The Prachakorn

แอบดูนักวิชาการเถียงกันเรื่องเสรีภาพและการแบนสารอาหาร: กรณีไขมันทรานส์


วีรภาคย์ ซำศิริพงษ์

10 พฤษภาคม 2565
340



ในขณะที่หลายๆ ประเทศยังคงลังเลว่าจะ “แบน” ไขมันทรานส์ดีไหม ประเทศไทยได้ประกาศชัยชนะในการกำจัดไขมันทรานส์ผ่านการประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 388 ในปี พ.ศ.2561 ซึ่งเป็นประกาศ “ห้ามการผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน ซึ่งเป็นแหล่งหลักของไขมันทรานส์” ในบทความฉบับนี้ ผู้เขียนจะพาผู้อ่านไปเรียนรู้ร่วมกันว่า นักวิชาการในต่างประเทศเขาเคยเถียงกันเรื่องอะไร จึงทำให้การกำหนดนโยบายที่ (น่าจะ) ดีต่อสุขภาพของประชากรติดหล่มไม่ไปไหนสักที ผ่านดราม่าเกี่ยวกับการแบนไขมันทรานส์ที่ตีพิมพ์ในวารสาร The American Journal of Bioethics ในปี ค.ศ.2010


ที่มา: https://www.freepik.com/free-photo/trans-fats-free-lifestyle-concept_16482372.htm#query=trans%20fat%20free&position=10&from_view=search

จุดเริ่มต้นของดราม่าเกิดขึ้นเมื่อ David Resnik ได้เขียนบทความเรื่อง “เสรีภาพและการแบนไขมันทรานส์” โดยได้โจมตีการแบนไขมันทรานส์ว่าอาจจะทำให้เกิดไฟไหม้ฟาง (slippery slope) เนื่องจากเป็นการ “เปิดประตูให้รัฐมีอำนาจควบคุมอาหาร ซึ่งเป็นการจำกัดทางเลือกเกี่ยวกับอาหารและส่งผลกระทบต่อประเพณี”1 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ถ้าเรายอมให้รัฐแบนไขมันทรานส์ได้ ต่อไปเราก็ต้องยอมให้รัฐแบนสารอาหารอื่นๆ ได้ (และต่อไปก็ต้องยอม “ทน” กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพต่อไป)

พอมีนักวิชาการคนหนึ่งพูดมาอย่างนี้ นักวิชาการคนอื่นๆ ก็ได้แห่แหนกันออกมาโจมตี Resnik แบบใหม่ แบบสับ! โดยเฉพาะในประเด็นที่ Resnik อ้างว่า การแบนไขมันทรานส์จะทำให้เกิดไฟไหม้ฟาง ต่อไปรัฐจะแบนอาหารอื่นๆ ไปเรื่อยๆ 

Lawrence O. Gostin ได้โจมตี Resnik ในประเด็นการลิดรอนเสรีภาพในการซื้อไขมันทรานส์ โดยกล่าวว่า “ผู้บริโภคอาจจะไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป ทั้งนี้เพราะอาหารที่ปราศจากไขมันทรานส์จะเป็นบรรทัดฐานใหม่ การลิดรอนเสรีภาพจึงเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้ผลิตอาหารมากกว่าเป็นการจำกัดเสรีภาพของผู้บริโภค” กล่าวได้ว่า “การแทรกแซงดังกล่าวส่งผลต่ออิสรภาพเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะผู้บริโภคยังคงมีทางเลือกเกี่ยวกับอาหารมากมาย”2 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การแบนไขมันทรานส์ไม่ได้เดือดร้อนคนกินเลย แต่คนที่เดือดร้อนจริงๆ คือผู้ผลิตที่ต้องเปลี่ยนแปลง ภาพนี้ชัดมากในประเทศไทย เพราะเราแบนไขมันทรานส์ไปตั้งแต่ปี พ.ศ.2561 แล้ว รวมทั้งยังมีกฎหมายอื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้เรา “กินดี” มากขึ้น ผู้อ่านลองคิดดูสิครับว่าใครเป็นผู้ที่เดือดร้อนจากกฎหมายดังกล่าวที่แท้จริง และเราเดือดร้อนจากกฎหมายดังกล่าวอย่างไรบ้าง

Paula Boddington ได้โต้แย้งความคิดเห็นของ Resnik ว่า “Resnik ได้ให้เหตุผลราวกับว่ารัฐบาลได้สร้างอุปสรรคต่อการเลือกของปักเจก ซึ่งเป็นการละเลย ‘อิทธิพล’ อันเป็นอุปสรรคและแรงกดดันที่ต่อปัจเจก”3 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ก่อนที่จะไปห่วงว่ารัฐบาลจะพรากจากเสรีภาพไปจากประชาชน ห่วงประชาชนก่อน! ประชาชนถูกอิทธิพลกดดันให้ต้องกินแต่อาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพจนป่วยขนาดไหน ลองคิดดูสิครับ เวลาเราไปตลาด อาหารแบบไหนที่ถูก และอาหารแบบไหนที่แพง แล้วถ้าเราไม่มีเงิน ต่อให้รู้ว่าของที่กินไม่ดีต่อสุขภาพก็ต้องกิน

