The Prachakorn

เวลา


วรชัย ทองไทย

09 กุมภาพันธ์ 2564
1,871



เวลาคือความคืบหน้าที่ไม่มีวันจบสิ้นของการดํารงอยู่และเหตุการณ์ เวลาเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากอดีต สู่ปัจจุบัน และอนาคต โดยไม่มีวันที่จะหวนกลับได้ ในความรู้สึกของคนเรานั้น เวลาเป็นชั่วขณะความยาวนานที่มีอยู่หรือเป็นอยู่ เช่น ครู่ คราว ชั่วโมง วัน เดือน ปี

หน่วยของเวลาได้มาจากเหตุการณ์และการเคลื่อนที่ซึ่งเกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น การเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ข้างขึ้นและข้างแรมของดวงจันทร์ การแกว่งตัวของลูกตุ้ม และการเต้นของหัวใจ

ตัวอย่างของหน่วยที่วัดจากเหตุการณ์คือ หนึ่งวันเป็นช่วงเวลาที่โลกหมุนรอบตัวเองได้หนึ่งรอบ หนึ่งปีเป็นระยะเวลาเมื่อโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบ และฤดูเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตามลำดับในแต่ละปี ส่วนหน่วยที่วัดจากการเคลื่อนที่คือ ชั่วโมง นาที และวินาที ซึ่งวัดด้วยนาฬิกาลูกตุ้ม

หน่วยของเวลา

  • 1 สหัสวรรษ (millennium) = 10 ศตวรรษ = 100 ทศวรรษ = 1,000 ปี
  • 1 ศตวรรษ (century) = 10 ทศวรรษ = 100 ปี
  • 1 ทศวรรษ  (decade) = 10 ปี
  • 1 ปี = 12 เดือน = 52 สัปดาห์ = 365 วัน (366 วัน ในปีอธิกสุรทิน – leap year)
  • 1 ไตรมาส = 3 เดือน
  • 1 เดือน = 4 สัปดาห์ = 2 ปักษ์ = 28 ถึง 31 วัน
  • 1 ปักษ์ (fortnight) = 2 สัปดาห์ = 14 วัน
  • 1 สัปดาห์ = 7 วัน
  • 1 วัน = 24 ชั่วโมง
  • 1 ชั่วโมง = 60 นาที
  • 1 นาที = 60 วินาที
  • 1 วินาที เป็นหน่วยมาตรฐานของระบบหน่วยวัดสากล หรือระบบเอสไอ (International System     of Units)
  • 1 มิลิวินาที (millisecond) = 1/1,000 วินาที
  • 1 ไมโครวินาที (microsecond) = 1/1,000,000 วินาที
  • 1 นาโนวินาที (nanosecond) = 1/1,000,000,000 วินาที

สำหรับวิธีวัดเวลา เราใช้เครื่องมือ 2 ชนิดคือ ปฏิทินและนาฬิกา โดยที่ปฏิทินเป็นเครื่องมือทางคณิตศาสตร์ที่ใช้สำหรับการจัดการช่วงเวลาที่ยาวกว่าหนึ่งวัน และนาฬิกาเป็นเครื่องกลทางฟิสิกส์ในการนับเวลาที่น้อยกว่าหนึ่งวัน โดยเราจะใช้นาฬิกาเพื่อดูเวลาและใช้ปฏิทินบริหารจัดการเวลา

ปฏิทินสมัยแรกเป็นปฏิทินทางจันทรคติ โดยในแต่ละปีจะมี 12 หรือ 13 เดือน (354 หรือ 384 วัน) ต่อมาจึงเกิดปฏิทินทางสุริยคติในสมัยโรมัน เรียกว่า ปฏิทินจูเลียน (Julian calendar) ซึ่งคลาดเคลื่อนราว 11 นาทีต่อปี ในปี 1582 สมเด็จพระสันตะปาปาเกรโกรีที่ 13ได้สั่งแก้ไขให้ถูกต้องตรงตามฤดูกาลจริง โดยลดจำนวนวันต่อปีลงจาก 365.25 วัน เป็น 365.2425วัน อันมีผลให้ปฏิทินถูกเรียกว่า ปฏิทินเกรกอเรียน (Gregorian calendar) ซึ่งยังคงใช้อยู่ถึงปัจจุบัน

