The Prachakorn

ผู้สูงอายุกับราวจับ


ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

04 กุมภาพันธ์ 2565
1,830



ราวจับเป็นวัสดุที่ทำเป็นแท่งยาว อาจทำจากไม้ โลหะ หรือวัสดุอื่น นำมายึดติดกับผนังหรือส่วนประกอบอื่นของอาคาร ใช้มือกำหรือเกาะเพื่อพยุงตัวของผู้ใช้ให้ทรงตัวได้อย่างมั่นคงและสมดุล

เมื่อเริ่มต้นเขียนบทความนี้ ผู้เขียนใช้คำราวเกาะ เป็นชื่อเรื่องแต่เมื่อพยายามหาความหมายจากคำภาษาอังกฤษ (handrail) ก็พบความหมายที่ควรใช้ด้วยภาษาไทยว่า ราวจับ มากกว่า ราวเกาะ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนไม่ใช่นักภาษาศาสตร์ หากคำที่ใช้ไม่ถูกต้อง ผู้เขียนก็ขออภัยและน้อมรับคำชี้แจงจากผู้รู้ทุกท่าน

ปัจจุบัน ในการออกแบบไม่ว่าจะเป็นอาคารสถานที่ สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ รวมถึงสิ่งแวดล้อม ได้มีการนำหลักการของ universal design (UD หรือ ยูดี) หรือ หลักการที่ให้คนทุกคนในสังคมสามารถใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน มาเป็นหลักในการออกแบบ มากยิ่งขึ้น มีการเรียกขานการออกแบบตามหลักการเช่นนี้ได้หลายแบบสุดแท้แต่ใครจะเรียก เช่น การออกแบบเพื่อมวลชน การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล การออกแบบเพื่อทุกคน อารยสถาปัตย์ (เป็นชื่อไทยๆ ที่ไพเราะ) สำหรับเป้าหมายหนึ่งของยูดีนั้น คงหนีไม่พ้นการออกแบบ จัดหา จัดทำปรับปรุงสิ่งแวดล้อมเพื่อการอยู่อาศัยให้กับผู้สูงอายุนั่นเอง และราวจับก็เป็นอุปกรณ์จำเป็นชนิดหนึ่งในอาคาร บ้านเรือน ที่ถูกกล่าวถึงเสมอในยูดี

ผู้สูงอายุกับราวจับ เป็นของคู่กัน เราย่อมทราบกันเป็นอย่างดีว่า เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น ความเสื่อมถอยของร่างกายตามวัยย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ไม่ช้าก็เร็ว เช่น สายตาพร่ามัว ทรงตัวและเคลื่อนไหวไม่มั่นคง กำลังวังชาถดถอย จากความเสื่อมถอยของร่างกายนี่เอง เราจึงพบว่าผู้สูงอายุมักประสบกับอุบัติเหตุพลัดตกหกล้มได้บ่อยๆ เกิดการบาดเจ็บและบางรายอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต องค์การอนามัยโลกรายงานว่า การพลัดตกหกล้มเป็นสาเหตุการตายอันดับสองของสาเหตุการตายจากอุบัติเหตุทั้งหมดทั่วโลก โดยแต่ละปีทั่วโลกจะมีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุนี้ราวเจ็ดแสนคน และผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตเป็นจำนวนสูงสุด1 สำหรับในประเทศไทยนั้น จากการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พ.ศ. 2557 พบความชุกของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ถึงร้อยละ 172 ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอกบ้าน การพลัดตกหกล้มภายในบ้านมักพบบริเวณห้องน้ำ บันได การปรับสภาพที่อยู่อาศัยเก่าจากที่ไม่เคยมี ให้มีราวจับในบริเวณที่เหมาะสม หรือการออกแบบติดตั้งราวจับไว้ในแปลนบ้านใหม่ เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างหนึ่งในหลายๆ แนวทาง ที่แนะนำสำหรับครัวเรือนที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ เพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุ และยังทำให้ผู้สูงอายุสามารถช่วยเหลือตนเองเพื่อใช้ชีวิตประจำวันได้มากที่สุด ลดภาวะพึ่งพิงผู้อื่นให้เกิดขึ้นสั้นที่สุด และที่สำคัญคือ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม การออกแบบที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุ (เช่นการมีราวจับ) จำเป็นต้องรู้สภาพร่างกายเบื้องต้น และปัญหาสภาพร่างกายโดยละเอียดของผู้สูงอายุก่อน ซึ่งอาจจำเป็นที่ต้องอาศัยผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญทางการแพทย์และสาธารณสุขมาทำการประเมินสภาพ

ควรมีราวจับที่ไหนบ้าง ราวจับเป็นสิ่งจำเป็นที่สามารถติดตั้งบนผนังได้ทุกๆ ที่ในบ้าน ขึ้นอยู่กับการใช้งานของผู้สูงอายุว่าบริเวณไหนจำเป็นต้องมี โดยทั่วไป พบว่า บริเวณที่เหมาะสำหรับการติดตั้งราวจับ คือ 

  • ในห้องน้ำ ตรงบริเวณที่อาบน้ำ อ่างอาบน้ำ (ถ้ามี) อ่างล้างหน้า และบริเวณโถส้วม    
  • ในห้องนอน ตรงบริเวณเตียงเพื่อใช้ดึงตัวเองขึ้นจากเตียงนอน หรือช่วยให้รู้สึกมั่นคงเวลาล้มตัวลงนอน (ไม่ใช่การทิ้งตัว ลงนอน)
  • ในห้องครัว บริเวณใกล้ๆ ทางเข้า-ออก บริเวณเตรียมหรือ ปรุงอาหาร
  • ที่ประตูด้านนอก
  • บริเวณบันได หรือราวบันไดนั่นเอง แต่ต้องทำเป็นราว ทั้งซ้ายและขวา ไม่ใช่ราวบันไดข้างเดียว ซึ่งสามารถใช้จับได้ ทั้งเวลาขึ้นและลงบันได

