The Prachakorn

ความเครียดหลีกไป.......ลองเลียนแบบชาวสิงคโปร์


อมรา สุนทรธาดา

07 เมษายน 2565
616



ข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน ปี 2564 ประเทศสิงคโปร์มีประชากรทั้งสิ้น 5.69 ล้านคน1 พลเมืองของสิงคโปร์ประกอบด้วย 3 เชื้อชาติหลักๆ คือ จีน ร้อยละ 75.9 มาเลย์ ร้อยละ 15.0 อินเดีย ร้อยละ 7.5 และเชื้อชาติอื่นๆ ร้อยละ 1.62 สิงคโปร์ล้ำหน้าด้านเทคโนโลยีสูงสุด การทำงานต้องแข่งขันสูง ต้องปรับตัวให้ทันต่อการใช้เทคโนโลยี แม้ว่าสวัสดิการภาครัฐอยู่ในระดับเหนือกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่ปัญหาด้านความสุขทางใจที่มีผลต่อสุขภาพจิตนั้นกลับมีสูง

จากรายงานการสำรวจสภาวะสุขภาพจิต ระหว่างปี 2016-2018 สัมภาษณ์ ประชากรตัวอย่าง รวม 6,126 ราย อายุ 18 ปี ขึ้นไป พบว่า ร้อยละ 13.9 เคยมีภาวะเครียด กังวล รวมทั้งการดื่มสุราเพื่อลดความเครียด อย่างน้อย 1 ครั้ง ในช่วงชีวิต3 สำหรับการเข้าถึงบริการภาครัฐเพื่อรักษาอาการเครียดนั้น ยังไม่เป็นที่ยอมรับเพราะไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้ว่าตนมีปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา เพราะจะถูกประเมินว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาในทางที่เหมาะสม ค่านิยมและบรรทัดฐานในสังคมสิงคโปร์คือการแข่งขันด้านการศึกษา การมีหน้าที่การงานที่เหมาะสมกับระดับการศึกษา ดังนั้นการเข้าถึงบริการสุขภาพเมื่อมีปัญหาด้านสุขภาพจิตในภาครัฐเพื่อการรักษาจึงไม่ใช่ทางเลือกที่น่าสนใจ เพราะไม่ต้องการให้ใครรู้ว่ากำลังมีภาวะเครียด ปัญหานี้ทำให้รัฐต้องหาวิธีการแก้ไขอย่างรอบคอบ

ภาคเอกชนออกตัวได้เร็วกว่าภาครัฐ เพราะประเมินความต้องการกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ มีสถานบริการภาคเอกชนเสนอทางเลือกสำหรับกลุ่มเป้าหมาย โดยใช้กลยุทธ์การตลาดที่จูงใจ เช่น ค่าใช้จ่าย ความเป็นส่วนตัว กิจกรรมที่สนุกสนานมีให้เลือกได้ตามอายุ เพศ รายได้ ทำให้กลุ่มเป้าหมายมีทางเลือกมากขึ้น สามารถหาข้อมูลได้จากสื่อสังคม

ตัวอย่างของภาคธุรกิจเอกชนในสิงคโปร์ ที่เสนอกิจกรรมคลายเครียด ดังนี้

ทุบไม่ยั้ง

เลือกทุบทำลายทุกอย่างที่สถานบริการจัดเตรียมไว้ในห้องระบายเครียด ราคาเริ่มต้นที่ 950 บาท ต่อ 30 นาที ผู้ใช้บริการจองคิวได้ทางออนไลน์หรือแวะไปใช้บริการได้ทุกเวลา

ที่มา: https://www.klook.com/en-SG/activity/48638-the-fragment-room-rage-room-experience-in-singapore/ สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2565

เหวี่ยงขวานคลายเครียด

บริการประเภทนี้คือการเหวี่ยงขวานใส่ภาพจำลองผู้ที่ตนเกลียดชัง หรือภาพอะไรก็ได้ที่เป็นสาเหตุของความเครียด ค่าบริการ 750 บาท ต่อชั่วโมง บริการประเภทนี้เป็นที่สนใจสำหรับเยาวชนชาย ที่มักชวนเพื่อนๆ ไปร่วมสนุกด้วย

