The Prachakorn

ฝุ่นพิษ…ภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม


วรเทพ พูลสวัสดิ์

08 เมษายน 2564
818



ในช่วงที่สังคมไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำและวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้ประชากรในสังคมไทยมีสภาพความเป็นอยู่ที่แย่ลง ผู้คนยากจนมากขึ้น และขยายความเหลื่อมล้ำในสังคมเพิ่มขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชากรในกลุ่มผู้ที่ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำ เช่น แรงงานในภาคการผลิตอุตสาหกรรม คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง หรือผู้ที่มีรายได้น้อยในสังคม แต่นอกเหนือจากวิกฤตปัญหา 2 ปัญหาใหญ่ที่ต้องเผชิญในระยะยาวแล้ว อีกวิกฤตปัญหาหนึ่งที่ผู้คนในสังคมกำลังเผชิญอยู่และยังคงจะต้องเผชิญต่อไป ที่สำคัญกลุ่มผู้คน 2 กลุ่มแรกในสังคมดังที่ได้กล่าวข้างต้นย่อมที่จะได้รับผลกระทบหนักกว่ากลุ่มอื่นใดในสังคมจากวิกฤตปัญหาคือ “วิกฤตปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5” ในวารสารงานวิจัยทางด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมชิ้นหนึ่งระบุว่า ฝุ่นที่เกิดขึ้นเป็นอนุภาคหนึ่งที่มีขนาดเล็กเส้นผ่านศูนย์กลางอากาศพลศาสตร์เท่ากับหรือน้อยกว่า 2.5 ไมครอน และด้วยอนุภาคฝุ่นที่มีขนาดเล็กละเอียดมากจนไม่สามารถมองเห็น เมื่อได้สูดดมอากาศที่มีฝุ่นขนาดเล็กเป็นองค์ประกอบเข้าไปในร่างกาย ผ่านถุงลมเล็กภายในปอด ซึ่งเป็นอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ ฝุ่นขนาดเล็กจะสามารถแพร่เข้าสู่กระแสเลือดในระบบหมุนเวียนโลหิตได้อีก ดังนั้น หากคนสูดดมฝุ่นขนาดเล็กเข้าไปในร่างกายเป็นระยะเวลานาน ฝุ่น PM2.5 จะเข้าไปทำให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจและระบบหมุนเวียนโลหิตเสื่อมสภาพลงจนก่อให้เกิดโรคได้ เช่น  โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งปอด 1

ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้น แม้ไม่ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจโดยตรงให้กับผู้คนในสังคม จนก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำในแง่รายได้ แต่เป็นปัญหาที่สร้างความเหลื่อมล้ำทางสังคมในแง่สุขภาพและสิ่งแวดล้อมแทน ซึ่งผู้คนจำนวนมากคงสงสัยว่าปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 เมื่อถูกนำโยงเข้ามากับประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำ สามารถเป็นภาพสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของผู้คนในสังคมได้อย่างไรบ้าง ผู้เขียนจะวิเคราะห์และอธิบายออกมาให้กระซับสั้น ๆ พร้อมทั้งมีการยกตัวอย่างจากสิ่งใกล้ตัวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ผู้คนได้เห็นภาพถึงมิติความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น อันเนื่องมาจากฝุ่นพิษ PM2.5 ที่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับอีกเช่นเดียวกันว่าปัญหาดังกล่าวที่เกิดเป็นผลพวงจากความล้มเหลวของภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง และรัฐบาล ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 จนก่อให้เกิดภาพช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนในสังคมส่วนใหญ่ต้องเผชิญและแบกรับปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อยู่ทุกวัน และยังคงจะต้องแบกรับปัญหานี้ต่อไปอีกในอนาคตข้างหน้าที่ไม่รู้ว่า อนาคตหรือทิศทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ในระยะยาว จนนำมาซึ่งช่องว่างของความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมในสังคมไทยจะดีขึ้นกว่าเดิมหรือคลี่คลายลงได้อย่างไรบ้าง

ความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพ

จากที่ได้กล่าวไปในตอนต้นถึงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บใดบ้าง แน่นอนว่าในสังคมไทยส่วนใหญ่ สัดส่วนประชากรที่มีฐานะยากจนหรือมีรายได้น้อยย่อมมีจำนวนมากและเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศนี้ และอย่างที่ได้กล่าวไปตอนต้นว่าในกลุ่มประชากรที่มีฐานะยากจนหรือมีรายได้น้อย เมื่อพิจารณาจากบริบททางด้านอาชีพ เช่น แรงงานที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม คนขับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง พนักงานกวาดถนน ผู้ที่ไม่มีรถยนต์ส่วนตัวและต้องอาศัยรถโดยสารและ/หรือเรือโดยสารเดินทางไปมา รวมไปถึงเกษตรกรเอง เป็นต้น จะเป็นกลุ่มคนที่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงทางด้านสุขภาพสูงกว่ากลุ่มคนที่ประกอบอาชีพอื่นที่ทำงานอยู่ภายในตึกอาคารที่เป็นระบบปิด เพราะจะต้องสูดดมอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษ PM2.5 ในปริมาณมากที่อยู่ภายในชีวิตประจำวันเข้าไปในร่างกายอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน แม้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้อาจจะพอมีรายได้ที่สามารถหาซื้อหน้ากากที่นำมาใช้ป้องกันฝุ่นพิษ PM2.5 ได้ แต่คงไม่สามารถช่วยให้กลุ่มคนเหล่านี้มีสุขภาพทางด้านร่างกายที่ดีหรือปกติได้ดีไปกว่ากลุ่มคนบางกลุ่มที่มีรายได้สูงและประกอบอาชีพที่ไม่ต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษ PM2.5 เหล่านี้เลย พร้อมทั้งยังสามารถหาอุปกรณ์มาใช้ป้องกันและลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพได้อีก อย่างการซื้อเครื่องกรองอากาศที่มีราคาสูงมาใช้ ในขณะที่กลุ่มคนกลุ่มแรกที่มีรายได้น้อยและต้องประกอบอาชีพในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยมลพิษทางอากาศจนส่งผลต่อสุขภาพ แทบไม่มีทางเลือกที่จะเลี่ยงปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เกิดขึ้น หรือเพียงแค่การหาซื้ออุปกรณ์ที่มีคุณภาพอีกขั้นมาใช้ในการป้องกันที่มีราคาสูงเกินนั้น ถือว่าเกินกำลังฐานะทางการเงินที่กลุ่มคนบางกลุ่มจะพอหาซื้อได้แล้ว

ภาพจาก กรุงเทพธุรกิจ. (4 เมษายน 2564). แพทย์แนะคนทำงานกลางแจ้ง ก่อนออกจากบ้าน 'ใส่หน้ากาก เช็คค่าฝุ่น'. 2564. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/930057

ภาพจาก บริษัท พีเพิลมีเดีย จำกัด. (4 เมษายน 2564). กรมอนามัย ห่วงคนทำงานนอกอาคารเจอฝุ่นละออง. 2562. สืบค้นจาก https://cheechongruay.smartsme.co.th/content/23464#    

ความเหลื่อมล้ำทางด้านสิ่งแวดล้อม

ในงานเขียนของพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เรื่อง “เมือง-กิน-คน” ได้กล่าวถึงสุขภาพของผู้คนที่เชื่อมโยงกับสิ่งแวดล้อมว่า “เราเชื่อว่าสุขภาพจะดีได้ก็ต้องออกแบบสิ่งแวดล้อมที่ทำให้สุขภาพดีด้วย สิ่งแวดล้อมที่จะพูดวันนี้คือเรื่องของเมือง”2  เมืองที่อุดมไปด้วยพื้นที่สิ่งแวดล้อมที่มีความเหมาะสม มีอากาศที่บริสุทธิ์ และระบบการคมนาคมขนส่งที่ภาครัฐเอื้อสนับสนุนให้เป็นการคมนาคมขนส่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้คน ปราศจากฝุ่น PM2.5 จะช่วยให้ผู้คนในสังคมทุกคนทุกกลุ่มมีสุขภาพดี แม้ไม่ต้องมีรายได้สูงมากและอาชีพการงานที่สะดวกสบายกว่า แต่ผู้คนในสังคมทุกคนต่างได้รับอากาศสะอาดบริสุทธิ์ในการหายใจ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้คนในสังคมทั่วทุกพื้นที่ควรจะได้รับอย่างเท่าเทียม3  อีกทั้งไม่ต้องไปลงทุนหาซื้อหน้ากากมาใส่ป้องกันฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นการสูญเสียรายได้โดยใช่เหตุ โดยเฉพาะกลุ่มผู้คนที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตามภายใต้บริบทสังคมโลกและสังคมไทยปัจจุบันที่เมืองต่างมีการขยับขยายตัวสูงและรวดเร็ว แม้ภาครัฐไทยจะพยายามมีนโยบายการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง แต่ยังคงไม่สามารถดำเนินการได้ทันตามสภาพแวดล้อมเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกับภาครัฐไทยยังคงมองข้ามประเด็นเรื่องนี้ และหันไปมุ่งสนับสนุนการก่อสร้างตึกอาคารต่าง ๆ เป็นจำนวนมากที่จะอยู่ในมือของกลุ่มคนที่มีฐานะรายได้ทางการเงินในสังคมดีกว่ากลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อย และทำลายพื้นที่สีเขียว ทั้งที่การมีต้นไม้มาก ๆ จะเป็นการช่วยดูดซับฝุ่นพิษ PM2.5 ที่เป็นมลพิษทางอากาศให้น้อยลง ลดความเสี่ยงต่อการก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของ University of Glasgow เมื่อปี พ.ศ. 2551 ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง “Green Spaces Close Health Gap” จากการศึกษาพบว่า "พื้นที่สีเขียว" เช่น สวนสาธารณะ ป่าไม้ และสนามเด็กเล่น พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ที่มีกลุ่มผู้คนที่มีรายได้น้อยอยู่ในพื้นที่และได้เข้ามาใช้พื้นที่จะมีอัตราการตายและป่วยจากโรคต่าง ๆ ทั้งโรคปอด และโรคที่เกี่ยวกับระบบหมุนเวียนโลหิต ตลอดจนฆ่าตัวตาย ต่ำกว่ากลุ่มคนในพื้นที่ที่มีพื้นที่สีเขียวน้อยกว่าหรือไม่มีเลย4  ดังนั้นการมีพื้นที่สภาพแวดล้อมอย่างพื้นที่สีเขียว และการออกแบบและจัดการเมือง ตลอดจนพื้นที่โดยรอบเมืองให้มีสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมสอดรับกับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน จะช่วยให้กลุ่มคนในสังคมทุกคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มผู้ที่มีรายได้น้อยได้รับสุขภาพที่ดีเฉกเช่นเดียวกับผู้คนที่มีฐานะทางการเงินและอาชีพดี ไม่มีความเหลื่อมล้ำทางด้านสิ่งแวดล้อมในสังคม เพราะผู้คนทุกคนในสังคมต่างได้สูดอากาศบริสุทธิ์เหมือนกันทุกคน

หากวิกฤตปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังเป็นระบบอย่างต่อเนื่องและครอบคลุมมิติเรื่องต่าง ๆ โดยเริ่มแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นเหตุควบคู่กับปลายเหตุ ผู้คนในสังคมจะได้ไม่ต้องมาเผชิญกับวิกฤตปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเหมือนอย่างที่เป็นอยู่ พร้อมทั้งสุขภาพชีวิตมีความยั่งยืนดีขึ้น


อ้างอิง

  1. Fold, N. R., Allison, M. R., Wood, B. C., Thao, P. T. B., Bonnet, S., Garivait, S., Kamens, R., and Pengjan, S. (2020). An Assessment of Annual Mortality Attributable to Ambient PM2.5 in Bangkok, Thailand. International Journal of Environmental Research and Public Health. 17(7298). PP. 1-13.
  2. พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2560). เมือง-กิน-คน. นนทบุรี: ศูนย์ศึกษามหานครและเมือง มหาวิทยาลัยรังสิต.
  3. รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ (1 เมษายน 2564). ฝุ่นพิษ PM2.5 และความเหลื่อมล้ำของเมืองใส่หน้ากาก. 2562. สืบค้นจาก https://www.greenpeace.org/thailand/story/1979/air-pollution-and-inequality/
  4. University of Glasgow. (2008). Green Spaces Close Health Gap. Retrieved April 1, 2021. From https://www.gla.ac.uk/news/archiveofnews/2008/november/headline_97505_en.html

ภาพประกอบจาก freepik.com



CONTRIBUTOR

Related Posts
ทางช้างเผือก

วรชัย ทองไทย

แรด

วรชัย ทองไทย

ขยะมือสองกับนักรณรงค์ Freegans

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th