The Prachakorn

Top 5 งานวิจัยโควิด-19 ด้านสังคมศาสตร์ ที่ถูกอ้างอิงมากที่สุด


สิรินทร์ยา พูลเกิด

01 มิถุนายน 2564
1,023



ผู้เขียนยังขอเกาะกระแสสถานการณ์ปัจจุบัน เขียนบทความเกี่ยวกับโรคโควิด-19 แต่คราวนี้เน้นเอาใจกลุ่มนักวิชาการ ผู้กำหนดนโยบาย หรือประชาชนที่สนใจข้อมูลวิจัย โดยรวบรวม 5 บทความวิจัยด้านสังคมศาสตร์ ที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 และถูกอ้างอิงมากที่สุดในขณะนี้

ผู้เขียนเก็บข้อมูล ณ วันที่ 7 พฤษภาคม ปี 2564 โดยเริ่มจากเลือกเฉพาะวารสารวิชาการด้านสังคมศาสตร์ที่อยู่ใน 50 อันดับแรกตามค่าดัชนีวัดคุณภาพวารสาร (SCImago Journal Rank) ของฐานข้อมูลวารสารวิชาการนานาชาติ SCOPUS จากนั้นเข้าเว็บไซต์แต่ละวารสาร เพื่อเลือกบทความวิจัยที่ตีพิมพ์เกี่ยวกับโรคโควิด-19 ระหว่างเดือนมกราคม ปี 2563 ถึงเดือนเมษายน ปี 2564 และมีจำนวนครั้งที่ถูกอ้างอิงมากที่สุด และสุดท้าย นำบทความมาเรียงลำดับเพื่อเลือกเพียง 5 บทความที่มีคนอ้างอิงสูงสุด

บทความ 5 อันดับแรก เป็นการศึกษาผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ต่อสภาพแวดล้อมและภูมิอากาศทั้งสิ้น ซึ่งในระยะเวลาเพียงปีกว่า บทความบางชิ้นถูกนำไปอ้างอิงมากกว่า 300 ครั้ง

1.“Temporary reduction in daily global CO2 emissions during the COVID-19 forced confinement1” (ถูกอ้างอิง 323 ครั้ง)

การศึกษานี้คาดประมาณการลดลงของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในช่วงที่มีการปิดประเทศและออกมาตรการให้ประชาชนกักตัวอยู่บ้าน โดยพบว่า การปล่อยก๊าซฯ แต่ละวันในระดับโลกลดลงถึง 17% (ข้อมูล ณ ต้นเดือนเมษายน ปี 2563) เมื่อเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยปี 2562 คาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ระบาดกลับสู่ภาวะปกติภายในกลางเดือนมิถุนายน ปี 2563 การปล่อยก๊าซฯ จะลดลง 2-7% แต่ถ้ายังใช้มาตรการดังกล่าวต่อเนื่องไปจนถึงปลายปี 2563 การปล่อยก๊าซฯ จะลดลง 3-13%  

2.“The short-term impacts of COVID-19 lockdown on urban air pollution in China2” (ถูกอ้างอิง 85 ครั้ง)

การศึกษานี้ประเมินผลกระทบด้านคุณภาพอากาศในเขตเมืองจากมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศจีน โดยคำนวณค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index: AQI) และดูความเข้มข้นฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) โดยพบว่า มาตรการล็อกดาวน์ช่วยทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น โดยค่า AQI ในเมืองที่มีมาตรการล็อกดาวน์ ลดลงไป 19.84 จุด (ค่า PM2.5 ลดลงไป 14.07 µg/m3) นอกจากนี้ ยังพบค่า AQI ลดลงมากที่สุดในเมืองที่มีความเป็นอุตสาหกรรมมากกว่า รายได้สูงกว่า และมีอากาศเย็นกว่า อย่างไรก็ตาม ระดับ PM2.5 ในช่วงล็อกดาวน์ของประเทศจีน ยังคงสูงกว่าระดับที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 4 เท่า

3.“Air pollution reduction and mortality benefit during the COVID-19 outbreak in China3” (ถูกอ้างอิง 85 ครั้ง)

