ความตาย (Death) และการตาย (Dying) เป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวของเราทุกคน ในทุกนาทีที่เราดำรงอยู่กับความ ‘เป็น’ ความ ‘ตาย’ ก็เป็นของคู่กัน บทสัมภาษณ์เรื่อง มรณกรรม(เลิก)อำพราง : สนทนาเรื่องความตายกับ ‘ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์’ ในวันที่โรคระบาดทำให้เราไม่อาจตายดี เปิดพื้นที่ให้เห็นว่า การตายสามารถพบเจอได้หลากหลายรูปแบบทั้งที่เป็นการตายด้วยการตัดสินใจด้วยสาเหตุส่วนบุคคล การตายอย่างกะทันหัน การตายด้วยความเจ็บป่วย การตายกลายเป็นประเด็นที่ทุกคนไม่สามารถผลักออกไปให้ห่างจากชีวิตประจำวันได้และต้องประสบพบเจอไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะกับประชากรรุ่นอายุดิจิทัลที่สามารถเข้าถึง ‘พื้นที่ออนไลน์ที่เชื่อมโยงกับความตาย’ โดยประชากรรุ่นอายุดิจิทัลสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มหลักคือ ชาวดิจิทัลรุ่นเก่า (Old-Digital Natives) ที่เป็นประชากรวัยทำงานที่เกิดระหว่าง พ.ศ. 2524 – 2543 หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็น ‘ประชากรเจเนอเรชันวาย’ และชาวดิจิทัลรุ่นใหม่ (New-Digital Natives) เป็นประชากรวัยเรียนเกิดตั้งแต่ พ.ศ. 2544 เป็นต้นไป หรือ ‘ประชากรเจเนอเรชันซี’ ซึ่งเป็นรุ่นประชากรที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้ง ประชากรรุ่นดิจิทัลยังมีอัตลักษณ์ คุณลักษณะ และทัศนคติที่คล้ายคลึงกัน เช่น การพร้อมเรียนรู้ การชอบแสวงหาข้อมูลในโลกดิจิทัล และมองเห็นถึงความยืดหยุ่นในทุกๆ สถานการณ์1 ดังนั้น ประชากรรุ่นอายุดิจิทัลจึงมีความน่าสนใจในความสัมพันธ์ของความใกล้ชิดระหว่างโลกดิจิทัลกับความตาย
นักประชากรศาสตร์มองความตายเป็นส่วนหนึ่งในการเปลี่ยนแปลงทางประชากรจากการมองภาพของ ‘ภาวะการตาย' (Mortality) เมื่อมี 1 คนตายประชากรก็จะลดลง 1 คน ซึ่งมีลักษณะของการทำให้การตายสามารถวัดได้ด้วยวิธีการต่างๆ2 รายงาน World Population Data Sheet (2022) พบข้อมูลเกี่ยวกับความตายเชิงตัวเลขที่สำคัญคือ อัตราการตายต่อประชากรพันคน (Deaths per 1,000 Population) และอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) โดยใน ค.ศ. 2022 ประชากรทั่วโลกมีจำนวนอยู่ที่ 7,963 ล้านคน อัตราการตายอยู่ที่ 8 คนต่อประชากรพันคน อายุคาดเฉลี่ยที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่ตั้งแต่เกิดภาพรวม 72 ปี ซึ่งผู้ชายมีอายุคาดเฉลี่ยน้อยกว่าผู้หญิง เมื่อดูข้อมูลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีประชากรรวมอยู่ที่ 4,730 ล้านคน อัตราการตายอยู่ที่ 8 คนต่อประชากรพันคน อายุคาดเฉลี่ยของชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในช่วงอายุ 73 ปี โดยที่ผู้หญิงมีอายุคาดเฉลี่ยมากกว่าผู้ชาย ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีอัตราการตายมากที่สุด 3 อันดับแรกคือ ประเทศอินโดนีเซีย เมียนมา และไทย นอกจากนี้ สิงคโปร์เป็นประเทศที่ประชากรมีอายุคาดเฉลี่ยยืนยาวที่สุดคือ 84 ปี
กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยสถิติการตายของคนไทยใน พ.ศ. 2564 10 อันดับแรกของสาเหตุการณ์ตาย ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โรคหัวใจขาดเลือด อุบัติเหตุจากรถยนต์ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งหลอดลมและปอด โรคของตับ ความดันโลหิตสูง และโรคของทางเดินหายใจส่วนล่างเรื้อรัง
ในอนาคตผู้เขียนมีความคาดหวังอยากให้เกิดการสำรวจในทำนองที่ว่า ‘คนไทยมีการรับรู้ความตายและเตรียมความพร้อมสู่โลกของความตายอย่างไร’ โดยหน่วยงานรัฐ หรือสถาบันการศึกษาที่ให้ความสนใจเพื่อที่จะได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
เมื่อสนทนากันเรื่องความตาย นักสังคมวิทยาอย่าง Emile Durkheim เป็นชื่อแรก ๆ ที่ผู้เรียนสังคมวิทยาคงมีความคุ้นเคยเป็นอย่างมาก ความคิดหลักของ Durkheim ที่ฉายภาพปรากฏการณ์การตายในลักษณะของปัจจัยทางสังคมที่มีส่วนสัมพันธ์กับความตายผ่านการศึกษาการฆ่าตัวตาย (Suicide) ด้วยการตระเวนเก็บข้อมูลบันทึกการตายที่มีการรวบรวมไว้แล้ว โดยการฆ่าตัวตายมีความสัมพันธ์ไปกับปัจจัยทางสังคม เช่น การนับถือศาสนา เพศ อาชีพ การแต่งงาน เป็นต้น การเปลี่ยนรูปของสังคมให้กลายเป็นสังคมสมัยใหม่ทำให้ผู้คนเผชิญหน้ากับความเป็นตัวของตัวเองอย่างโดดเดี่ยว พูดคุยกับคนอื่น ๆ อย่างผิวเผินก็เป็นส่วนสำคัญในการนำมาสู่การฆ่าตัวตายจากการไม่ผูกยึดกับสังคม (Egoistic Suicide) หรือการที่สังคมไทยเราได้เผชิญหน้ากับโรคระบาดและทำให้สังคมเสียระเบียบ ซึ่งส่งผลให้มีอัตราการฆ่าตัวตายจากการที่สังคมตกอยู่ในสภาวะวิกฤต (Anomic Suicide)3
ความตายเป็นสิ่งที่สังคมให้ความหมายและเปลี่ยนแปลงไปอย่างสม่ำเสมอ อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึง ‘ภาวะสมัยใหม่ที่ลื่นไหล’ (Liquid Modernity) จากการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับความตายในสังคม4 การทำความเข้าใจความตายของนักสังคมวิทยาในระยะถัดมาเป็นการนำความคิดทางสังคมวิทยามาพัฒนาและประยุกต์ให้เข้ากับบริบทที่ศึกษา สังคมวิทยาได้รับกระแสจากการหันสู่ (Turn) อย่างหลากหลาย ในที่นี้อยากชวนมองความตายผ่านการหันสู่ใน 2 กระแส กระแสแรก ‘Performance Turn’ ภายใต้อิทธิพลจากความคิด Erving Goffman ที่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของผัสสะ (Sensory Experiences) ของเราซึ่งเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ตรงหน้าด้วยการสัมผัสกับรูป รส กลิ่น เสียง