Kenneth Kirkwood ได้โจมตี Resnik โดยกล่าวว่า “คนเราไม่ได้มีอิสระในการกระทำตามหลักอิสรภาพนิยม ความตระหนักรู้คิดเกี่ยวกับทางเลือกของพวกเขาถูกไม่อาจเกิดขึ้นได้โดยสมบูรณ์เนื่องจาก […] ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายอาหาร”4 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ คนเราไม่ได้มีเสรีภาพจริงๆ นะ เพราะเราถูกคนผลิตกับคนขายของล่อด้วยวิธีการต่างๆ จนเราต้องซื้อ ผู้อ่านเคยไหมครับ หิวน้ำมากๆ ตั้งใจว่าจะเดินเข้าไปซื้อน้ำขวดเดียวในซุปเปอร์ ปรากฏเดินหลงในดงขนมไม่รู้ตัว เดินออกมาเหลือเงินไม่กี่บาท

James Wilson และ Angus Dawson ได้โต้แย้งความคิดเห็นของ Resnik ว่า “ทางเลือกในการบริโภคอาหารแทบจะไม่เกี่ยวกับอิสรภาพในตนเองเลย” ทั้งนี้เพราะ “อำนาจทางสังคมและวัฒนธรรมส่งผลต่อการเลือกของเรา”5 หรือพูดง่ายๆ ก็คือ เวลาเราไปซื้อของกิน ต่อให้คนขายไม่หลอกล่อเรา แต่สังคมและวัฒนธรรมก็หลอกล่อให้เราไปซื้อของไม่ดีมากินอยู่ดี ลองนึกดูสิครับ บางครั้งเราไม่หิว แต่เพื่อนหรือที่ทำงานชวนไปกิน เขาเลือกอะไรเราก็ต้องกิน เราอยากจะกินลดน้ำหนัก แต่ที่บ้านไม่ได้ลดด้วย สุดท้ายไดเอ็ทล่มมาแล้วกี่รอบ

จะเห็นได้ว่า ประเด็นไขมันทรานส์เล็กๆ จุดประกายให้เราได้สะท้อนคิดถึงประเด็นทางจริยธรรมเกี่ยวกับอาหารได้เยอะเลยครับ ก็นับว่าเป็นโชคดีที่ประเทศไทยมีกฎหมายแบนน้ำมันที่ผ่านกระบวนการเติมไฮโดรเจนบางส่วน และปลอดภัยหายห่วงจากภัยไขมันทรานส์ในระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็ยังมีนโยบายและกฎหมายหลายฉบับที่ยังคง “ติดหล่ม” อยู่เพราะนักวิชาการและนักกฎหมายยังคงเถียงกันอยู่ โดยเอา “ประชากร” มาอ้างเพื่อสนับสนุนความคิดของตนเอง

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนอยากให้ผู้อ่านทบทวนถึงเวลาที่เราไปห้างสรรพสินค้า แล้วสุดท้ายก็เดินเข้าร้านอาหารที่อาจจะไม่ดีต่อสุขภาพ แล้วลองคิดดูสิครับว่า เรามีสิทธิ์ที่จะเลือกซื้ออาหารจริงหรือ 

  • ทำไมรู้สึก “อร่อย” เวลากินของที่ไม่ดีต่อสุขภาพ
  • ทำไมไปซุปเปอร์ฯ แล้วชอบเผลอหยิบอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ “ติดมือ” มาทุกที
  • ทำไม “เพื่อน” ชอบชวนไปกินร้านที่ไม่น่าจะดีต่อสุขภาพสักเท่าไหร่
  • ทำไมชอบดู “คนกินอาหารเยอะๆ”

เรามีเสรีภาพในการเดินเข้าไปหยิบ ซื้อและรับประทานอาหาร ไม่ว่าจะเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพหรืออาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพ แต่เสรีภาพของเราถูกกำหนดโดยรส ความถี่ ปริมาณของอาหาร จำนวนคนที่เรากินข้าวด้วย ฯลฯ โดยที่เรา (อาจจะ) ไม่รู้ตัว

เสรีภาพที่ถูกบังคับ ใช่เสรีภาพที่แท้จริงหรือครับ


ที่มา

  1. Resnik, D., Trans fat bans and human freedom. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 27-32.
  2. Gostin, L. O., Trans fat bans and the human freedom: a refutation. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 33-34.
  3. Boddington, P., Dietary choices, health, and freedom: hidden fats, hidden choices, hidden constraints. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 43-44.
  4. Kirkwood, K., Lipids, liberty, and the integrity of free actions. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 45-46.
  5. Wilson, J.; Dawson, A., Giving liberty its due, but no more: trans fats, liberty, and public health. The American Journal of Bioethics 2010, 10 (3), 34-36.


CONTRIBUTOR

Related Posts
อาชีพกับเรื่องอ้วนๆ

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

ความสุขของแม่

สุภาณี ปลื้มเจริญ

ส่องเทรนโลก เทรนไทย “ตลาดและคุณภาพอาหารแปรรูปสูง”

ณัฐจีรา ทองเจริญชูพงศ์,สิรินทร์ยา พูลเกิด

แกะกล่อง Baby Box รอบโลก

มนสิการ กาญจนะจิตรา

เด็กปฐมวัย...โอกาสทองสร้างคน

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ประชากรและสังคม 2561

จีรวรรณ หงษ์ทอง

ติดรถ – รถติด ปลอดรถ – ลดพิษ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

คนไทยกับกิจกรรมทางกาย

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th