กระแสการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของประชากรอยู่คนเดียว กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่ต้องจับตามอง และได้จุดประกายให้ผู้เขียนศึกษาวิจัย ทำให้พบว่า ผู้สูงอายุหญิงคือประชากรกลุ่มหนึ่งที่มีสัดส่วนของการอยู่คนเดียวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา โดยปรากฏการณ์ผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวไม่ได้เกิดขึ้นอย่างโดดๆ แต่เกี่ยวข้องกับมิติเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ประวัติศาสตร์ และบริบททางสังคมอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ตัวผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวเหล่านั้น ดังนั้นการทำความเข้าใจจึงต้องมองอย่างรอบด้านและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวม ทั้งตัวผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวและระบบสังคม อันจะทำให้การกำหนดนโยบายสังคมในการรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น
ปรากฏการณ์ผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียว มีความเกี่ยวข้องกับความทุกข์ทางสังคม (social suffering) อันเกิดจากอัตลักษณ์ทางสังคมที่ไม่ใช่อัตลักษณ์กระแสหลัก หลายๆ อัตลักษณ์ มาทับซ้อนกัน ในแต่ละบุคคล จึงมีความแตกต่าง และหลากหลาย อาทิ เพศ วัย ชนชั้น การศึกษา อาชีพ สถานภาพสมรส รูปแบบการอยู่อาศัย ความคิด ความเชื่อที่เป็น/ไม่เป็นไปตามกรอบบรรทัดฐานของสังคมกระแสหลัก จึงนำไปสู่ความทุกข์มากยิ่งขึ้น (double suffering) ทั้งความทุกข์จากความต้องการจำเป็น และความทุกข์จากการเพิกเฉย ส่งผลให้ผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวมีความรู้สึกอ่อนแอ ไร้พลัง ไร้ตัวตน ไร้ศักดิ์ศรี เป็นผู้เสียเปรียบ จึงเป็นเงื่อนไขของการไม่ได้รับความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในการดำรงชีวิต ซึ่งมีความแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล จึงเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาและสร้างเสริมพลังอำนาจสู่การเป็นผู้ที่มีพฤฒิพลัง
ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยของผู้เขียน เรื่อง “ประสบการณ์ชีวิตผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียว กรณีศึกษาจังหวัดนครปฐม” มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจประสบการณ์ชีวิตผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวที่เคยมีร่วมกันในอดีต-ปัจจุบัน รวมทั้งวิธีคิด ทัศนคติในการจัดการตนเองให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่คนเดียวได้อย่างมีพฤฒิพลัง เก็บรวบรวมข้อมูลจากผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียว จำนวน 21 คน ครอบคลุมวัยต้น (60-69 ปี) วัยกลาง (70-79 ปี) และวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) จากทุกอำเภอในจังหวัดนครปฐม โดยวิธีการสัมภาษณ์ระดับลึก ผลการศึกษา สามารถจำแนกผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวได้ 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่มีพฤฒิพลังระดับมาก (จำนวน 8 คน) ระดับปานกลาง (จำนวน 5 คน) และระดับน้อย/ไม่มี (จำนวน 8 คน) ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาและสร้างเสริมพลังอำนาจที่แตกต่างกัน
ได้รับอนุญาตจากเจ้าของรูปให้เผยแพร่
โดยผลการศึกษา สรุปได้ว่า กลุ่มที่มีพฤฒิพลังระดับมาก และปานกลาง กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการอยู่คนเดียวค่อนข้างน้อย/ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ยอมรับความทุกข์ทางสังคมที่ประสบแต่เพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นผู้ที่มีอิสระทางความคิดในการกำหนดวิถีชีวิตของตนเองในฐานะผู้กระทำการที่จะปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทางสังคมที่กำลังเผชิญ จากการทำให้การดำเนินชีวิตในแต่ละช่วงเวลามีกิจกรรมทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อคงความมีคุณค่าและอยู่ในสังคมได้อย่างสมศักดิ์ศรีเช่นเดียวกับคนอื่น จนทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองไม่ได้อยู่คนเดียวอย่างแท้จริง
