The Prachakorn

การส่งเสริมการทำงานของผู้สูงอายุ: มาลองกำหนด "เป้าหมาย" กัน


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

14 มกราคม 2564
789



ก่อนหน้านี้ ผู้เขียนได้เขียนบทความ "60...ใช่ว่าต้องหยุดทำงาน" เพื่อกระตุกความคิดว่า ที่อายุ 60 ปี ซึ่งเป็นขวบปีของการกลายเป็นผู้สูงอายุ ตามนิยามของสังคมและความเข้าใจของคนทั่วไปในปัจจุบัน ไม่น่าจะใช่อายุที่คนไทยจำเป็นต้องเกษียณอายุ หยุดทำงาน หรือออกจากกำลังแรงงาน ด้วยเหตุผลเพียงว่ากลายเป็นผู้สูงวัยแล้วเท่านั้น

การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสทำงาน หรือมีงานทำที่ยาวนานขึ้น ได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมายาวนานในการสร้างประโยชน์ สร้างรายได้ ให้ทั้งต่อตัวเอง ต่อครอบครัว รวมถึงสังคมภายใต้สถานการณ์ที่ประเทศได้เข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน นับเป็นมาตรการที่สำคัญและควรได้รับการส่งเสริมสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ซึ่งที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมในไทย ก็ใช่ว่าจะไม่ตระหนัก และต่างก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ โดยได้มีการดำเนินโครงการ หรือมาตรการ รวมถึงนโยบายในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการจ้างงานและการมีงานทำของผู้สูงอายุเพื่อขยายระยะเวลาการอยู่ในกำลังแรงงานของประชากรไทยในช่วงวัยสูงอายุให้ยาวนานขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมีข้อสังเกตหนึ่งว่า ที่ผ่านมา เมื่อเราพูดถึงการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ ดูเหมือนเรายังขาดเป้าหมายที่ชัดเจนว่า ในที่นี้ ผู้สูงอายุที่ควรได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีงานทำหรือทำงานยาวนานขึ้นนั้น ควรเป็นกลุ่มไหน รวมถึงยังขาดการกำหนดตัวชี้วัดที่ชัดเจน เพื่อใช้ในการติดตามและประเมินผลดูว่า ผลของโครงการ มาตรการ และนโยบายต่าง ๆ เหล่านั้น สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ควรเป็นได้มากน้อยเพียงใด

เมื่อช่วงก่อนปีใหม่ (สิ้นปี 2563) ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับท่านอาจารย์ปราโมทย์ ประสาทกุล ซึ่งอาจารย์ได้หยิบยกประเด็นสถานการณ์และงานวิจัยทางด้านผู้สูงอายุของไทยขึ้นมาพูดคุย และให้มุมมองความคิดเห็นที่น่าสนใจในหลายเรื่อง หนึ่งในนั้น เป็นเรื่องการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุที่เราเห็นตรงกันว่า ประเทศไทยน่าจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการทำงานในเรื่องนี้ที่ชัดเจนมากกว่าที่เป็นอยู่

ในบทความนี้ ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอข้อมูลและความคิดเห็นที่อาจจะเป็นประโยชน์ในเรื่องนี้ เพื่อเป็นการจุดประเด็นให้เราได้มีโอกาสคิดและอาจได้นำไปสู่การพิจารณากำหนดเป้าหมายการดำเนินการของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในอนาคตต่อไป

เกี่ยวกับสถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุไทย เราพบว่า ในปี 2562 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ประมาณ 1 ใน 3 (ร้อยละ 34.5) ที่ยังคงเป็น "ผู้มีงานทำ" และเมื่อจำแนกดูเป็นรายกลุ่มอายุ จะพบว่า สัดส่วนดังกล่าวนี้ยังคงค่อนข้างสูงในช่วงอายุ 60 - 64 ปี อยู่ที่ประมาณร้อยละ 55 และลดลงเรื่อย ๆ ตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุ ซึ่งผู้สูงอายุ 60 - 64 ปี1) กลุ่มนี้นี่เองที่ผู้เขียนคิดว่า เราน่าจะกำหนดให้เป็น “ประชากรกลุ่มเป้าหมาย” ในการดำเนินมาตรการและนโยบายในการส่งเสริมการมีงานทำ เพื่อขยายอายุการทำงานของผู้สูงอายุไทย (อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า ให้ละทิ้งความสำคัญกับแรงงานสูงอายุ 65 ปีขึ้นไปแต่อย่างใด)

รูป 1 สถานการณ์การทำงานของผู้สูงอายุ 60-64 ปี (ทั้งหมดประมาณ 4 ล้านคน) และเหตุผลของผู้ที่ไม่ทำงาน

ที่มา ประมวลโดยผู้เขียน จากข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. 2562 (ไตรมาส 3) สำนักงานสถิติแห่งชาติ

เหตุผลสนับสนุนความคิดดังกล่าว มาจากข้อเท็จจริงปัจจุบันที่ผู้สูงอายุในช่วงวัยนี้ (60-64 ปี) จำนวนมากยังเป็นกลุ่มที่มีพลัง มีสุขภาพดีและมีความพร้อมในการทำงาน ทั้งทางร่างกายและจิตใจ แต่หลายคนกลับหยุดทำงาน เลิกทำงาน หรือต้องออกจากกำลังแรงงานด้วยเหตุผลการหมดสัญญาจ้าง เกณฑ์การเกษียณอายุการทำงานของภาครัฐ หรือแม้แต่จากปัจจัยมโนทัศน์ทางสังคมที่มักทำให้คนคิดว่าอายุ 60 ปี เป็นวัยที่ควรพักผ่อนหรือหยุดทำงานได้แล้ว จากผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ. 2562 (ไตรมาส 3) เลือกมาเฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ 60-64 ปี ที่ไม่ได้ทำงาน ซึ่งมีประมาณร้อยละ 45 ของประชากรในกลุ่มอายุนี้ทั้งหมด เกี่ยวกับเหตุผลในการที่ไม่ได้ทำงาน พบว่า มากกว่าครึ่ง ให้เหตุผลว่าเพราะ "ชรา" และ "เกษียณอายุ/ต้องการพักผ่อน"  (ร้อยละ 37.6 และ 20.2 ตามลำดับ)  โดยมีเพียงร้อยละ 8.6 เท่านั้น ที่มาจากสาเหตุข้อจำกัด "การป่วยหรือพิการจนทำงานไม่ได้" ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า ปัญหาสุขภาพ หรือปัญหาความพิการเป็นอุปสรรคในการทำงานของผู้สูงอายุ 60-64 ปี เพียงจำนวนไม่มาก แต่เหตุผลที่ต้องหยุดทำงาน หรือเลือกที่จะหยุดทำงานนั้น มาจากสาเหตุอื่นเสียมากกว่า ซึ่งหากเราสามารถไปปลดล็อคหรือเปลี่ยนแปลงในบางเรื่องได้ ทั้งในเรื่องที่เป็นเชิงระบบ (เช่น เกณฑ์กำหนดอายุเกษียณของภาครัฐ หรือกำหนดการหมดสัญญาจ้างในภาคเอกชน) และในเรื่องที่เป็นมุมมองทางสังคม (เช่น มุมมองในเรื่องความชรา และทัศนคติต่อการทำงานหลังอายุ 60 ปี ขึ้นไป) ก็น่าที่จะสามารถช่วยขยายอายุการทำงานและส่งเสริมการมีงานทำของประชากรในช่วงอายุ 60-64 ปี ได้เพิ่มขึ้นมาก ซึ่งเมื่อประชากรในช่วงอายุนี้มีการทำงานเพิ่มมากขึ้น ภาพรวมการทำงานของผู้สูงอายุ60 ปีขึ้นไปทั้งหมดก็ย่อมเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ทั้งในปัจจุบันและระยะยาว 

คำถามถัดมา หากเราเลือกที่จะกำหนดกลุ่มผู้สูงอายุ 60-64 ปี เป็นประชากรกลุ่มเป้าหมายหลักของการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุแล้ว ตัวชี้วัดและเป้าหมายเพื่อใช้ในการติดตามและประเมินความสำเร็จน่าจะเป็นอะไร และควรเป็นเท่าใด

