The Prachakorn

สูงวัยอยู่คนเดียว ตายคนเดียวอย่างเดียวดาย


ศุทธิดา ชวนวัน

26 ตุลาคม 2566
5,983



สัดส่วนของผู้สูงอายุไทยที่อยู่ตามลำพังคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเร็วมาก และเริ่มส่งสัญญาณที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องการไม่มีผู้ดูแลในบั้นปลายชีวิต จากการสำรวจประชากรสูงอายุในประเทศไทยของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในอดีตเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวมีอยู่ไม่ถึง 5% แต่ในปี 2464 ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปจนถึง 12% แน่นอนว่า ในอนาคตแนวโน้มการอยู่คนเดียวของผู้สูงอายุจะเพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก หากประเทศไทยยังไม่มีระบบรองรับภาวะสูงวัยโดดเดี่ยว

ผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว โดยเฉพาะอยู่คนเดียวแบบไร้ญาติขาดมิตร หรือเรียกว่า อยู่คนเดียวอย่างแท้จริง โดยไม่มีครอบครัว ญาติพี่น้อง ก็อาจจะต้องปรับเปลี่ยนจาก “กลุ่มเสี่ยง” เพราะไม่มีคนดูแล กลายเป็น “กลุ่มเปราะบาง”โดยทันที ไม่ว่าจะเป็นเปราะบางทางด้านสุขภาพกาย ใจ ความมั่นคงในชีวิต ที่อยู่อาศัย และการมีผู้ดูแล จนกลายเป็นวิกฤตประชากร และเป็นปัญหาสังคมที่ต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรกๆ รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุ ควรถูกนิยามไว้เพื่อให้เกิดการเฝ้าระวัง

จาก “ไร้ญาติขาดมิตร” กลายเป็น “ศพไร้ญาติ”

คำว่า “ไร้ญาติขาดมิตร” เป็นคำหนึ่งที่เคยได้ยินกันมานาน แต่เป็นคำที่ทำให้เรามองเห็นภาพได้ชัดเจนว่า การไม่มีใครจริงๆ แบบไม่มีญาติพี่น้อง หรือลูกหลาน ไม่มีคนพึ่งพายามแก่ชรา ไม่มีคนดูแลในบั้นปลายชีวิต จนท้ายที่สุดเมื่อเสียชีวิตลง ต้องกลายเป็นศพผู้สูงอายุไร้ญาติ เป็นเรื่องที่น่าหดหู่ใจยิ่งนัก

ปัจจุบันเราจะได้ยินข่าวเรื่องผู้สูงอายุเสียชีวิตอยู่คนเดียวในบ้านจากสื่อต่างๆ กว่าจะพบศพผู้สูงอายุท่านนั้น ก็เป็นเวลาหลายวันเพราะเสียชีวิตโดยไม่มีใครทราบ เนื่องจากไม่มีลูกหลาน หรือญาติพี่น้องพบเห็นความผิดปกติของการหายไป เช่นเดียวกับวิกฤตสังคมสูงวัยในประเทศญี่ปุ่น ที่ถือได้เป็นประเทศแรกๆ ในเอเชียที่มีวัฒนธรรมแบบ “ตัวคนเดียว” (Solo Culture) หรือเรียกว่า “Ohitorisama” (โอฮิโตริซามะ) ผู้สูงอายุญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยที่ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวคนเดียว และจากโลกนี้ไปโดยไม่มีใครรู้

รูป: ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวรู้สึกเหงา
ที่มา: https://www.freepik.com/

“สุขภาพใจ” สำคัญไม่แพ้ไปกว่า “สุขภาพกาย”

การอยู่คนเดียวย่อมส่งผลกระทบด้านสุขภาพทางจิตใจของผู้สูงอายุ ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกเหงา กังวล ซึมเศร้า สิ้นหวัง ไร้คุณค่า  ข้อมูลจากงานวิจัยในปี 2564* สะท้อนว่า หนึ่งในสี่ของผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว มีความรู้สึก “กังวลกับการอยู่คนเดียว และกลัวตายคนเดียว”
    “ไว้มาหาป้าอีกนะ ป้าจะได้ไม่เหงา”
    “หนูมาคุยกับป้าบ่อยๆ สิ ป้าไม่มีใครเลย”

ประโยคเหล่านี้ มักได้ยินบ่อยครั้ง เมื่อครั้งที่นักวิจัยได้ลงพื้นที่พูดคุยกับผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว นัยยะที่แฝงมากับบทสนทนาดังกล่าว ได้ทำให้นักวิจัยอย่างพวกเรารู้สึกถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ นั่นคือ ความรู้สึกเหงา เศร้าใจ อยากมีคนคุยด้วย เป็นภาวะที่เรียกว่า “empty nest syndrome” หรือภาวะรังที่ว่างเปล่า ซึ่งผู้สูงอายุจะเกิดความรู้สึกเหงา ซึมเศร้า อันเนื่องมาจากการอยู่คนเดียว โดยมีสาเหตุมาจากการย้ายถิ่นของลูกหลานการอยู่เป็นโสด  หรือการเสียชีวิตของคู่สมรส ผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว ในวันที่มีอายุสูงขึ้น และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ จะมีความต้องการการดูแลในด้านต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านจิตใจ รวมถึงต้องการผู้ดูแล ซึ่งส่งผลต่อความรู้สึกทางจิตใจที่จะอยู่ต่อไปอย่างมีเป้าหมาย

ดังนั้นในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ทุกภาคส่วนควรให้ความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ เอกชน รวมถึงภาคประชาสังคม แต่ควรต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบหลัก เพื่อทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้เกิดระบบการดูแลผู้สูงอายุให้เข้าถึงประชากรทุกกลุ่มอย่างทั่วถึง ครบถ้วน และเท่าเทียม โดยควรเน้นเรื่องระบบบริการทางสุขภาพและสังคม เพื่อรองรับกับการอยู่คนเดียวอย่างโดดเดี่ยวของผู้สูงอายุ

นอกจากการมีระบบบริการเพื่อดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวแล้วภาครัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจใช้วิธีการขึ้นทะเบียนคนที่อยู่คนเดียวที่มีอายุใกล้ 60 ปี ที่กำลังจะก้าวไปสู่การเป็นผู้สูงอายุ และมีความตั้งใจว่าจะอยู่คนเดียวในบั้นปลายชีวิต เพื่อเป็นการรองรับการดูแลระยะยาว นอกจากนี้ ควรบรรจุกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียว ให้เป็นหนึ่งในกลุ่มเปราะบางเพื่อเป็นการเฝ้าระวังและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุกลุ่มนี้อย่างรอบด้าน


*ข้อมูลงานวิจัยจาก: ศุทธิดา ชวนวัน, กาญจนา เทียนลาย, ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น, สิทธิชาติ สมตา และวิชาญ ชูรัตน์. (2565). โครงการการเข้าถึงบริการทางสังคมของประชากรในครัวเรือนก่อนวัยสูงอายุและผู้สูงอายุที่มีรูปแบบการอยู่อาศัยต่างกัน เพื่อนำไปสู่แนวทางการสนับสนุนการบริการที่เหมาะสม. นครปฐม: สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล.



CONTRIBUTOR

Related Posts
ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ดูแลผู้ดูแลสักนิด

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,อารี จำปากลาย

ครอบครัวของเด็กซีอัลฟา

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

คุกโลก......ล้น

อมรา สุนทรธาดา

สังคมสูงวัย อย่ามองแค่อายุ

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th