The Prachakorn

อยู่ที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย เมื่อประเทศไทยเต็มไปด้วยฝุ่น (PM 2.5)


ปาริฉัตร นาครักษา,ขวัญฤทัย อมรดลใจ

02 มิถุนายน 2566
792



“ดอยสุเทพเป็นสี ประเพณีเผาป่า
ผ่อตางใดก็แสบต๋า บ่าไหวละก๋านครพิงค์”

ที่มา: ผู้เขียน

เมื่อคำขวัญประจำจังหวัดเชียงใหม่ถูกดัดแปลง เพื่อบอกเล่าสถานการณ์มลพิษทางอากาศในวันที่เชียงใหม่เต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 ซึ่งจากข้อมูลบนเว็บไซต์ IQAir พบว่า จังหวัดเชียงใหม่ติดอันดับ 1 ของโลกเมืองที่่มีมลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลกติดกันเป็นวันที่ 2 มีสาเหตุหลัก คือ ไฟป่า การเผาในที่โล่ง และหมอกควันข้ามแดน โดยวันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน 2566 ดัชนีคุณภาพอากาศ (US AQI) มีค่า 371 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ขณะที่กรุงเทพมหานครอยู่อันดับที่ 8 ของโลก แต่สาเหตุหลัก คือ ไอเสียรถยนต์ การจราจร อุตสาหกรรม และการเผาในที่โล่ง ดัชนีคุณภาพอากาศ (US AQI) มีค่า 143  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร อยู่ในเกณฑ์เริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (IQ AIR, 2566: ออนไลน์) ไม่เพียงจังหวัดเชียงใหม่และกรุงเทพมหานครเท่านั้น ที่กำลังเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 ทุกภูมิภาคของประเทศไทยล้วนเผชิญกับปัญหาฝุ่น PM 2.5 เช่นเดียวกัน แม้ต่างจังหวัดอาจไม่ได้มีประชากร การจราจร และโรงงานอุตสาหกรรมที่หนาแน่นมาก แต่จำเป็นต้องควบคุมปัจจัยด้านการเผาในที่โล่งอย่างเผาเศษวัสดุเหลือใช้การเกษตร เผาป่า เผาขยะ การก่อสร้าง กิจกรรมในบ้านเรือนหรือชุมชน เช่น เตาปิ้งย่าง การจุดธูป การสูบบุหรี่ที่ก็ทำให้เกิดฝุ่น PM 2.5 ได้ โดยภาคกลางสาเหตุหลัก คือ การจราจร บรรทุกขนส่ง โรงงาน เหมืองหิน และการเผาในที่โล่ง ณ วันที่ 6 เมษายนนี้ คุณภาพอากาศของภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ภาคใต้ก็สามารถเกิดปัญหาฝุ่นได้จากสาเหตุหลัก คือ ไฟไหม้ป่าพรุ และหมอกควันข้ามแดน ขณะที่สาเหตุหลักของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ เผาในที่โล่งหรือพื้นที่เกษตรกรรมและป่า รวมทั้งปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้อย่างช่วงเวลาความกดอากาศสูง สภาพอากาศนิ่ง และลมสงบ ที่สารพิษทั้งหลายถูกสะสมเอาไว้ในชั้นบรรยากาศ แต่เมื่อถึงเวลาที่ลมร้อนเริ่มพัดมา ฝุ่นเหล่านี้ก็จะถูกพัดให้ลอยสูงขึ้นและค่อยๆ จางหายไปในที่สุด ก่อนจะสะสมใหม่เมื่อลมสงบอีกครั้ง ดังนั้นช่วงเวลานี้ที่ภาวะลมสงบเกิดขึ้นยาวนานกว่าปกติจึงเห็นการปกคลุมนี้ได้อย่างชัดเจน หากนำมาเปรียบเทียบค่า PM 2.5 เฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงใน 5 จังหวัดตัวแทนแต่ละภูมิภาคในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2566 ถึง 9 เมษายน 2566 จะพบว่า 4 จังหวัดตัวแทนของ 3 ภูมิภาคในประเทศไทย มีค่าเฉลี่ย PM 2.5 มากกว่า 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นเกณฑ์ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ต้องกล่าวถึงกรณีค่า PM 2.5 สูงสุดที่เคยเกิดขึ้นตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา ปรากฏผลดังกราฟ

