The Prachakorn

ติดรถ – รถติด ปลอดรถ – ลดพิษ


นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

04 มีนาคม 2564
263



เมื่อพูดถึงกรุงเทพฯ หลายคนอาจนึกถึงรถติด (รวมถึงตัวผู้เขียนเองด้วย) เพราะกรุงเทพฯ ติดอันดับเมืองที่มีรถติดมากที่สุดในโลกเมืองหนึ่งเป็นเวลาหลายปีต่อเนื่อง แม้ว่ามาตรการปิดเมืองจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้การจราจรติดขัดของกรุงเทพฯ เบาบางลง และมีรายงานว่าโควิด-19 ช่วยทำให้การจราจรติดขัดของโลกลดลงถึง 19% ในปี 20201 อย่างไรก็ดี กรุงเทพฯ ยังติดอันดับที่ 10 ของเมืองที่มีรถติดมากที่สุดในโลก (อันดับ 1 คือ กรุง Moscow ประเทศรัสเซีย อันดับ 2 คือ นคร Mumbai ประเทศอินเดีย และอันดับ 3 คือ เมือง Bogota ประเทศโคลอมเบีย) แม้ว่าปัญหาการจราจรติดขัดจะทุเลาลงบ้างในช่วงวิกฤตโควิด-19 แต่แน่นอนปัญหารถติดไม่มีวันหายไปง่ายๆ โดยเฉพาะในเมืองที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต จำนวนรถยนต์ก็ยิ่งมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย คาดการณ์ว่าภายในปี 2030 โลกใบนี้จะมีรถยนต์กว่า 2 พันล้านคัน2 เทียบกับประชากรโลกที่องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่าจะมีทั้งหมด 8.5 พันล้านคน ภายในปีเดียวกัน นี่อาจเป็นสัญญาณแสดงจำนวนคนต่อจำนวนรถยนต์ที่อาจใกล้เคียงกันมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นได้

ปัญหารถติดส่งผลเสียต่อคนเราได้มากมาย นอกจากเวลาอันมีค่าที่เราต้องสูญเสียไปอย่างเปล่าประโยชน์ให้กับรถติด ซึ่งจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลการจราจร INRIX ปี 2019 คนกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาไปกับรถติดประมาณ 90 ชั่วโมงต่อปี รถติดยังก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศอย่างหนัก สร้างมลพิษให้กับสิ่งแวดล้อมและมนุษย์ และการที่ต้องนั่งติดอยู่ในรถเป็นเวลานานๆ ยังทำให้เกิดความเครียดและเกิดพฤติกรรมเนือยนิ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งผลที่ตามมาเหล่านี้ล้วนสามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคและการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ทั้งสิ้น แม้ว่าการพัฒนาและเกิดขึ้นของรถยนต์จะเป็น Invention หนึ่งที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์การพัฒนาทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมของมนุษย์ แต่การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของรถยนต์และผลที่ตามมาจากการใช้รถยนต์เป็นจำนวนมากทำให้หลายประเทศเริ่มออกมาตรการเพื่อลดการใช้รถยนต์ เช่น นโยบาย Car-Free Policies โดยนโยบายส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การปรับเปลี่ยนผังเมือง (Urban Design) ซึ่งรวมถึงการเพิ่มหรือปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ การเพิ่มช่องทางสำหรับจักรยาน และการเพิ่มพื้นที่สีเขียว2 การปรับเปลี่ยนผังเมืองนี้มุ่งหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนในการเดินทาง เช่น การเลือกเดินหรือปั่นจักรยานไปตลาดใกล้บ้านแทนการขับรถ การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคมหรือคนหมู่มากในการเดินทางโดยพึ่งพายานยนต์ส่วนบุคคลให้น้อยลง ย่อมส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและเป็นผลดีต่อสุขภาพของประชาชนเองด้วยที่ได้มีโอกาสขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวร่างกายมากขึ้น และเมื่อประชาชนในประเทศสุขภาพดี เศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศย่อมดีขึ้นตามไปด้วย

ปัจจุบันมีหลายเมืองทั่วโลกขานรับนโยบายการสร้างเมืองให้เป็น Car-Free Cities เช่น เมือง Hamburg ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นเมืองแรกที่ประกาศจะเป็นเมืองปลอดรถให้ได้ภายในปี 2035 โดยมีโครงการที่เรียกว่า “Green Network” ที่จะครอบคลุมพื้นที่ 40% ของเมือง Hamburg ให้เป็นโซนปลอดรถโดยสิ้นเชิง โดยจะเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้คนสามารถเดินหรือปั่นจักรยานไปยังสถานที่ต่างๆ ได้โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ และพื้นที่เชื่อมต่อเหล่านี้จะมีทั้งสวนสาธารณะ สนามเด็กเล่น สนามกีฬา และสุสาน นอกจากเมือง Hamburg แล้วยังมีอีกหลายเมืองทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับแนวทาง Car-free Cities  เช่น เมือง Oslo, Barcelona, Madrid, Brussels, Helsinki หรือเมืองที่เคยขึ้นชื่อเรื่องมลพิษทางอากาศอย่าง Paris ที่หลังจากเริ่มมาตรการใช้รถยนต์ตามเลขทะเบียนคู่-คี่ ในปี 2014 ก็สามารถลดมลพิษทางอากาศได้มากถึง 30% จากนั้นจึงมีมาตรการอื่นๆ ออกตามมาอย่างต่อเนื่องเพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เช่น การห้ามไม่ให้รถยนต์ที่ผลิตก่อนปี 1997 วิ่งในเมืองในวันธรรมดา และการสร้างช่องจักรยานเพิ่มมากขึ้น เป็นต้น3