ส่วนนาฬิกาในสมัยแรกคือ นาฬิกาแดดที่ใช้เงาของแสงแดด วัดเวลาในตอนกลางวัน และนาฬิกาน้ำที่ใช้การไหลของน้ำ เพื่อบอกเวลาในตอนกลางคืน ต่อมาจึงมีนาฬิกาที่ใช้เพื่อการเดินเรือคือ นาฬิกาทราย (hourglass) ที่ใช้การไหลของทรายวัดเวลา (ดังรูป)

รูปนาฬิกาทราย
ที่มา: https://commons.wikimedia.org/w/index.php?curid=2949887 สืบค้นเมื่อ 6 มกราคม 2564

เวลาเป็นธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ เด็กเล็กจะเริ่มรู้เวลาเมื่ออายุ 2-3 ขวบ โดยรู้จักคำว่า “ปัจจุบัน” และ “ไม่ใช่ปัจจุบัน”  เมื่ออายุได้ 5-6 ขวบ ก็จะรู้จักความหมายของอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เมื่อโตขึ้นอายุราว 7-10 ขวบ ก็จะรู้จักใช้นาฬิกาและปฏิทิน

เนื่องจากเวลามีจำนวนคงที่ในแต่ละวัน และมีจำกัดในแต่ละช่วงชีวิต ทำให้เวลามีความสำคัญในทางสังคมและมีค่าในทางเศรษฐศาสตร์ ส่งผลให้มีการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเวลาในแง่มุมต่าง ๆ เช่น การบริหารเวลา (time management) การใช้เวลา (time-use) วินัยของเวลา (time discipline) การรับรู้เวลา (time perception) ฯลฯ

สำหรับรางวัลอีกโนเบลที่ได้มอบให้กับนักวิจัยที่ศึกษาเรื่องเวลาคือ

ปี 2544 สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยชาวอเมริกัน 2 คน (Joel Slemrod และ Wojciech Kopczuk) ที่ได้ผลสรุปว่า คนเราจะหาหนทางที่จะเลื่อนเวลาตายออกไป เพื่อให้เสียภาษีมรดกน้อยที่สุด

ปี 2548 สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยชาวอเมริกัน (Gauri Nanda) ที่ได้คิดประดิษฐ์นาฬิกาปลุก โดยเมื่อถึงเวลาปลุก จะส่งเสียงดังพร้อมกับวิ่งหนีไปซ่อน ทำให้คนที่ตั้งเวลาให้ปลุก ไม่มีโอกาสได้กดเพื่อให้เสียงปลุกเงียบลง ต้องลุกขึ้นจากเตียงไปตามหา เพื่อกดให้หยุดส่งเสียง และกว่าจะหาพบก็ตื่นเต็มที่แล้ว ทำให้เวลานอนน้อยลงและเวลาตื่นมากขึ้น  อันจะมีผลให้ชั่วโมงการผลิตเพิ่มขึ้นในทางทฤษฎี


รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ขบขันแต่ชวนให้คิด

หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “เวลา” ใน ประชากรและการพัฒนา 41(3) กุมภาพันธ์-มีนาคม 2564: 8

ภาพประกอบโดย nile จาก Pixabay



CONTRIBUTOR

Related Posts
ติดรถ – รถติด ปลอดรถ – ลดพิษ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

เครื่องบินกระดาษ

วรชัย ทองไทย

พัฒนาชาติเพื่อการมีลูก

ภูเบศร์ สมุทรจักร

ใครจะเป็นคนดูแลเรา

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คนไทยกับกิจกรรมทางกาย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

เวลา

วรชัย ทองไทย

นอนกี่ชั่วโมงคือเพียงพอ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th