ที่มา: กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ (2566)

นอกจากนี้ภัยเงียบที่มาพร้อมฝุ่น PM 2.5 หรือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน คือ สามารถลอยในอากาศได้นาน ไกลถึง 1,000 กิโลเมตร (กรมอนามัย, 2563) รวมถึงสามารถผ่านการกรองของขนจมูกเข้าสู่ปอดโดยตรงและซึมผ่านกระแสเลือด พร้อมทั้งนำพาสารอันตรายอื่นๆ เช่น ตะกั่ว สารก่อมะเร็งที่เคลือบบนผิวเข้าสู่ปอดไปด้วย จนเกิดผลกระทบต่อร่างกายทั้งในระยะสั้น เช่น ไอ จาม แสบตา ตาแดง ผื่น คัน และระคายเคืองตามตาและผิวหนัง และในระยะยาว เช่น มะเร็งปอด หอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูง เป็นต้น

ความรุนแรงของผลกระทบขึ้นอยู่กับปริมาณของฝุ่นละออง ช่วงเวลาหรือระยะเวลาที่สัมผัส กิจกรรมที่ทำ และลักษณะของบุคคล โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจหรือโรคระบบหัวใจและหลอดเลือด (เนื่องจากอาจทำให้อาการกำเริบ) เด็ก (เนื่องจากปอดกำลังพัฒนา ชอบเคลื่อนไหว อัตราการหายใจเร็วทำให้ได้รับสารพิษมากกว่าผูู้้้ใหญ่ในช่วงเวลาเท่ากัน) ผู้สูงอายุ (เนื่องจากร่างกายเสื่อมถอยตามวัย มีโอกาสเกิดโรคต่างๆ) สตรีตั้งครรภ์ (เสี่ยงแท้งหรือคลอดก่อนกำหนดรวมทั้งพัฒนาการและระบบสมองของทารกเนื่องจากรับมลพิษผ่่านทางรกเมื่อมารดาได้รับ) และผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง (เนื่องจากสัมผัสเป็นเวลานาน) จากการเฝ้าระวังโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ ระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 5 มี.ค. 2566 นพ.โอภาสกล่าวว่า พบผู้ป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศรวม 1,325,838 ราย กลุ่มโรคที่เจ็บป่วยสูงสุด ได้แก่ กลุ่มโรคทางเดินหายใจ 583,238 ราย กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ 267,161 ราย กลุ่มโรคตาอักเสบ 242,805 ราย กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมทั้งโรคทางสมอง 208,880 ราย (3 PlusNews, 2566: ออนไลน์)

การแก้ปัญหา PM2.5 ยังดูเหมือนอยู่ในม่านหมอกของฝุ่น เนื่องจากความคลุมเครือของการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ เช่น การฉีดน้ำขึ้นไปในอากาศ การทำฝนเทียมลดฝุ่น และการรณรงค์ให้ประชาชนสวมใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่นละอองได้ เป็นต้น แท้จริงแล้วการแก้ปัญหา PM 2.5 จำเป็นต้องทำความเข้าใจตั้งแต่ต้นเหตุของปัญหา อย่างไรก็ตาม พบความท้าทายของปัญหาเกิดจากพฤติกรรมของคนในสังคมทั้งในเขตเมืองและเขตชนบท ในเขตเมืองมีความท้าทายด้านโครงสร้างการผลิตด้านอุตสาหกรรมรถยนต์ และเครื่องจักรจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่ในเขตชนบทมีความท้าทายด้านเกษตรกรรม

การจัดทำร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ หรือเรียกสั้นๆ ว่า “พ.ร.บ. อากาศสะอาด” ขับเคลื่อนโดยเครือข่ายอากาศสะอาด หรือ Thailand CAN (Thailand Clean Air Network) เห็นถึงความสำคัญของการคุ้มครองสิทธิในชีวิต สิทธิในสุขภาพ และสิทธิของเด็กเป็นอย่างมาก จึงได้มีพัฒนาการเรียกร้องให้รัฐรับรองสิทธิ และความท้าทายอีกอย่าง คือ ความไม่เพียงพอของกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันในการเข้ามาป้องกัน ควบคุม และกำกับดูแลสาเหตุของปัญหา PM 2.5

ปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีจำนวนประชากรหนาแน่น และประเทศเหล่านี้มีวิธีการจัดการปัญหา สิงคโปร์มีกฎหมายว่าด้วยมลพิษข้ามแดน (Transboundary Haze Pollution Act 2014) ประเทศญี่ปุ่นออกมาตรการคุมเข้มการปล่อยมลพิษจากเครื่องยนต์ สาธารณประชาชนจีน มีการควบคุมการปล่อยมลพิษของโรงงานอุตสาหกรรม การใช้พลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเทศอังกฤษเคยประสบเหตุการณ์ The Great Smog ได้มีมาตรการลดการเผาเชื้อเพลิง เพิ่มระบบขนส่งสาธารณะ

ขณะที่ประเทศไทยแม้ว่าปัจจุบันประชาชนบางส่วนมีความตื่นตัวมากขึ้นในการตระหนักถึงความสำคัญว่าปัญหาฝุ่น PM 2.5 เกิดจากอะไร ส่งผลกระทบอย่างไร แต่การจะแก้ปัญหาฝุ่นได้ปะสบความสำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือในทางปฏิบัติของทุกคนและทุกภาคส่วน รวมถึงการวางแผนป้องกันปัจจัยทางธรรมชาติที่ควบคุมไม่ได้และการถอดบทเรียนมาตรการการแก้ปัญหาจากประเทศต่างๆที่เคยเผชิญ เพื่อเรียนรู้และร่วมกันแก้ปัญหานำอากาศที่สะอาดหวนคืนกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้ง


อ้างอิง

  • กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ. ดาวน์โหลดข้อมูลคุณภาพอากาศย้อนหลังทุกสถานี. http://air4thai.pcd.go.th/webV2/history/. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566
  • กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย. (2563).  คู่มือฉบับประชาชน การเฝ้าระวัง PM 2.5 อย่างไรให้    ปลอดภัย. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข   
  • กองประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ กรมอนามัย. (2563).  แนวทางการป้องกันและดูแลสุขภาพจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนสำหรับสถานพัฒนาเด็กปฐมวัย. นนทบุรี: กระทรวงสาธารณสุข   
  • กลุ่มเฝ้าระวังฝุ่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.  (ม.ป.ป.). เรียนรู้ อยู่กับฝุ่น PM2.5. https://www.chula.ac.th/wp- content/uploads/2019/10/chula-pm25-booklet-1.pdf. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566
  • IQ AIR. (2566). คุณภาพอากาศและการจัดอันดับเมืองที่มีมลพิษ. https://www.iqair.com/th/world-air-    quality-ranking. สืบค้นเมื่อ 6 เมษายน 2566
  • 3 PlusNews. (2566). แปลงคำขวัญเชียงใหม่ - เชียงราย หลัง PM 2.5 ปกคลุมเมือง. https://www.facebook.com/3PlusNews/posts/ pfbid031mMPQ7bzyKnJwTVWH15kaWcHQdX4AmMQz8H47JCXRGML8jAuQ9F2rZeMWQLifn5cl. สืบค้นเมื่อ 1 เมษายน 2566
  • 3 PlusNews. (2566). วิกฤตฝุ่นพิษ! ยอดป่วยพุ่ง ไม่ใช่แค่โรคทางเดินหายใจ 'หมอนิธิพัฒน์' ให้คำแนะนำ ท่อง "ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน". https://ch3plus.com/news/social/morning/338009. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566
  • Pitchaya K. (2566). เปิดวิธีกำจัดฝุ่นสไตล์สิงคโปร์ ใช้กฎหมายควบคุมมลพิษข้ามแดน จัดการกับแหล่งมลพิษทั้ง    ในและนอกประเทศ. https://brandinside.asia/singapore-transboundary-haze-pollution-act/. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566
  • Thailand Clean Air Network เครือข่ายอากาศสะอาด. (ม.ป.ป.). พ.ร.บ. อากาศสะอาด. https://thailandcan.org. สืบค้นเมื่อ 9 เมษายน 2566

 



CONTRIBUTORS

Related Posts
ภูมิแพ้ รู้สาเหตุ รู้ทางแก้

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

ติดรถ – รถติด ปลอดรถ – ลดพิษ

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th