Hamburg – the city’s proposed GrÜnes Netz or “green network”
ที่มา: https://www.cleantechalliance.org/2014/02/18/hamburg-germany-announces-ambitious-plan-to-become-a-car-free-city-in-20-years/

การส่งเสริมให้มีถนนคนเดิน (Pedestrian zone) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่หลายประเทศใช้เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล ซึ่งไอเดียนี้ก็ได้ผสมผสานไปกับการสร้างแหล่งช้อปปิ้งในย่านธุรกิจที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัดและราคาแพง ถนนคนเดินนี้เกิดขึ้นในหลายเมืองในยุโรปตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1960s เมือง Copenhagen เป็นเมืองแรกๆ ที่เปลี่ยนถนนจราจรให้เป็นถนนคนเดิน ตั้งแต่ปี 1962 จนในปัจจุบันคนเมือง Copenhagen มากกว่าครึ่งปั่นจักรยานไปทำงานทุกวัน ในเมือง Copenhagen มีช่องทางจักรยานที่ยาวมากกว่า 200 ไมล์3 และมีถนน StrØget ถนนคนเดินที่ยาวที่สุดในโลก จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่เดนมาร์กจะเป็นประเทศหนึ่งในยุโรปที่มีประชากรเป็นเจ้าของรถยนต์น้อยมาก การสร้างถนนคนเดินได้แพร่หลายไปทั่วโลก ประเทศไทยเองก็มีถนนคนเดินเกิดขึ้นมากมาย ถนนคนเดินในกรุงเทพฯ ที่หลายคนน่าจะได้เคยไปเดินกันมาแล้วก็น่าจะเป็น ถนนสำเพ็ง และถนนวังหลัง เป็นต้น

StrØget – the world’s longest pedestrian street – Copenhagen
ที่มา: www.copenhagennet.dk

จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่า มาตรการที่สำคัญในการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล คือ การสร้างทางเลือกที่เหมาะสมที่สามารถทดแทนการใช้รถยนต์ได้จริง กล่าวคือ การสร้างระบบขนส่งสาธารณะที่เพียงพอและมีคุณภาพ การวางระบบคมนาคมให้รองรับการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันได้จริง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการสร้างถนนคนเดินที่ปลอดภัยและน่าดึงดูดใจ แม้ว่าที่ผ่านมาอาจมีการศึกษาเกี่ยวกับประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ ในการลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลไม่มากนัก2 แต่หลายเมืองยังคงเดินหน้าผลักดันการสร้างเมืองสีเขียวหรือเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อไป และอย่างน้อยในปัจจุบันก็มีวันปลอดรถสากล หรือ Car-Free Day ที่ทั่วโลกร่วมกันกำหนดขึ้นเป็นทุกวันที่ 22 กันยายนของทุกปี วันนี้องค์กรในประเทศต่างๆ ทั่วโลก จะร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนลดหรืองดใช้รถยนต์ส่วนตัว ซึ่งประเทศไทยเองก็ร่วมรณรงค์ลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวด้วย ถึงแม้ว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัวในประเทศไทยอาจไม่ได้ลดลงอย่างชัดเจนและปัญหารถติดก็ยังคงไม่ทุเลาเบาบางลงสักเท่าไหร่ แต่ก็มีการปรับปรุงพัฒนาผังเมืองในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่น การสร้างช่องทางจักรยานเพิ่มมากขึ้น การสร้างทางเชื่อมหรือ Skywalk เชื่อมต่อสถานที่สำคัญใจกลางเมืองหลายจุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนเดินถนนมากขึ้น และการเพิ่มสวนสาธารณะกลางกรุง ซึ่งการปรับปรุงเหล่านี้ถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดีว่าประเทศไทยน่าจะกำลังมุ่งหน้าไปสู่การสร้างเมืองสีเขียวที่มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเป็นสำคัญ และแน่นอนการเปลี่ยนแปลงใดใดย่อมต้องใช้เวลา และที่สำคัญที่สุดคือต้องได้รับความร่วมมือและการสนับสนุนจากคนไทยทุกคน สิ่งที่ดูเหมือนว่าจะเป็นไปไม่ได้ก็จะเป็นไปได้อย่างแน่นอน


แหล่งที่มา

  1. Post Today. (24 January 2021). กรุงเทพฯ รถติดที่สุดอันดับที่ 10 ของโลก. Retrieved on 25 February 2021 from https://www.posttoday.com/world/643503
  2. Nieuwenhuijsen, M. J., & Khreis, H. (2016). Car free cities: Pathway to healthy urban living. Environment international, 94, 251-262.
  3. Garfield Leanna. (16 August 2016). 10 cities that are starting to go car-free. Retrieved on 25 February 2021 from https://www.businessinsider.com/cities-going-car-free-2016-8

 



CONTRIBUTOR

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th