The Prachakorn

ส้วม


วรชัย ทองไทย

27 ธันวาคม 2566
1,375



สหประชาชาติถือว่า น้ำดื่มที่สะอาดและส้วมเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชน จึงได้บรรจุการจัดหาสุขาภิบาลและน้ำสะอาดให้ทั่วถึงไว้ใน "เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)” ข้อ 6 (SDGs 6)

SDGs เป็นแผนพัฒนาโลก 15 ปี ฉบับที่ 2 (2016-2030) ต่อจากแผนพัฒนาโลก 15 ปี ฉบับที่ 1 (2000-2015) คือ “เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals: MDGs)” โดย SDGs มีทั้งหมด 17 ข้อ ที่ครอบคลุมมิติ 5 ด้าน ได้แก่ คน ความมั่งคั่ง โลก สันติภาพ และความเป็นหุ้นส่วน

มนุษย์เราจะรู้จักใช้ส้วมมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว (ราว 3000 ปี ก่อนคริสตกาล) ดังหลักฐานการใช้ส้วมในหลายวัฒนธรรมโบราณ เช่น เมโสไปเตเมีย อียิปต์ กรีก โรมัน อินเดีย จีน อย่างไรก็ตามในปี 2017 ก็ยังมีประชากรโลกถึง 700 ล้านคน ที่ยังไม่มีส้วมใช้ โดยประเทศที่จำนวนประชากรมากกว่า 100 ล้านคน ยังไม่มีส้วมใช้คือ จีน อินเดีย อินโดนิเซีย ปากีสถาน ไนจีเรีย อิธิโอเปีย และฟิลิปปินส์ (แต่ประเทศที่ประชากรกว่า 1 ใน 4 ยังไม่มีส้วมใช้ คือ เอริเทรีย ชาด ไนเจอร์ ซูดานใต้ โซมาเลีย และซูดาน)

เมื่อกล่าวถึงคำว่า ส้วม (toilet) เราจะหมายถึงสุขภัณฑ์ที่ใช้เพื่อถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ส้วมมีหลากหลายและแบ่งได้หลายอย่าง เช่น แบ่งตามการใช้น้ำและไม่ใช้น้ำ แบ่งตามกลไก (ชักโครกและราดน้ำ) แบ่งตามท่านั่ง (นั่งยองๆ และนั่งราบหรือนั่งห้อยขา) แบ่งตามรูปร่าง (โถสูงและแผ่นราบ) แบ่งตามการกำจัดของเสีย (ถังบำบัดน้ำเสียและระบบบำบัดน้ำเสีย)

การใช้ส้วมชนิดใดย่อมขึ้นอยู่กับวัฒนธรรม ประเพณี และสิ่งแวดล้อม เช่น สังคมที่นั่งบนพื้นและไม่ใช้เก้าอี้ (เอเซียและอาฟริกา) จะใช้ส้วมแบบนั่งยองๆ ส่วนสังคมตะวันตกจะใช้ส้วมแบบนั่งห้อยขา ในชนบทที่ขาดแคลนน้ำ จะใช้ส้วมที่ไม่ใช้น้ำ ซึ่งจะมีกลิ่น ทำให้ต้องตั้งอยู่นอกบ้าน แต่ในเมืองส้วมจะอยู่ในบ้านได้ เพราะมีระบบประปาอันทำให้สามารถมีส้วมใช้น้ำได้

ส้วมโถสูงจำเป็นต้องใช้ระบบชักโครก เนื่องจากคอห่าน (ท่อกักน้ำรูปตัวยู (U)) ที่สูงและยาว จึงต้องใช้แรงดันของน้ำช่วยดันสิ่งที่ถ่ายให้ออกจากโถส้วม รวมทั้งต้องมีถังเก็บน้ำหรือระบบประปาด้วย ส่วนส้วมแผ่นราบที่มีคอห่านเตี้ยและสั้น ก็ไม่จำเป็นต้องใช้แรงดันน้ำช่วย เพียงแค่ราดน้ำ ก็เพียงพอที่จะดันสิ่งที่ถ่ายให้ออกจากโถส้วมได้แล้ว