ข้อสรุปนี้สะท้อนได้ว่าความทุกข์ทางสังคม เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นพลวัตร ขึ้นอยู่กับสำนึกรู้คิดของผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวแต่ละคน การพัฒนาและสร้างเสริมพลังอำนาจ จึงควรมุ่งเน้นการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวกลุ่มนี้ได้ทำกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่องตามความสนใจ ความต้องการ และความถนัดหรือความเชี่ยวชาญที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะการใช้เทคโนโลยีมาช่วยต่อยอดงานเดิม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม เกิดรายได้อย่างยั่งยืน
ส่วนกลุ่มที่มีพฤฒิพลังระดับน้อย/ไม่มี มีจำนวนทั้งสิ้น 8 คน เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการอยู่คนเดียวมากที่สุด เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีความเชื่อว่าความทุกข์ทางสังคมที่ตนเองประสบอยู่นั้น มาพร้อมกับความน่าเวทนาและน่าสงสาร ทำให้สูญเสียความนับถือตนเอง จึงยอมรับว่าตนเองเป็นต้นเหตุของความทุกข์ทางสังคมโดยดุษฎี ทำให้มีความรู้สึกว่าตนเองต่อสู้กับความทุกข์ทางสังคมนั้นเพียงคนเดียวอย่างแท้จริง การจัดการตนเองเพื่อเอาตัวรอดในแต่ละวัน จึงเป็นไปตามยถากรรม การพัฒนาและสร้างเสริมพลังอำนาจ ควรมุ่งเน้นการสร้างเสริมความเข้มแข็งทางด้านจิตใจ เช่น การส่งเสริมความภาคภูมิใจและความมีคุณค่าในตนเอง การส่งเสริมความเชื่อมั่นและยอมรับในตนเอง เนื่องจากผู้เขียนเชื่อว่าผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวกลุ่มนี้ เป็นผู้มีตัวตน มีเหตุผล มีความสามารถในการคิด ตัดสินใจ และกระทำการใดๆ ที่จะทำให้ตนเองมีพลังบวกในการเปลี่ยนแปลงตนเองได้เช่นเดียวกับกลุ่มที่มีพฤฒิพลังระดับมากและปานกลาง
ข้อค้นพบสำคัญที่สะท้อนออกมา เป็นสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารไปยังผู้กำหนดนโยบายสังคมและหน่วยงานภาคีเครือข่ายที่นำนโยบายไปปฏิบัติ เพื่อการพัฒนาและสร้างเสริมพลังอำนาจผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวสู่การเป็นผู้สูงอายุที่มีพฤฒิพลัง ในบริบทใหม่ๆ ที่ไม่เหมือนเดิม ด้วยการใช้เสียงและประสบการณ์ชีวิตผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียว มาบอกเล่าความทุกข์ทางสังคมในรูปแบบต่างๆ ที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มองเห็นความสำคัญของทุกประเด็นปัญหาอย่างเชื่อมโยงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับระบบสังคมที่ผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวดำรงชีวิตอยู่ อันจะทำให้ทุกปัญหาได้รับการแก้ไขไปพร้อมๆ กัน จึงไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
ความท้าทายท้ายสุด คือกลุ่มผู้สูงอายุหญิง อยู่คนเดียว วัยปลาย (อายุ 80 ปีขึ้นไป) ในกลุ่มที่มีพฤฒิพลังระดับน้อย/ไม่มี เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากไม่มีลูก หลาน ญาติ-พี่น้อง อาศัยอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัดเดียวกัน อันเนื่องมาจากการตายและการย้ายถิ่น ทำให้รู้สึกว่าตนเองถูกทอดทิ้งให้อยู่คนเดียว และตายเพียงคนเดียว ในวันที่ร่างกายมีโรคประจำตัวรุมเร้า ต้องพบหมอสม่ำเสมอเพื่อรับยาและตรวจสุขภาพ มีเพียงวัดและพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งพิงทางใจในยามที่มีความทุกข์ ท่ามกลางความคุ้นชินของคนในชุมชนที่มองว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว จึงไม่มีใครมาใส่ใจ ทำให้ต้องการแหล่งพึ่งพิงทางใจสูง การพัฒนาและสร้างเสริมพลังอำนาจ จึงควรมุ่งเน้นการสร้างแหล่งพึ่งพิงทางใจเพื่อให้การดูแลเป็นรายครัวเรือน อาทิ การตั้งเครือข่ายวัด/พระสงฆ์ เยี่ยมบ้าน (พบพระ) การมีหมอมาเยี่ยมบ้านเพื่อช่วยดูแลสุขภาพร่างกาย (พบแพทย์) และการสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวเยี่ยมบ้าน เพื่อดูแลช่วยเหลือด้านความต้องการจำเป็น รวมทั้งการส่งเสริมให้ทำกิจกรรมที่เน้นความภาคภูมิใจในตนเอง (พบเพื่อน)
ผู้เขียนขอเป็นตัวแทน ในการส่งเสียงให้ผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียวทั้ง 3 กลุ่มนี้ ก้องกังวาน กระจายไปยังผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย มองเห็น เข้าใจ และเข้าถึงการพัฒนาและสร้างเสริมพลังอำนาจผู้สูงอายุหญิงอยู่คนเดียว เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ โอกาสใหม่ และองค์ความรู้ใหม่....สู่ความมีพฤฒิพลัง
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ปราโมทย์ ประสาทกุล
เพ็ญพิมล คงมนต์
อริสรา ปรีเปรมใจ
ปราโมทย์ ประสาทกุล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
จงจิตต์ ฤทธิรงค์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ณปภัช สัจนวกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล