The Prachakorn

เจเนอเรชันโควิด


มนสิการ กาญจนะจิตรา

16 กุมภาพันธ์ 2564
462



กว่าหนึ่งปีแล้ว ที่ผู้คนทั่วโลกได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเป็นเวลากว่าหนึ่งปีแล้ว ที่พวกเราทุกคนต้องปรับตัวกับโลกใบใหม่

การมาเยือนของโควิด ทำให้โลกที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ เราทุกคนต้องปรับตัวกับวิถีชีวิตแบบใหม่ ตั้งแต่การใส่หน้ากากอนามัย การล้างมือ การเว้นระยะห่าง การหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด การลดการสังสรรค์กับเพื่อนฝูง รวมถึงการล็อคดาวน์ในหลายประเทศทั่วโลกที่นำไปสู่การทำงานจากที่บ้าน การเรียนออนไลน์ของเด็กนักเรียน การตกงานขาดรายได้ และการปิดตัวของหลายกิจการ

นี่คือโลกใบใหม่ของเรา แต่สำหรับเด็กๆ ยุคโควิดแล้ว นี่คือวิถีชีวิตที่พวกเขารู้จักมาค่อนชีวิต

เด็กในยุคโควิด เติบโตมาในสภาวะโลกที่แตกต่างกับคนรุ่นอื่น ชีวิตวัยเด็กของพวกเขาจึงไม่เหมือนรุ่นพ่อหรือแม่ของพวกเขา และไม่เหมือนรุ่นปู่ย่าตายายของพวกเขา เด็กยุคโควิดจะมีประสบการณ์การเติบโตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะรุ่น ไม่ต่างกับที่เจเนอเรชันเบบี้บูมเมอร์เติบโตในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือที่คนเจเนอเรชันวายเติบโตมาในยุคเฟื่องฟูของเทคโนโลยี

เจเนอเรชัน คือ กลุ่มคนที่เติบโตมาด้วยสภาพสังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมอะไรบางอย่างร่วมกัน ที่หล่อหลอมให้คนในเจเนอเรชันนั้นมีลักษณะอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากคนในเจเนอเรชันอื่น ดังนั้น คงไม่แปลกนัก ถ้าเด็กๆ รุ่นนี้ จะได้ชื่อว่า “เจเนอเรชันโควิด”

เด็ก “เจนโควิด” คุ้นชินกับการต้องใส่แมสก์ตั้งแต่เล็ก
รูปโดย มนสิการ กาญจนะจิตรา

แล้วเด็ก “เจนโควิด” ที่ต้องเติบโตในยุคของโรคระบาด จะมีลักษณะอย่างไร ทั้งอุปนิสัย ทักษะทางสังคม และสุขภาพกายและใจ วันนี้จึงอยากชวนทุกท่านมาลองคิดกันเล่นๆ ว่าลูกหลานเจนโควิดของเรานี้ จะมีลักษณะเฉพาะรุ่นอย่างไรบ้าง

ลักษณะสุขอนามัยดีขึ้น

เด็กรุ่นนี้ถูกปลูกฝังเรื่องกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ มากกว่าคนในรุ่นก่อนๆ อย่างมาก รวมถึงการถูกสอนเรื่องการไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น การใส่หน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่างกับผู้อื่น และวิธีการปิดปากอย่างถูกต้องเวลาไอหรือจาม

ในห้องเรียนเด็กอนุบาลในช่วงโควิดนี้ จะพบคุณครูสอนเด็กๆ เรื่องเชื้อโรค การแพร่กระจายของเชื้อโรค การป้องกันตนเอง และการล้างมือ 7 ขั้นตอน เด็กจะโดนเน้นย้ำให้ล้างมือบ่อยๆ และรอบตัวจะมีขวดเจลแอลกอฮอล์เสมอ เด็กเจนโควิดจึงถูกปลูกฝังเรื่องนี้เป็นพิเศษ

การมีลักษณะสุขอนามัยที่ดี จะช่วยทำให้การเจ็บป่วยโดยทั่วไปลดลงด้วย ในปีที่โควิดระบาด เราพบว่าการเจ็บป่วยด้วยโรคติดต่ออื่นๆ เช่น ไข้หวัดใหญ่ ลดลงอย่างมาก ซึ่งมีผลมาจากสุขอนามัยที่ดีขึ้นของประชาชน คงต้องลองติดตามดูกันต่อไปว่าลักษณะสุขอนามัยที่ดีนี้ จะติดตัวเด็กเจนโควิดไปจนโตมากน้อยเพียงใด

ทักษะสังคมอาจไม่ได้โอกาสพัฒนาเท่าที่ควร

เด็กเรียนรู้ทักษะการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ผ่านการเล่นและการมีปฏิสัมพันธ์กับเด็กๆ คนอื่น การเล่นด้วยกันสอนอะไรมากมาย เช่น การแบ่งปัน ทักษะการสื่อสาร การควบคุมอารมณ์ และการเคารพกติกาสังคม การที่โรงเรียนปิด ทำให้เด็กในยุคโควิดไม่ได้เจอเพื่อน จึงมีโอกาสได้ปฏิสัมพันธ์กับเด็กคนอื่นน้อยลง ทำให้โอกาสในการพัฒนาทักษะสังคมน้อยลงตามไปด้วย ซึ่งอาจส่งผลต่ออุปนิสัยของคนเจนโควิดในระยะยาวก็เป็นได้

ในฐานะที่ผู้เขียนมีลูกเล็ก สิ่งหนึ่งที่ได้ยินพ่อแม่ของเด็กวัยไล่เลี่ยกันพูดหลายคน คือ ลูกกลัวคนแปลกหน้ามาก ซึ่งพ่อแม่เหล่านั้นสันนิษฐานว่าเพราะลูกเป็น “เด็กยุคโควิด” เพราะโควิด พ่อแม่จึงไม่ค่อยมีโอกาสพาลูกไปพบปะผู้อื่นเท่าไรนัก เลยทำให้ไม่คุ้นชินกับคนแปลกหน้า ซึ่งโควิดอาจเป็นเหตุจริงๆ ก็เป็นได้ แต่ผู้เขียนคิดว่าส่วนหนึ่งก็อาจเป็นเพียงพัฒนาการตามวัยของเด็กก็เป็นได้เช่นกัน คงต้องรอดูในระยะยาว ว่าการมีโอกาสปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยลง จะส่งผลต่อทักษะสังคมของคนเจนโควิดหรือไม่

รูปแบบการเรียนรู้ที่เปลี่ยนไป

เป็นสิ่งที่น่ากังวลสำหรับพ่อแม่หลายคนมาก ขนาดผู้เขียนเองที่ลูกคนโตอยู่เพียงอนุบาล ยังรู้สึกว่าลูกพลาดโอกาสทางการศึกษาจากการระบาดของโควิดเลย แล้วลูกที่อยู่ในระดับประถม มัธยม หรือมหาวิทยาลัยล่ะ หนึ่งปีที่ผ่านมาแทบไม่ได้เรียนกันเลย การเรียนออนไลน์อย่างไรก็ไม่เหมือนกับการได้นั่งเรียนร่วมกันในห้อง การดึงความสนใจของเด็กเป็นสิ่งท้าทายอย่างยิ่งในการเรียนออนไลน์

ความท้าทายของการเรียนการสอนออนไลน์
รูปโดย มนสิการ กาญจนะจิตรา

ในระยะยาว ผู้เขียนเชื่อว่าต้องมีการปรับตัว ผู้สอนต้องหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับรูปแบบการเรียนออนไลน์ ดังนั้น ในอนาคตเราอาจจะเห็นการเรียนการสอนที่เป็นการบรรยายลดลง และเรียนแบบ active learning มากขึ้น เช่น การเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based learning) นั่นคือ ครูมีหน้าที่ให้โจทย์กับนักเรียน และนักเรียนเป็นผู้คิดวางแผน ค้นคว้าหาคำตอบในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งวิธีการเรียนการสอนแบบนี้ น่าจะเหมาะสำหรับการเรียนออนไลน์มากกว่าการนั่งฟังครูบรรยาย

หากการเรียนการสอนถูกบีบบังคับให้เปลี่ยนแนวทางจริงๆ ถือว่าเป็นคุณูปการของโควิดต่อการศึกษาไทยได้เลย เพราะผู้เขียนเชื่อว่าการเรียนการสอนที่เอานักเรียนเป็นศูนย์กลาง จะสร้างคนให้มีแรงจูงใจในการเรียนรู้ มีระบบการคิดวิเคราะห์ที่เป็นระบบ มีความรับผิดชอบ และมีทักษะที่จะเรียนรู้ไปตลอดชีวิตได้ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้สำคัญอย่างยิ่งในศตวรรษที่ 21 และหวังอย่างยิ่งว่าจะเป็นทักษะที่เด็กไทยเจนโควิดจะมี

ช่องว่างระหว่างชนชั้นจะกว้างมากขึ้น

เด็กเจนโควิดมีแนวโน้มจะเติบโตมาในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น การศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่จะก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำนี้ ช่วงที่โรงเรียนปิด เด็กในแต่ละบ้านได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เด็กในบ้านที่มีฐานะปานกลางถึงสูง ได้รับผลกระทบจากการต้องเรียนออนไลน์น้อยกว่า เพราะสิ่งอำนวยความสะดวกที่บ้านมีพร้อม มีห้องให้นั่งเรียนนั่งทำการบ้านได้ มีอุปกรณ์แทบเล็ตหรือคอมพิวเตอร์เพื่อเรียนหนังสือและค้นคว้าหาข้อมูล และมีอินเทอร์เน็ตบ้านที่เชื่อมต่อได้อย่างเสถียร แต่สำหรับเด็กในบ้านที่ฐานะไม่ดี การเรียนออนไลน์เปรียบเสมือนการไม่ได้เรียนหนังสือไปโดยปริยาย

ภาพคุ้นตาของพ่อแม่ (ปู่ย่าตายาย) ในช่วงล็อคดาวน์
รูปโดย มนสิการ กาญจนะจิตรา

การศึกษาในประเทศอังกฤษพบว่า เด็กในครอบครัวร่ำรวยใช้เวลาในการเรียนรู้ที่บ้านมากกว่าเด็กในครอบครัวยากจนถึง 30% นั่นเป็นเพราะพ่อแม่ที่มีฐานะร่ำรวยสามารถสนับสนุนการเรียนรู้ของลูกได้มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการใช้เวลาสอนหนังสือลูกเอง การซื้อหนังสืออุปกรณ์เสริมการเรียนรู้มาให้ หรือการจ้างครูพิเศษมาสอนที่บ้าน เช่นเดียวกันกับการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ทักษะการอ่านของเด็กในครอบครัวร่ำรวยจะพัฒนาดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแม้ในช่วงปิดเทอม แต่สำหรับเด็กในครอบครัวยากจน ทักษะการอ่านของเด็กเหล่านั้นจะถดถอยลงในช่วงปิดเทอม

ดังนั้น ในช่วงที่โรงเรียนปรับไปเรียนออนไลน์ เด็กในครอบครัวยากจนต้องรับผลกระทบหนักกว่าเด็กในครอบครัวร่ำรวยอย่างแน่นอน การมาเยือนของโควิดจึงน่าจะเป็นตัวการทำให้ช่องว่างระหว่างชนชั้นขยายกว้างมากขึ้นในอนาคต

โควิดจะอยู่กับเราไปอีกนานเท่าไรไม่มีใครรู้แน่ แต่สิ่งหนึ่งที่ชัดเจน คือ โลกเราได้เปลี่ยนไปอย่างมากเพราะเจ้าโรคระบาดนี้ และคน “เจนโควิด” จะกลายเป็นเจเนอเรชันที่ประวัติศาสตร์ต้องจดจำ

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

พิธีในยุคโควิด-19

วรชัย ทองไทย

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th