และองค์ประกอบอื่นๆ5 ตัวอย่างอย่างง่ายที่สุดคือ การที่เรานำตัวเองเข้าไปอยู่ในงานศพ เราจะรู้ได้ว่างานนี้เป็นงานศพก็จากการที่เราเห็นสิ่งของต่าง ๆ อย่างโลงศพ รูปคนตาย และธูปเทียน ซึ่งทำงานร่วมกันประสบการณ์ของผัสสะที่เราเคยได้รับรู้มาถึงความโศกเศร้าเมื่ออยู่ในงาน ความนิ่งสงบ หรือเสียงพระสงฆ์กำลังสวดก็จะทำให้เรามีการแสดงออกท่าทางออกไปตามสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
‘Material Turn’ เป็นอีกกระแสที่การศึกษาสังคมวิทยาความตายได้ให้ความสนใจ โดยข้อเสนอดังกล่าวนี้ปรากฏอยู่ในส่วนหนึ่งของหนังสือ Sociology of Death – ความหมายของความตาย ของ ภาวิกา ศรีรัตนบัลล์6 ที่มีความเชื่อมโยงระหว่างกันของสิ่งที่เป็นมนุษย์กับสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ในเหตุการณ์ของการตาย เมื่อร่างกายของเราได้เข้าสู่สภาวะการตายจากความหมายทางการแพทย์แล้ว ร่างของคนตายได้กลายเป็นวัตถุหนึ่งที่มีความสัมพันธ์ไปกับวัตถุอื่น ๆ เช่น น้ำยารักษาสภาพศพ สิ่งของอุปกรณ์ที่อยู่ในงานศพ เตาเผาศพ ความรู้สึกของผู้ที่เป็นญาติมิตร เป็นต้น
ประชากรรุ่นอายุดิจิทัล เป็นรุ่นคนที่มีความใกล้ชิดกับความตายผ่านการพบเห็นความตายผ่านสื่อออนไลน์หลากหลายรูปแบบได้อย่างง่ายและรวดเร็ว การตายจึงไม่ได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องไกลตัวอีกต่อไป ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ การทำพื้นที่ออนไลน์ให้กลายเป็นพื้นที่ของการไว้อาลัยให้กับผู้ที่ล่วงลับ7 การถ่ายทอดสดพระราชพิธีบรมศพของควีนเอลิซาเบธที่ 2 และมีส่วนร่วมด้วยแฮชแท็ก #QueenElizabeth การร่วมไว้อาลัยให้กับศิลปินที่รัก ประชากรรุ่นดิจิทัลจึงเป็นรุ่นคนที่มีความทรงจำและพฤติกรรมของการไว้อาลัยร่วมกันให้กับความตายด้วยแฮชแท็กหรือข้อความไว้อาลัยต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะของการกล่าวถึงสิ่งที่ผู้ตายได้สร้างไว้ในเชิงคุณค่าคุณงามความดี หรือการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับผู้ตายด้วยความสนิทสนม เป็นที่รัก และผู้ตายเป็นผู้ที่มอบความสุขให้กับเราในช่วงเวลาที่ผ่านมา
“อยู่ให้คนเขารัก จากไปให้คนเขาอาลัย ล่วงลับไปให้คนเอ่ยอ้างถึง อยู่ให้คนรักคืออยู่อย่างผู้ให้ จากไปให้คนอาลัยคือก่อนจากสร้างสรรค์แต่สิ่งมีคุณค่า ล่วงลับไปให้คนระลึกถึงคือ เวลามีชีวิตทำแต่คุณงามความดีจนเป็นที่จดจำ”
หนึ่งในคำไว้อาลัยให้กับผู้ที่จากไป
ภาพงานไว้อาลัย
แหล่งที่มา: https://www.freepik.com/free-vector/funeral-ceremony_3455972.htm#query=death&position=5&from_view=search&track=sph
ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่ง ประชากรไทยดิจิทัลเริ่มมีความให้ความสนใจกับการออกแบบชีวิตหลังความตาย (Afterlife Design) เมื่อเราก้าวสู่ชีวิตหลังความตาย เราจะไม่สามารถกำหนดสิ่งที่เราอยากให้เกิดขึ้นได้ ‘ณ ตอนนั้น’ การออกแบบ ‘ณ ตอนนี้’ จึงเป็นหนทางของการออกแบบชีวิตหลังความตายได้ดีที่สุด
‘ถ้าฉันตาย ฉันอยากจะ…จัดงานศพเล็ก ๆ’
‘ถ้าฉันตาย ฉันอยากจะ…แต่งตัวคลีน ๆ ใส่เสื้อสีแดง’
‘ถ้าฉันตาย ฉันขอ…กินข้าวหมูกรอบหน่อยนะ’
ชีวิตหลังความตายยังมีความเกี่ยวข้องกับความเป็นหลาย ๆ อย่าง เช่น การบริจาคร่างกายของผู้ตายเพื่อส่งต่ออวัยวะให้กับผู้ที่รอคอยการเปลี่ยนอวัยวะ การแสดงเจตนาไม่ขอรับการรักษาพยาบาลในวาระสุดท้ายของชีวิต (Living Will) เป็นต้น
ประชากรรุ่นอายุดิจิทัลก็เริ่มที่จะหันมาตั้งตัวกับความตายกันมากขึ้นผ่านการแสดงความต้องการในการออกแบบความตายผ่านพื้นที่ออนไลน์ อย่างการออกแบบเสื้อผ้าที่อยากสวมใส่เมื่อตาย #burymeinthis การวางแผนข้อมูลดิจิทัลของตนเองเมื่อเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิตให้มีความปลอดภัย
‘Remembering’ หรือ ‘Memorialized’ เป็นการแสดงสถานะของบุคคลในโลกออนไลน์ สามารถพบเห็นได้ในแพลตฟอร์มต่าง ๆ อย่าง Instagram Facebook ภาวะการเกิดและการตายจึงเป็นสิ่งที่สามารถถูกแสดงได้ด้วยการสร้างตัวตนของประชากรดิจิทัลด้วยการเคลื่อนไหว (Active) จากการใช้งาน และการไม่เคลื่อนไหว (Inactive) เมื่อผู้ใช้งานเข้าสู่วาระสุดท้ายของชีวิต
บัญชีที่เป็นความทรงจำใน Facebook
“บัญชีที่เก็บไว้เป็นอนุสรณ์ เป็นพื้นที่สำหรับเพื่อนและสมาชิกในครอบครัวมารวมตัวกันเพื่อแบ่งปันความทรงจำหลังจากบุคคลที่เป็นเจ้าของบัญชีได้เสียชีวิตลง การเก็บบัญชีเป็นอนุสรณ์ยังช่วยรักษาบัญชีให้ปลอดภัย โดยป้องกันไม่ให้ผู้อื่นล็อกอินเข้าสู่บัญชีนั้น”
การทำให้เป็นความทรงจำใน Instagram
“สมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดซึ่งได้รับการยืนยันแล้วสามารถส่งคำขอให้ลบบัญชีของบุคคลอันเป็นที่รักออกจาก Instagram ได้ เมื่อคุณส่งคำขอให้ลบบัญชี เราต้องการหลักฐานที่แสดงว่าคุณเป็นสมาชิกครอบครัวที่ใกล้ชิดของผู้ถึงแก่กรรม เช่น สูติบัตร มรณบัตร เป็นต้น”
ตัวตนและข้อมูลของประชากรรุ่นอายุดิจิทัลจึงเป็นมรดก หรือทรัพย์สินทางดิจิทัลที่มีคุณค่าและความหมายทั้งในทางสังคม เศรษฐกิจ และความทรงจำที่ดี ซึ่งในทางกฎหมายสังคมไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงความหมายของความตาย
เอกสารอ้างอิง
ภาพปก freepik.com (premium license)
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
รศรินทร์ เกรย์
วรชัย ทองไทย
พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
อารี จำปากลาย
กรกนก พงษ์ประดิษฐ์
รีนา ต๊ะดี
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
สุริยาพร จันทร์เจริญ
พิชฌ์นิพัทธ์ วิชัยโน
สุภรต์ จรัสสิทธิ์