ในข้อนี้ ผู้เขียนคิดว่า เราสามารถใช้ "ร้อยละของผู้มีงานทำในกลุ่มประชากรอายุ 60-64 ปี" เป็นตัวชี้วัดได้ จากข้อมูลในปี 2562 สัดส่วนนี้อยู่ที่ร้อยละ 55 ซึ่งเราอาจจะลองตั้งเป้าหมายง่าย ๆ ของมาตรการและนโยบายในการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ เป็นให้สามารถเพิ่มสัดส่วนผู้มีงานทำในกลุ่มอายุ 60-64 นี้ สูงขึ้นเป็นร้อยละ 60 ให้ได้ (โดยอาจจะกำหนดเป็นเป้าหมายของแผน 3 หรือ 5 หรือ 10 ปี ก็แล้วแต่ความเหมาะสมซึ่งต้องพิจารณากันในรายละเอียด) ซึ่งหากกำหนดตามนี้ ในภาพรวมเราก็จะทราบว่า จะต้องเพิ่มสัดส่วนผู้มีงานทำในกลุ่มอายุ 60 - 64 ปี ให้ได้อย่างน้อย “ร้อยละ 5” (จากร้อยละ 55 เป็น 60) ซึ่งจากข้อมูลการคาดประมาณจำนวนประชากรของประเทศไทย2) เรามีประชากรอายุ 60 - 64 ปี รวมทั้งสิ้นประมาณ 4 ล้านคนหมายความว่า จำนวนผู้ที่มีงานทำอายุ 60-64 ปี ณ ปัจจุบัน ก็จะมีประมาณ 2.2 ล้านคน (หรือ ที่สัดส่วนร้อยละ 55) หากเราต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้มีงานทำในประชากรกลุ่มอายุนี้อีกร้อยละ 5 ก็หมายความว่า ต้องเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่ยังคงทำงาน หรือมีงานทำให้ได้อีกอย่างน้อย “ประมาณ 200,000 คน” (ร้อยละ 5 ของ 4 ล้านคน) นั่นเอง ซึ่งผู้เขียนคิดว่า หากเรามีตัวเลขเป้าหมายที่ชัดเจนเช่นนี้ จะทำให้การวางแผนการทำงาน การกำหนดมาตรการ และการกำหนดเป้าหมายการทำงานของหน่วยงานต่าง ๆ ชัดเจนขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 200,000 คนนี้ ยังคงเป็นเพียงตัวเลขเป้าหมายภาพรวมกลม ๆ ที่เราน่าจะต้องคิดกันต่อไปว่า จะกระจายเป้าหมายจำนวนนี้อย่างไรตามลักษณะของผู้สูงอายุเพื่อให้มีความเฉพาะเฉพาะเจาะจงยิ่งขึ้น ผู้เขียนเสนอว่า (สำหรับการคิดเร็วๆ ในบทความนี้) เราสามารถนำข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบันมาพิจารณา (เช่น เพศของผู้ที่ยังคงทำงาน เขตที่อยู่อาศัย (เมืองและชนบท) ภูมิภาคต่าง ๆ ภาคเศรษฐกิจของการทำงาน และสถานภาพการทำงานที่เป็นอยู่ในลักษณะต่าง ๆ) และใช้เป็นข้อมูลตั้งต้นเพื่อลองคำนวณดูว่า กลุ่มเป้าหมายที่ต้องการเพิ่มจำนวนการมีงานทำให้ได้ 200,000 คนนั้น ควรมีการกระจายอย่างไร โดยดูจากสัดส่วนของผู้มีงานทำที่เป็นอยู่ ณ ปัจจุบัน

ลักษณะของผู้มีงานทำ
(อายุ
60-64 ปี)
% ของผู้มีงานทำ
(อายุ
60-64) ปี 2562*
จำนวนผู้สูงอายุที่เป็นเป้าหมาย
ในการส่งเสริมให้มีงานทำ

(รวม 200,000 คน)
เพศ    
ชาย 56.6% 113,200
หญิง 43.4% 86,800
เขตที่อยู่    
เมือง 35.4% 70,800
ชนบท 64.6% 129,200
ภูมิภาค    
กทม. 6.3% 12,600
กลาง 22.9% 45,800
เหนือ 23.8% 47,600
อีสาน 35.1% 70,200
ใต้ 11.9% 23,800
ภาคเศรษฐกิจ    
เกษตร 59.4% 118,800
การผลิต 7.0% 14,000
การบริการและการค้า 33.6% 67,200
สถานภาพในการทำงาน    
นายจ้าง 3.3% 6,600
ประกอบธุรกิจส่วนตัวไม่มีลูกจ้าง 58.7% 117,400
ช่วยธุรกิจครัวเรือนไม่ได้รับค่าจ้าง 20.9% 41,800
ลูกจ้างภาครัฐ 3.5% 7,000
ลูกจ้างภาคเอกชน 10.6% 21,200
อื่นๆ 2.9% 5,800
รวม 100% 200,000

ที่มา *ประมวลโดยผู้เขียน จากข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. 2562 (ไตรมาส 3) สำนักงานสถิติแห่งชาติ