การศึกษานี้วิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงมลพิษทางอากาศและการเสียชีวิตจากสาเหตุที่ป้องกันได้ ในช่วงที่ประเทศจีนใช้มาตรการกักตัวขนาดใหญ่ โดยพบว่า มาตรการที่เน้นจัดการการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลให้คุณภาพอากาศของประเทศดีขึ้น ซึ่งมีอิทธิพลสำคัญในการช่วยลดการตายของคนจีนจากสาเหตุที่ไม่ได้มาจากโรคโควิด-19 คิดเป็นจำนวนที่มากกว่าจำนวนการตายจากโรคโควิด-19 (ตาย 4,633 คน ณ วันที่ 4 พฤษภาคม ปี 2563)

4.“Current and future global climate impacts resulting from COVID-194” (ถูกอ้างอิง 53 ครั้ง)

การศึกษานี้คาดประมาณการลดลงของการปล่อยก๊าซพิษในระดับโลก ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายน ปี 2563 โดยพบว่า การปล่อยออกไซด์ของไนโตรเจนลดลงมากถึง 30% ซึ่งส่งผลให้อากาศเย็นลงในช่วงระยะสั้นๆ ตอนต้นปี ซึ่งแนวโน้มอากาศที่เย็นลงนี้ เป็นผลพวงจากการลดลงของการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ที่ทำให้เกิดภาวะโรคร้อน โดยคาดการณ์ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดนี้มีผลโดยตรงต่อการทำให้อุณหภูมิโลกเย็นลง 0.01 ±0.005°C ภายในปี 2573

5.“Effective transmission across the globe: the role of climate in COVID-19 mitigation strategies5” (ถูกอ้างอิง 35 ครั้ง)

บทความนี้อภิปรายประเด็นคำถามว่า การแพร่ของโรคโควิด-19 ลดลงในอากาศที่ร้อนและชื้นจริงหรือไม่ ซึ่งจากการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นว่า ฤดูกาลไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้การแพร่ของโรคโควิด-19 ลดลง แม้ว่าอากาศที่อุ่นขึ้นอาจจะช่วยลดการแพร่ได้บ้างเล็กน้อย แต่ยังไม่มีหลักฐานวิจัยบ่งชี้ชัดเจนว่า สภาพอากาศที่อุ่นขึ้นจะช่วยลดประสิทธิภาพการแพร่ของโรคนี้ได้

แม้ว่าบทความทั้ง 5 เรื่อง สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่างานวิจัยที่ต้องทำแข่งกับเวลา เพื่อตอบสนองสถานการณ์ของประเทศและโลก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า บทความที่ถูกอ้างอิงน้อย จะหมดความสำคัญไป เพราะบทความกลุ่มนี้ อาจมีคุณค่าต่อการนำไปใช้ในบริบทที่เฉพาะเจาะจงมากกว่า เท่านั้นเอง

ภาพโดย: Dimitry B บน Unsplash สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564

ภาพโดย: Zach Rowlandson บน Unsplash สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2564


อ้างอิง

  1. Le Quéré, C., Jackson, R.B., Jones, M.W., Smith, A.J.P., Abernethy, S., Andrew, R.M., ... & Peters, G.P. (2020). Temporary reduction in daily global CO2 emissions during the COVID-19 forced confinement. Nature Climate Change, 10(7), 647-653.
  2. He, G., Pan, Y., & Tanaka, T. (2020). The short-term impacts of COVID-19 lockdown on urban air pollution in China. Nature Sustainability 3, 1005–1011.
  3. Chen, K., Wang, M., Huang, C., Kinney, P.L., & Anastas, P.T. (2020). Air pollution reduction and mortality benefit during the COVID-19 outbreak in China. The Lancet Planetary Health 4(6), e210-e212.
  4. Forster, P.M., Forster, H.I., Evans, M.J., Gidden, M.J., Jones, C.D., Keller, C.A., … & Turnock, S.T. (2020). Current and future global climate impacts resulting from COVID-19. Nature Climate Change 10(10), 913-919.
  5. O’Reilly, K.M., Auzenbergs, M., Jafari, Y.,  Liu, Y., Flasche, S., & Lowe, R. (2020). Effective transmission across the globe: the role of climate in COVID-19 mitigation strategies. The Lancet Planetary Health 4(5), e172.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

COVID-19 โรคเปลี่ยนโลก

ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โกหกคำโต (big lie)

วรชัย ทองไทย

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว การย้ายถิ่น และมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์,อารี จำปากลาย

ปฐมบทของการผ่อนคลายด้วยดนตรีบำบัด

สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี

มิติเพศที่หลากหลายในสังคมไทย

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th