The Prachakorn

นโยบายส่งเสริมการมีลูกคนที่สอง...สาม...สี่...


มนสิการ กาญจนะจิตรา

22 กุมภาพันธ์ 2565
1,203



การเกิดน้อย เป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก และเป็นประเด็นที่สร้างความวิตกให้กับผู้กำหนดนโยบายไม่น้อย เพราะการกระตุ้นให้คนในยุคปัจจุบันมีลูกเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง

นโยบายส่งเสริมการเกิด ไม่ควรมุ่งเน้นไปยังคู่สมรสที่ยังไม่มีบุตรเท่านั้น แต่ควรให้ความสำคัญกับการมีบุตรคนต่อๆ ไปด้วยซึ่งนโยบายดังกล่าวควรมีความแตกต่างจากนโยบายส่งเสริมการเกิดสำหรับผู้ที่ยังไม่มีบุตร เพราะการตัดสินใจมีลูกคนแรก กับการตัดสินใจมีลูกคนที่สอง สาม หรือสี่ มีความแตกต่างกัน นโยบายในการจูงใจให้มีบุตรจึงควรมีความแตกต่างกันด้วย บทความนี้ขอนำเสนอตัวอย่างนโยบายจากต่างประเทศ ที่ไม่ใช่เพียงกระตุ้นให้คนมีลูกเท่านั้น แต่หวังให้คนมีลูกจำนวนมากขึ้นด้วย

เริ่มต้นที่ประเทศสิงคโปร์ที่ประสบกับปัญหาการเกิดน้อยมาอย่างยาวนาน (โดยเฉลี่ย ผู้หญิงสิงคโปร์หนึ่งคนจะมีบุตรเพียง 1.1 คนตลอดวัยมีบุตร หรืออายุ 15–49 ปี) สิงคโปร์มีนโยบายเพื่อส่งเสริมการเกิดจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือการให้เบบี้โบนัส (baby bonus) สำหรับเด็กแรกเกิด โดยมีการให้เป็นลักษณะขั้นบันได คือ พ่อแม่จะได้รับ 8,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (เกือบ 2 แสนบาท) สำหรับบุตรคนแรกและคนที่สอง และ 10,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (เกือบ 2.5 แสนบาท) สำหรับบุตรคนที่สามเป็นต้นไป จึงค่อนข้างชัดเจนว่ารัฐบาลของสิงคโปร์ ไม่ได้เพียงต้องการให้คนมีลูก แต่ต้องการให้คนมีลูกจำนวนมากขึ้นด้วย1 

การลาคลอดแบบได้รับค่าจ้าง เป็นอีกนโยบายสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจมีลูกคนต่อๆ มา ประเทศสาธารณรัฐเช็กมีนโยบายการลาคลอดที่ยืดหยุ่น คือ แม่สามารถเลือกการรับสิทธิประโยชน์การลาคลอดในอัตราเงินรายเดือนในระยะเวลาต่างๆ ได้ เช่น แม่สามารถเลือกรับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 50 ของรายได้ ในช่วงระยะเวลาสองปีหลังคลอดบุตร หรือ รับเงินรายเดือนในอัตราร้อยละ 33 ของรายได้ ในระยะเวลาสามปีหลังคลอดบุตร หรือ รับร้อยละ 33 ตั้งแต่คลอดบุตรถึงเดือนที่ 21 และร้อยละ 17 ของรายได้จากเดือนที่ 21 ถึงปีที่ 4 หลังการคลอดบุตร นโยบายดังกล่าวไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มจำนวนการเกิดโดยตรง แต่ผลปรากฏว่า นโยบายการลาคลอดที่ยืดหยุ่นเช่นนี้ ทำให้แม่หลายคนสามารถเลือกรับเงินรายเดือนในสัดส่วนสูงในระยะเวลาที่สั้นลง ซึ่งนำไปสู่การตัดสินใจการมีลูกคนที่สองเร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศสโลวะเกีย2