ผู้เขียนลองคำนวณเล่น ๆ ตามหลักคิดข้างต้นโดยใช้ข้อมูลสัดส่วนของผู้มีงานทำอายุ 60 - 64 ปี ในปี 2562 ที่จำแนกตาม คุณลักษณะในด้านต่าง ๆ และลองกระจายเป็นจำนวนผู้สูงอายุ 60-64 ปีที่อาจกำหนดใช้เป็นเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้มีการทำงานเพิ่มขึ้น (รวมจำนวน 200,000 คน) ดังแสดงในตารางด้านบน ซึ่งก็พอจะทำให้สามารถใช้เห็นเป้าหมายที่มีทิศทางชัดเจนมากขึ้นว่า ในเป้าหมาย 200,000 คน อาจจะกระจายเป็นเป้าหมายจำแนกตามเพศชายและเพศหญิงประมาณกี่คน ในพื้นที่เขตเมืองและเขตชนบท และในแต่ละภูมิภาค เป้าหมายควรเป็นประมาณกี่คน  หรือหากกระจายตามภาคเศรษฐกิจ เป้าหมายในการเพิ่มจำนวนผู้มีงานทำอายุ 60-64 ปี ในภาคเกษตร ภาคการผลิต ภาคการบริการและการค้า ควรเป็นประมาณกี่คน หรืออาจตั้งเป็นเป้าหมายที่ลงลึกไปในแต่ละสถานภาพการทำงานได้ว่า ต้องเพิ่มจำนวนผู้สูงอายุที่มีงานทำในแต่ละสถานภาพการทำงานสักกี่คน เช่น จากตารางที่ 1 อาจจะตั้งเป็นเป้าหมายในการเพิ่มการจ้างงานผู้สูงอายุ 60-64 ปี ในภาครัฐให้ได้อย่างน้อย 7,000 คน ในภาคเอกชนอย่างน้อยประมาณ 21,000 คน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่แสดงในตารางที่ 1 เป็นเพียงตัวเลขที่ผู้เขียนลองคำนวณทำเป็นตุ๊กตาเท่านั้น ซึ่งอ้างอิงจากสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน แต่ในอนาคต เราอาจจะกำหนดเป้าหมายส่งเสริมให้ผู้สูงอายุได้มีโอกาสในการจ้างงาน เป็นแรงงานในระบบ ทั้งในภาครัฐหรือภาคเอกชนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นเป้าหมายของการส่งเสริมการทำงานในลักษณะลูกจ้างภาครัฐและลูกจ้างเอกชน ก็อาจกำหนดให้สูงกว่าที่คำนวณได้จากในตารางที่ 1 ก็เป็นได้

การกำหนดประชากรกลุ่มเป้าหมายในการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ ซึ่งในที่นี้ ผู้เขียนเสนอเป็น “ประชากรกลุ่มอายุ 60 - 64 ปี” รวมถึง การกำหนดตัวชี้วัด และเป้าหมายที่มีความชัดเจน สามารถวัดได้เพื่อใช้ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุ เป็นเงื่อนไขที่มีความสำคัญต่อความสำเร็จในการส่งเสริมการมีงานทำของผู้สูงอายุไทยที่ผู้เขียนอยากให้หน่วยงานนโยบายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ได้พิจารณา หารือและกำหนดเป็นเป้าหมายที่จะไปให้ถึงร่วมกัน


เอกสารอ้างอิง

  • เฉลิมพล แจ่มจันทร์ และ สุภรต์ จรัสสิทธิ์. (2564). รายงานการวิจัยโครงการ: สถานการณ์และแนวโน้มสภาพการทำงานของผู้สูงอายุไทย: การวิเคราะห์จากข้อมูลการสำรวจระดับประเทศ. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล (online: https://thainhf.org/wp-content/uploads/2020/11/Final-Report_Aging_Database_JULY10.pdf)
  • สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2562). รายงานการคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2553 - 2583 (ฉบับปรับปรุง). สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. -- พิมพ์ครั้งที่ 1. – กรุงเทพฯ:
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
พิธีมงคลสมรสที่จัดในวัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ครัวเรือนผู้สูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

กาญจนา เทียนลาย,ศุทธิดา ชวนวัน,ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

คลื่นกระทบฝั่ง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สูงอายุ - ย้ายถิ่น - พำนักยาว

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

อนาคตผู้สูงอายุไทย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

หาว

วรชัย ทองไทย

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

60…ใช่ว่าต้องหยุด (ทำงาน)

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th