สำหรับคำว่า "ส้วม" ในภาษาไทยนั้น พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2554 ได้ให้ความหมายว่าเป็น "สถานที่ที่สร้างไว้สำหรับถ่ายอุจจาระปัสสาวะโดยเฉพาะ มักทำเป็นห้อง" และลูกคำของ "ส้วม" คือ  "ส้วมชักโครก ส้วมซึม ส้วมหลุม"

ส้วมชักโครก หมายถึง "ส้วมแบบส้วมซึมชนิดหนึ่ง ต่างกันตรงที่เมื่อถ่ายแล้วใช้กดหรือชักให้น้ำที่อยู่ในถังด้านหลังหรือข้างบนหัวส้วมไหลชำระสิ่งที่ถ่ายแทนการราดน้ำ" ส่วนส้วมซึม หมายถึง "ส้วมที่ตั้งถังซีเมนต์ซ้อนกันลงไปในดินหลาย ๆ ถัง มีหัวส้วมสำหรับนั่งถ่ายอยู่เหนือถังบนสุด เมื่อถ่ายแล้วต้องราดน้ำเพื่อชำระสิ่งที่ถ่ายให้ลงสู่ถังส้วมแล้วซึมหายไปในดิน" สำหรับส้วมหลุม หมายถึง "ส้วมที่ขุดหลุมแล้วใช้ไม้กระดานหรือไม้ท่อนใหญ่ทอดพาดปากหลุมสำหรับนั่งถ่าย"

จะเห็นได้ว่า ส้วมในภาษาไทยจะหมายถึงสถานที่ ไม่ใช่ภาชนะ แต่ลูกคำของส้วม (ส้วมชักโครก ส้วมซึม และส้วมหลุม) จะหมายถึงชนิดของส้วม ที่รวมการใช้หรือไม่ใช้น้ำ กลไกการใช้น้ำ และระบบกำจัดของเสียเข้าไว้ทั้งหมด

แต่คำว่า “ส้วม” ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไป จะตรงกับภาษาอังกฤษคือ toilet ที่หมายถึงหัวส้วมหรือโถส้วม แต่ถ้าเป็นสถานที่เราก็จะเรียกว่า ห้องส้วมหรือห้องสุขา (WC: water closet หรือ restroom หรือ toilet room) แทน

ส้วมที่เราคุ้นเคยกันอยู่ในปัจจุบันคือ ส้วมซึม อันเป็นโถส้วมแผ่นราบนั่งยองๆ ที่ต้องใช้น้ำราด (ดูรูป 1) กับส้วมชักโครก อันเป็นส้วมโถสูง (นั่งราบ) ที่ไม่ต้องใช้น้ำราด แต่ใช้การกดน้ำแทน (ดูรูป 2) ส่วนส้วมหลุมนั้น ไม่ค่อยจะมีใครรู้จักกันแล้ว

ส้วมซึมเป็นส้วมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบ้านเรือนไทย และในปี 1976 ส่วนใหญ่ของประชากรโลกก็ใช้ส้วมซึมด้วย แต่ความนิยมใช้ส้วมซึมมีแนวโน้มลดลง โดยเปลี่ยนไปใช้ส้วมชักโครกที่ถือว่าทันสมัยกว่าแทน

การนั่งยองๆ จะทำให้เข่าทำมุม 35องศากับพื้น ในท่านี้ลำไส้ตรงไม่ถูกกดทับ มีผลให้การขับถ่ายทำได้เร็วโดยไม่ต้องเบ่ง ท่านั่งยองๆ จึงเป็นท่าที่เหมาะสมที่สุดในการขับถ่ายของมนุษย์ ดังจะเห็นได้จากพระธรรมวินัยที่กำหนดให้พระต้องขับถ่ายในส้วม เรียกว่า ถาน เวจ เวจกุฎี หรือวัจกุฎี อันมีโถส้วมแบบฐานราบ  

โถส้วมชักโครกต้องใช้ท่านั่งราบ ในท่านี้เข่าจะตั้งฉากกับพื้น ทำให้ลำไส้ตรงถูกกดทับ ขับถ่ายไม่สะดวก และต้องใช้เวลานาน ส่งผลให้เกิดท้องผูก ไส้ติ่งอักเสบ และริดสีดวง แต่ถ้าต้องใช้ส้วมชักโครก วิธีแก้ไขคือ อย่านั่งตัวตรง ให้นั่งโน้มตัวมาข้างหน้า หรือนั่งวางเท้าบนโต๊ะเตี้ย เพื่อให้เข่าทำมุม 35 องศากับพื้น (ดังรูป 3)

รูป 3 ท่านั่งส้วมที่ถูกต้อง
ที่มา: Freepik

อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขก็มีแผนที่จะให้ครัวเรือนร้อยละ 90 เปลี่ยนไปใช้ส้วมชักโครกแทน ด้วยเหตุผลที่สังคมไทยเริ่มเป็นสังคมสูงวัย ส้วมชักโครกจึงเหมาะสมกว่าสำหรับผู้สูงอายุ

โถส้วมทำจากวัสดุหลากหลาย เช่น ไม้ โลหะ เครื่องเคลือบ ซีเมนต์ โดยโถส้วมที่ทำด้วยเครื่องเคลือบนั้น เมื่อใช้เป็นเวลานานก็อาจแตกหักในขณะใช้งานได้ อันจะเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ ดังรายงานวิจัยเรื่อง "ส้วมพังที่เมืองกลาสโกว์” อันมีผลให้นักวิจัย 3 คน (Jonathan Wyatt, Gordon McNaughton และ William Tullet) จากสหราชอาณาจักร ได้รับรางวัลอีกโนเบล สาขาสาธารณสุข ในปี 2000

การใช้โถส้วมผิดประเภทก็อาจมีผลให้โถส้วมพัง ก่อนเวลาอันสมควรได้เช่นกัน จึงได้มีการประดิษฐ์ส้วมพันทาง (hybrid toilet) ขึ้น โดยโถส้วมจะถูกออกแบบให้ใช้ได้ทั้งนั่งราบและนั่งยองๆ (ดังรูป 4)

รูป 4 ส้วมพันทาง
ที่มา: https://wudumate.com/wp-content/uploads/2021/02/hybrid-toilet2.jpg
สืบค้นเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2023

โถส้วมชักโครกมีการพัฒนาไปมาก ตั้งแต่ออกแบบให้ประหยัดน้ำ มีที่นั่งอุ่นโดยอัตโนมัติ มีอุปกรณ์ชำระล้างอัตโนมัติ ไปจนถึงโถส้วมอัจฉริยะ (smart toilet) ที่ใช้ปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อใช้เฝ้าระวังสุขภาพอนามัย

โถส้วมอัจฉริยะล่าสุดคือ โถส้วมที่ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things: IoT) ที่พัฒนามาจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ด้วยการติดตั้งเทคโนโลยีที่วิเคราะห์ปัสสาวะและอุจจาระอัตโนมัติตามเวลาจริง (real time) เช่น แถบวิเคราะห์ปัสสาวะ ระบบถ่ายภาพคอมพิวเตอร์เพื่อวิเคราะห์อุจจาระ กล้องกับอุปกรณ์รับรู้ลายก้น (anal-print sensor) เพื่อระบุตัวคนไข้ อันส่งผลให้ผู้ประดิษฐ์ (Seung-min Park) ได้รับรางวัลอีกโนเบล สาขาสาธารณสุขปีล่าสุด (2023) ไปตามระเบียบ  

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับผลงานที่ทำให้ “หัวเราะ” แล้วจึงได้ “คิด”


หมายเหตุ: ขยายความจาก “ส้วม” ในประชากรและการพัฒนา 44(2) ธันวาคม 2566 - มกราคม 2567: 8

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ผู้สูงอายุกับราวจับ

ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

พิธีกร

วรชัย ทองไทย

ส้วม

วรชัย ทองไทย

ท้องผูก

วรชัย ทองไทย

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th