The Prachakorn

ประสบการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ในสหราชอาณาจักร


ภูมิพงศ์ ศรีภา

31 มีนาคม 2564
716



ขณะที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ผมได้ตัดสินใจเลือกมาทำงานและใช้ชีวิตต่อที่สหราชอาณาจักร ด้วยเหตุผลความชอบส่วนตัวและความอยากมาเรียนรู้ระบบการแพทย์ปฐมภูมิ ระบบบริการสุขภาพแห่งชาติ (National Health Services: NHS) และเวชปฏิบัติทั่วไป (General Practitioner: GP) หรือที่เราอาจเรียกว่า “หมอครอบครัว” ในประเทศไทย

การเดินทางของผมผู้ซึ่งจบแพทยศาสตร์บัณฑิตและแพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ครอบครัวที่ประเทศไทยเพื่อมาเป็นแพทย์ในสหราชอาณาจักรนั้นไม่ได้โรยไปด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่หลายท่านอาจจินตนาการไว้ เนื่องจากผมได้ย้ายมายังเมืองเอดินเบอระ (Edinburgh) ประเทศสกอตแลนด์ในช่วงต้นเดือนมกราคม 2564 ซึ่งอยู่ในช่วงที่ประเทศนี้กำลังเผชิญหน้ากับการระบาดของโควิด-19 อย่างหนัก หลังจากผ่านช่วงวันหยุดเทศกาลคริสมาสต์ หรือพูดง่ายๆ คือ ทั้งสหราชอาณาจักรกำลังอยู่ในช่วงล็อกดาวน์ทั่วประเทศ

บรรยากาศที่เงียบเหงาในช่วงล็อกดาวน์ของ Princes Street เส้นทางสำหรับนักช้อปปิ้งกลางกรุงเอดินเบอระ

ผมได้มาทำงานเป็นแพทย์ปฏิบัติงานอยู่ในแผนกเวชศาสตร์ผู้สูงวัย ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงเอดินบะระ โดยหน้าที่หลักของผม คือการดูแลผู้ป่วยสูงอายุในแผนกผู้ป่วยใน ซึ่งรวมถึงการดูแลผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโควิด-19 ด้วย เนื่องจากในแผนกที่ผมดูแลนั้นไม่มีการทำหัตถการที่ก่อให้เกิดละอองฝอย จึงทำให้ผู้ป่วยในแผนกไม่ต้องถูกแยกอยู่ในห้องความดันลบ (Negative Pressure Room) แต่อย่างใด และบุคลากรเพียงต้องสวมใส่ชุดอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล หรือ (Personal Protective Equipment: PPE) ซึ่งได้แก่ หน้ากากอนามัย (surgical mask) ถุงมือ ชุดกันเปื้อน และกระจังป้องกันใบหน้า (face shield) เท่านั้น

การทำงานในระบบ NHS นั้น นอกจากบุคลากรจะต้องใส่ PPE ตามคำแนะนำแล้วนั้น บุคลากรที่มีการสัมผัสผู้ป่วยจะได้รับชุดตรวจ lateral flow test ซึ่งเป็นชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยตนเอง มาทดสอบที่บ้านสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยการตรวจนี้มีจุดประสงค์เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยต่อตนเอง และลดการแพร่เชื้อสู่เพื่อนร่วมงานและผู้ป่วย นอกจากนี้บุคลากรการแพทย์ในสหราชอาณาจักรยังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นกลุ่มแรกๆ เนื่องจากเป็นกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ถึงแม้ว่าผมเป็นคนต่างชาติที่มาทำงานที่นี่ ผมก็ได้รับวัคซีนโควิด-19 เข็มแรกในเดือนมกราคม 2564

ซึ่งต้องเน้นย้ำว่า วัคซีนที่ได้รับนั้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 100% เพียงแต่สามารถลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรงจากการติดเชื้อได้

แต่แล้วสิ่งที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น เมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2564 ผมตรวจพบเชื้อโควิด-19 จากการตรวจ lateral flow test โดยในเบื้องต้นนั้นผมมีอาการน้ำมูกเพียงอย่างเดียว ไม่มีไข้ และอาการทางระบบหายใจอื่นๆ หลังจากที่ผมตรวจพบเชื้อด้วยตนเองและบันทึกผลตรวจส่งไปยังเว็บไซต์ส่วนกลางของหน่วยงาน ระบบได้แจ้งให้ผมกักกันตนเองในที่พักอาศัย (home quarantine) เป็นเวลารวม 10 วัน นับจากวันที่ตรวจพบเชื้อหรือมีอาการ และทำการนัดหมายกับหน่วยตรวจโควิด-19 ในชุมชน เพื่อตรวจยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 โดยการเก็บสิ่งส่งตรวจทางเดินหายใจจากโพรงจมูกและลำคอด้วยวิธีมาตรฐาน

