะอยู่ยงคงกระพันไม่เจ็บไม่แก่ จึงไปฝึกวิชากับเซียนจนมีอิทธิฤทธิ์เก่งกล้า แล้วก็เกิดผยองออกอาละวาดไปทั้งสวรรค์ จนพระยูไลต้องเสด็จลงมาปราบจึงจะสงบลงได้ แต่กิริยาก้าวร้าวนี้เกิดขึ้นกับโงกุนแค่ช่วงแรก ๆ เท่านั้น การถือกำเนิดก็คล้ายกัน เมื่อหินพันปีแตกออกจึงเกิดเป็นเห้งเจีย ก็คล้ายกับยานอวกาศที่ระเบิดออกแล้วพบว่ามีทารกโงกุนอยู่ภายใน คุณปู่ซุนโกฮังจึงเก็บมาเลี้ยงด้วยความเอ็นดู แต่เด็กคนนี้กลับดื้อซนมีกำลังมาก อาละวาดไม่อยู่นิ่ง จนวันหนึ่งเกิดพลัดตกจากหุบเขาหัวกระแทกพื้นอย่างแรง พอคืนสติก็กลายเป็นเด็กเรียบร้อยว่านอนสอนง่าย เห็นได้ว่าพัฒนาการด้านพฤติกรรมของทั้งสองตัวละครมีความคล้ายกันอยู่คือจากก้าวร้าวแล้วค่อยสงบ

ที่มา : https://www.blockdit.com/posts/5f5787b7fd2d613e5864f6eb

ในไซอิ๋วนั้นยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าเห้งเจียนั้นนิสัยลึก ๆ เป็นอย่างไรแน่ เขาสงบลงเพราะถูกกำราบจากผู้ที่เหนือกว่า (พระยูไลและเจ้าแม่กวนอิม) อาจหมายความว่าจริง ๆ แล้วไม่ได้ยอมด้วยใจแต่ยอมเพราะสู้ไม่ได้ เพราะหลายหนที่เห้งเจียแอบไปสร้างความปั่นป่วนชวนปวดหัวให้พระถังต้องคอยดุด่า ขณะที่ใน Dragon Ball โงกุนกลับมีนิสัยไปในทางไม่เดียงสาต่อโลก หากจะวัดความใสสะอาดของจิตใจก็ดูได้จาก เมฆสีทอง ที่ถูกกำหนดไว้ว่าผู้ที่มีจิตใจบริสุทธิ์เท่านั้นจึงจะขี่มันได้ ซึ่งมีตัวละครใน Dragon Ball ไม่กี่ตัวที่ได้สิทธิขี่เมฆสีทอง ขณะที่เมฆวิเศษของเห้งเจียนั้นใช้อิทธิฤทธิ์ล้วน ๆ ความดีความเลวไม่เกี่ยวกัน

คติความเชื่อขงจื๊อ เต๋า และพุทธ รวมเป็นแนวคิดและวิถีปฏิบัติของสังคมจีน มีคติขงจื๊อเป็นแก่นในการชี้นำดำรงตนให้อยู่ในกรอบจารีต มีคติเต๋าและพุทธเป็นเครื่องค้ำชูจรรโลงจิตใจ (สุรสิทธิ์, 2564) ซึ่งทั้งหมดที่ปรากฎในไซอิ๋วก็ถูกนำมาใช้ใน Dragon Ball เช่นกัน ในไซอิ๋วมีการเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกเป็นแกนหลักของเรื่อง ระหว่างทางจะมีอุปสรรคมากมายคอยขัดขวางและเป็นบททดสอบทางจริยธรรมและศีลธรรม เช่นเดียวกับใน Dragon Ball ต่างกันตรงที่เป็นการเดินทางตามหาลูกแก้ววิเศษ ความเชื่อเรื่องลัทธิเต๋าในไซอิ๋ว เช่น ยาอายุวัฒนะ ก็พบใน Dragon Ball แต่เปลี่ยนเป็นการขอพรให้มีชีวิตเป็นอมตะ หรือความเชื่อเรื่องเทพเจ้า ก็เปลี่ยนเป็น เทพเจ้ามังกร หรือ พระเจ้า ใน Dragon Ball ที่มีอิทธิฤทธิ์เหนือมนุษย์ รวมถึงความเชื่อในคติขงจื๊อที่มุ่งเน้นคุณธรรมและความกตัญญู ก็พบได้ในเกือบทุกตอนของ Dragon Ball

ในภาคแรกของ Dragon Ball เราจับสังเกตได้ไม่ยากเลยว่าแนวทางของเรื่องเดินตามรอยของไซอิ๋วแบบไม่มีปิดบัง จนกระทั่งเข้าสู่ภาคที่สอง แม้แก่นของเรื่องจะเปลี่ยนเป็นโทนการต่อสู้เต็มรูปแบบ แต่ อ.โทริยามะ อากิระ ก็ยังคงแทรกคติธรรมและแนวคิดทางศาสนาไว้ไม่เปลี่ยนแปลง


เอกสารอ้างอิง

  1. ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์. (2554). กลับไปหาดราก้อนบอล (1). ใน การ์ตูนติดเรต : ศตวรรษที่ 21. น. 230-236. กรุงเทพ : มติชน.
  2. สุรสิทธิ์ อมรวณิชศักดิ์. (2564). การปะทะสังสรรค์ของคติขงจื๊อ เต๋า พุทธในตัวละครหงอคงในวรรณกรรมไซอิ๋ว. วารสารศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 21(2) กรกฎาคม-ธันวาคม, 157-189. สืบค้นจาก https://so03.tci-thaijo.org/index.php/liberalarts/article/view/246553/172015
  3. Lian, Li., กาญจนา วิชญาปกรณ์ และชวนพิศ เทียมทัน. (2561). วิเคราะห์ตัวละครสำคัญในวรรณกรรมไซอิ๋ว ฉบับการ์ตูนของ กาย เบ็ญจ์. วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, 12(1) มกราคม-มิถุนายน, 115-128. สืบค้นจาก https://so01.tci-thaijo.org/index.php/GraduatePSRU/article/download/85582/98213/345045

 

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
พิธีและพิธีกรรม

วรชัย ทองไทย

คนไทยกับกิจกรรมทางกาย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

สูงอายุ - ย้ายถิ่น - พำนักยาว

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

การเลียนแบบ

วรชัย ทองไทย

คำขวัญวันเด็ก

สุภาณี ปลื้มเจริญ

ศีลธรรม

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th