นอกจากนโยบายการลาคลอดสำหรับแม่ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูกคนที่สองแล้ว นโยบายการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรของพ่อก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน การศึกษาในประเทศนอร์ดิก ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวีเดน พบว่าการลาของพ่อ มีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อการมีลูกคนที่สองทั้งในสามประเทศดังกล่าว3 ข้อค้นพบดังกล่าว เป็นไปตามข้อสมมติฐานที่ว่า ความเท่าเทียมทางเพศในครอบครัวมีความเกี่ยวข้องเชิงบวกกับระดับการเจริญพันธุ์ นั่นหมายความว่า ยิ่งในครอบครัวมีความเท่าเทียมทางเพศสูงเท่าไร จะยิ่งมีระดับเจริญพันธุ์ที่สูงขึ้นตามไปด้วย โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีระดับการศึกษาสูง งานวิจัยในไต้หวันพบว่า ความต้องการมีบุตรคนที่สองขึ้นไปสำหรับผู้หญิง เพิ่มขึ้นหากสามีมีส่วนร่วมในการเลี้ยงบุตร (แต่ไม่พบความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมของผู้ชายในการทำงานบ้าน) ซึ่งผลที่พบนี้ เห็นชัดในกลุ่มผู้หญิงที่มีระดับการศึกษาในระดับอุดมศึกษาขึ้นไป4 

สำหรับประเทศไทย แนวโน้มการมีบุตรลดลงอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2562 พบว่า ราว 1 ใน 4 ของผู้หญิงไทยวัยเจริญพันธุ์มีลูกเพียงคนเดียว และในบรรดาผู้ที่มีบุตรคนเดียว ราวครึ่งหนึ่งไม่ต้องการมีบุตรเพิ่ม ประเทศไทยมีความพยายามในการส่งเสริมการเกิดผ่านนโยบายต่างๆ นี่จึงเป็นอีกหนึ่งกลุ่มประชากรที่ไม่ควรมองข้าม การเพิ่มเงินรางวัลสำหรับจำนวนบุตรที่มากขึ้น การลาคลอดที่ยืดหยุ่น และการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ อาจเป็นแนวทางช่วยกระตุ้นให้ครอบครัวไทยที่พร้อมตัดสินใจมีลูกคนที่สอง...สาม..หรือสี่ ได้ง่ายยิ่งขึ้น

ที่มา: https://researchcafe.org/policies-for-birth-promotion-in-thailand/ สืบค้นเมื่อ 20 มกราคม 2565 


  1. Baby Bonus Scheme, Ministry of Social and Family Development. https:// www.msf.gov.sg/policies/Strong-and-Stable-Families/Supporting-Families/ Pages/Baby-Bonus-Scheme.aspx สืบค้นเมื่อ 10 มกราคม 2565
  2. Stastna, A., Kocourkova, J., & Sprocha, B. (2020). Parental leave policies and second births: a comparison of Czechia and Slovakia. Population Research and Policy Review, 39(3), 415-437
  3. Duvander, A. Z., Lappegard, T., Andersen, S. N., Garoarsdottir, O.,Neyer, G., & Viklund, I. (2019). Parental leave policies and continued childbearing in Iceland, Norway, and Sweden. Demographic Research, 40, 1501-1528.
  4. Cheng, Y. H. A., & Hsu, C. H. (2020). No more babies without help for whom? Education, division of labor, and fertility intentions. Journal of Marriage and Family, 82(4), 1270-1285.


CONTRIBUTOR

Related Posts
โสดมาราธอน

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

พิธีและพิธีกรรม

วรชัย ทองไทย

ภูมิแพ้ รู้สาเหตุ รู้ทางแก้

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

ความสุขของแม่

สุภาณี ปลื้มเจริญ

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โครงสร้างอายุเปลี่ยนสังคม

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th