รูป: ราวจับบริเวณต่างๆ ในห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ
ที่มา: https://dol.thaihealth.or.th/Media/Index/8c526464-a9ab-e711-80e3- 00155d65ec2e สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2565

รูป: ราวจับบริเวณบันไดที่ติดตั้งเพิ่มจากราวบันไดปกติ
ที่มา: https://www.scgbuildingmaterials.com/th/ideas/design-ideas/How-to-Design-House-for-Elderly-People สืบค้นเมื่อ 24 มกราคม 2565

ลักษณะจำเป็นที่ต้องมีเมื่อติดตั้งราวจับ การติดตั้งราวจับใครๆ อาจคิดว่าเป็นเรื่องง่าย เพียงหาซื้อของ แล้วจ้างช่าง ก็สามารถติดตั้งได้แล้ว (หรือติดตั้งเอง) แต่ตามความเห็นของผู้เขียนนั้นคิดว่าถูกครึ่งหนึ่งผิดครึ่งหนึ่ง เพราะการที่จะมีราวจับที่ใช้งานได้สมบูรณ์แบบ ไม่ใช่เพียงเดินเข้าไปในร้านขายวัสดุอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านแล้วก็เลือกซื้อมา แต่ผู้ซื้อต้องมีความรู้ความเข้าใจในราวจับและการติดตั้งด้วยเช่นกัน (แม้ว่าจะจ้างช่างมาดำเนินการติดตั้ง ไม่ได้ทำเอง) ความรู้ประการแรก คือ ราวจับต้องทำมาจากวัสดุที่ทนทานมีขนาดพอเหมาะ ไม่ว่าราวจับจะทำด้วยไม้ โลหะ หรือวัสดุอย่างอื่น ต้องมีขนาดที่พอเหมาะต่อการใช้มือกำและต้องทนทาน เพราะเมื่อติดตั้งแล้ว ผู้สูงอายุสามารถใช้ได้อย่างมั่นใจว่าจะไม่แตกหัก บิดงอ ประการที่สอง คือ ราวจับเมื่อติดตั้งแล้วต้องรับน้ำหนักของผู้ใช้ได้ เพราะการมีราวจับก็เพื่อให้ผู้สูงอายุเกิดความมั่นคงในการทรงตัว ผู้สูงอายุหลายคน มักใช้ราวจับเป็นเครื่องมือในการขึ้น-ลงบันได ราวจับจึงต้องแบกรับน้ำหนักตัวของผู้สูงอายุได้เต็มที่ ทั้งการกระจายน้ำหนักไปทั่วทั้งตัวราวจับและทนต่อน้ำหนักที่กดลงไปยังจุดศูนย์กลางของราวจับที่เดียวได้ ประการที่สาม คือ ต้องติดตั้งราวจับในระดับความสูงที่ถูกต้อง มีคำแนะนำว่า โดยทั่วไปนั้น การติดตั้งราวจับภายในบ้านเพื่อใช้ยึดจับเวลาเดิน จะให้อยู่สูงกว่าระดับพื้น 0.9 เมตร แต่ทั้งนี้ยังมีราวจับแบบสั้นๆ เพื่อใช้ยึดจับเพื่อการเฉพาะ เช่น เวลาเปลี่ยนท่าจากยืนเป็นนั่ง การติดตั้งก็ต้องอยู่ในจุดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับผู้สูงอายุนั้นๆ ส่วนราวจับที่มีไว้กันตกด้วย เช่น ราวระเบียง มักติดตั้งให้สูงประมาณ 1.1 เมตรจากระดับพื้น และประการสุดท้าย คือ ต้องติดตั้งเป็น หมายความว่า ผู้ติดตั้งต้องรู้ว่าราวจับชิ้นที่ตนกำลังจะติดตั้งนั้น ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ต้องอยู่ตรงตำแหน่งไหนควรติดตั้งอย่างไร และต้องติดตั้งให้อย่างมั่นคงแน่นหนา เวลายึดจับแล้วไม่เกิดอาการโยกคลอนจนผู้สูงอายุไม่กล้าใช้ 

ทั้งหมดนี้เป็นสาระสั้นๆ เกี่ยวกับผู้สูงอายุกับราวจับ เพื่อให้ทุกคนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องติดตั้งในที่อยู่อาศัยที่มีผู้สูงอายุอาศัยอยู่ และถึงแม้เราจะยังไม่ใช่ผู้สูงอายุในวันนี้ เราก็อาจจัดเตรียมพร้อมไว้ในบ้านของเราล่วงหน้าได้เช่นกัน ไม่ผิดกติกาอะไร


  1. World Health Organization. (26 April 2021). Falls. Retrieved January 24, 2022, from https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/falls
  2. วิชัย เอกพลากร (บรรณาธิการ). (2559). รายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทย โดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 5 พ.ศ. 2557. นนทบุรี: สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข.


CONTRIBUTOR

Related Posts
Long Stay สุขใจในต่างถิ่น

ณัฐณิชา ลอยฟ้า

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Highlight ศตวรรษิกชนปี 2024

ศุทธิดา ชวนวัน

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ผู้สูงอายุกับราวจับ

ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

กลับบ้าน...ไม่ถึงบ้าน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th