หลายๆ ท่านอาจเคยได้ยินมาแล้วว่า การติดโควิด-19 ในต่างประเทศนั้น ผู้ป่วยต้องอยู่ที่บ้าน ไม่มีโอกาสได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่เหมือนแนวทางการรักษาในประเทศไทยที่ผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ทุกรายในประเทศจะได้รับการรักษาในโรงพยาบาล จากประสบการณ์ของผม ภายใต้ระบบ NHS ของสหราชอาณาจักรนั้น หากผู้ป่วยมีอาการเล็กน้อย ไม่มีลักษณะอาการที่รุนแรงของระบบทางเดินหายใจ หรืออยู่ในภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยต้องกักกันตนเองในที่พักอาศัยและดูแลรักษาตนเองที่บ้าน โดยไม่ต้องพบแพทย์ แต่หากมีอาการหนักหรือภาวะฉุกเฉินนั้น ผู้ป่วยสามารถโทรเรียกรถพยาบาล หรือมาพบแพทย์ที่แผนกฉุกเฉินเพื่อเข้ารับการรักษาได้ทันที

โดยสำหรับผมนั้นถึงแม้ว่าจะเป็นบุคลากรทางการแพทย์เองภายใต้ระบบ NHS แต่เมื่อติดเชื้อโควิด-19 และมีอาการเล็กน้อย ผมต้องดูแลตนเองและกักกันตนเองอยู่ที่บ้านเหมือนกับผู้ป่วยคนอื่นๆ

ถึงแม้ว่าผมจะได้รับวัคซีนโควิด-19 แล้ว 1 เข็ม และอาจจะโชคดีด้วย ทำให้มีอาการทางกายไม่รุนแรงมากนัก แต่ผมก็ต้องยอมรับว่าผมมีความหวาดกลัวในใจอยู่ไม่น้อย โดยสิ่งที่ผมกังวลมากที่สุดหลังตรววจพบเชื้อนั้นคือ ความกังวลว่าครอบครัวที่ประเทศไทยจะเป็นห่วงเรา เนื่องจากภาพที่คนไทยคุ้นชินกับโควิด-19 เป็นเรื่องที่น่ากลัว ต้องได้รับการรักษาในห้องความดันลบแยกโรคในโรงพยาบาล มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตจำนวนมาก และผู้ที่ติดเชื้อที่หายดีนั้นอาจมีภาวะแทรกซ้อนต่อระบบทางเดินหายใจได้ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว กว่าที่ผมจะสามารถสื่อสารให้ครอบครัวและเพื่อนสนิทที่ประเทศไทยเข้าใจและคลายกังวลได้ ก็ใช้เวลาอยู่พอสมควร

ในระหว่างที่กักตัวเอง 10 วันอยู่ที่บ้านนั้น ผมมีอาการเจ็บป่วยเพียงเล็กน้อย และอาการดีขึ้นตามลำดับ ในช่วงที่เจ็บป่วยก็มีเพื่อนร่วมงาน อาจารย์แพทย์ เพื่อนๆ และครอบครัว คอยถามไถ่และแสดงความเป็นห่วงอยู่เสมอ ทำให้ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวแต่อย่างใด

ในส่วนของการช่วยเหลือของรัฐในระหว่างที่ผมกักกันตนเองในที่พักอาศัยนั้น เจ้าหน้าที่เทศบาลจะติดต่อมาเป็นระยะ เพื่อสอบถามถึงความช่วยเหลือที่เราต้องการ เช่น การซื้อของใช้จำเป็น อาหาร การใช้ชีวิต สภาวะจิตใจ และการดูแลสัตว์เลี้ยง เป็นต้น และหากมีอาการเล็กน้อย ไม่ต้องพบแพทย์ ประชาชนก็สามารถขอเอกสารรับรองการกักตัวผ่านเว็บไซต์ได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่หน่วยติดตามสอบสวนโรคได้ติดต่อมาเพื่อซักประวัติสำหรับการสอบสวนโรคอย่างละเอียด

บรรยากาศของปราสาท Edinburgh ในช่วงเวลาที่ไร้นักท่องเที่ยว

หลังจากกักกันตนเองอยู่ในที่พักอาศัยครบ 10 วัน และไม่มีอาการ ผมจึงได้กลับไปทำงานที่แผนกผู้สูงอายุตามปกติ ถึงจะยังมีความกลัวอยู่เล็กน้อยว่าจะติดโควิด-19 อีกไหม แต่ผมก็คิดว่าในเมื่อเป็นแพทย์แล้ว ก็ต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด...

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th