พ่นหรือขว้างปาสีบนกำแพง

ที่มา: https://girlstyle.com/sg/article/45752/5-places-to-vent-your-frustrations-in-singapore สืบค้นเมื่อ 5 มีนาคม 2565

บริการประเภทนี้มีแฟนคลับส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงวัยรุ่น เพราะสนุกกับการละเลงสีบนพื้นที่ที่ถูกจัดเตรียมไว้ให้เลือกอย่างหลากหลายหรืออาจเลือกไปที่ห้องสำหรับพ่นหรือทาสีใส่กำแพงหรือผืนผ้าใบที่เจ้าของสถานที่จัดเตรียมไว้ แบบไม่ต้องยั้งมือ ค่าบริการประมาณ 850 บาท ต่อชั่วโมง กิจกรรมนี้คงคล้ายภาพวาดศิลปินเดี่ยวไร้เวทีบ้านเราที่ชอบพ่นสีตามกำแพงในที่สาธารณะ ต่างกันตรงที่ไม่ต้องเสียค่าบริการเท่านั้นเอง แต่ต้องแอบทำเพราะอาจถูกตำรวจรวบตัวฐานทำลาย หรือทำให้สถานที่สาธารณะสกปรก

ยิงปืนเป้าล่อ

การระบายความเครียดวิธีนี้ คือใช้สนามยิงปืนที่มีเป้านิ่งเป็นนกพิราบปั้นจากดินเหนียว รวมทั้งมีการสร้างสิ่งแวดล้อมให้ผู้ใช้บริการรู้สึกเหมือนการเที่ยวป่าล่าสัตว์เพื่อเพิ่มความสนุกสนานจนหายเครียด อัตราค่าบริการ 3,500 บาท ต่อครั้ง โดยมีค่าธรรมเนียมการฝึกใช้ปืน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีก 5,500 บาท (จ่ายครั้งเดียว) มีส่วนลดพิเศษสำหรับผู้สมัครเป็นสมาชิกรายปี จ่ายครั้งเดียว 25,000 บาท กรณีที่มาใช้บริการอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 3 เดือน

สวนสนุกกลางแจ้ง

มีกิจกรรมออกกำลังกายเฉพาะบุคคลหรือเป็นกลุ่ม ให้เลือกตามความสนใจและเหมาะกับเพศและวัย เช่น การวิ่งบนพื้นล้อเลื่อน กระโดดสูง โหนบาร์เดี่ยว บาร์คู่ กิจกรรมออกกำลังกายทุกประเภทมีอุปกรณ์ป้องกันอุบัติเหตุครบ เช่น เบาะยางสูบลมกันกระแทก การออกกำลังกายดังกล่าวช่วยกระตุ้นการทำงานของหัวใจ ช่วยระบบการหายใจ ช่วยให้ผ่อนคลาย มีราคาให้เลือกเริ่มต้นที่ 7,475 บาท

น่าสนใจทุกวิธีคลายเครียดเพราะไม่ทำให้ใครเดือดร้อน ยกเว้นค่าใช้จ่ายถ้าเครียดบ่อยเกินไป


อ้างอิง

  1. ประกอบด้วย พลเมืองของสิงคโปร์ (citizen) 3.5 ล้าน กลุ่มอยู่อาศัยถาวร (permanent residents) 0.5 ล้าน และกลุ่มอยู่อาศัยหรือทำงานในสิงคโปร์น้อยกว่า 183 วันในปีภาษี (tax year) 1.6 ล้านคน
  2. Population in Brief (2020). A joint publication by National Population and Talent Division, Strategy Group, Prime Minister’s Office Singapore Department of Statistics Ministry of Home Affairs Immigration & Checkpoints Authority Ministry of Manpower, September 2020.
  3. Subramaniam M et al (2019).Tracking the mental health of a nation: prevalence and correlates of mental disorders in the second Singapore mental health study. Epidemiology and Psychiatric Sciences, 29, E29. doi:10.1017/S2045796019000179.

 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th