The Prachakorn

บุหรี่


วรชัย ทองไทย

15 มีนาคม 2565
301



การขึ้นภาษีหรือเพิ่มอัตราภาษีถือว่าเป็นข่าวร้ายของประชาชนทั่วไป แต่ข่าวการขึ้นภาษีสรรพสามิตของสุราและยาสูบ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ภาษีบาป” กลับเป็นเรื่องตรงกันข้าม คนทั่วไปต่างเห็นด้วยกับการขึ้นภาษี เพราะคิดว่าจะทำให้การบริโภคเหล้าและบุหรี่ลดลง อันถือว่าเป็นจุดหมายหลักของภาษีชนิดนี้


แต่ถ้าการขึ้นภาษีไม่ใช่เพื่อจุดประสงค์ดังกล่าวข้างต้น แต่เป็นเพื่อเพิ่มรายได้ของรัฐบาล อันเนื่องมาจากรัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายได้แล้ว แทนที่จะทำให้การบริโภคเหล้าและบุหรี่ลดลง กลับจะมีผลตรงกันข้ามคือ ทำให้มีการบริโภคมากขึ้น เพราะการเพิ่มอัตราภาษี โดยไม่มีการศึกษาถึงผลดีผลเสียอย่างรอบด้าน ย่อมส่งผลที่ไม่พึงปรารถนาได้

ในทางหนึ่ง ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคเหล้าที่มีอัตราภาษีน้อย หรือมวนบุหรี่สูบเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้รัฐเก็บภาษีได้น้อยลงแล้ว การบริโภคเหล้าและบุหรี่ก็ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใด หรือในอีกทางหนึ่ง ผู้ผลิตเหล้าและบุหรี่จะหันมาขยายตลาดให้มากขึ้น เพื่อชดเชยกับจำนวนบริโภคที่ลดลงของลูกค้าเดิม และรัฐอาจจะไม่ห้ามปราม เพราะกลัวว่ารายได้จากภาษีจะลดลง อันส่งผลให้การบริโภคเหล้าและบุหรี่ไม่ลดลงเช่นกัน

หลักการของภาษีบาปคือ การนำรายได้จากภาษีมาใช้เพื่อการรักษาพยาบาลผู้ป่วย อันเป็นผลมาจากการดื่มเหล้าและสูบบุหรี่ โดยส่วนหนึ่งของภาษีอาจนำไปใช้ในการศึกษาวิจัย เพื่อให้คนเลิกกินเหล้าหรือเลิกสูบบุหรี่ หรือทำให้บริโภคน้อยลง รวมทั้งป้องกันไม่ให้มีลูกค้าใหม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตามในระยะยาวแล้ว รายได้ของรัฐจากภาษีที่เก็บได้ จะไม่คุ้มกับการสูญเสียทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้น เพราะนอกจากค่ารักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยโดยตรงแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายทางอ้อมอื่นๆ อีก เช่น ค่าสูญเสียโอกาสที่คนเหล่านี้จะประกอบอาชีพ ค่าสูญเสียโอกาสของญาติพี่น้องที่ต้องมาดูแล ค่าข้าวของเครื่องใช้ที่เสียหายในขณะเมาเหล้า รวมถึงผลกระทบจากควันบุหรี่ที่คนรอบข้างต้องสูดดม หรือที่เรียกว่า ควันบุหรี่มือสอง (secondhand smoke) ที่มีผลให้ผู้สูดควันบุหรี่ ได้รับอันตรายจากควันบุหรี่เช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่

ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือ การทำให้จำนวนผู้ดื่มเหล้าหรือสูบบุหรี่ลดน้อยลง ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องยากอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จากบุหรี่ที่รู้กันมากว่า 90 ปีแล้วว่า มีโทษต่อร่างกายสถานเดียว โดยหาประโยชน์ไม่ได้เลย แต่ก็ยังมีคนสูบบุหรี่เพิ่มขึ้นทุกปี ที่เป็นเช่นนี้เพราะอิทธิพลของบรรษัทบุหรี่ข้ามชาติ ซึ่งมีผลกำไรมหาศาลจากการผลิตและจำหน่ายบุหรี่ ที่พยายามทุกวิถีทาง ที่จะเพิ่มยอดขายบุหรี่ให้มากขึ้น ดังจะเห็นได้จากประวัติของความพยายามนี้

ในคริสต์ทศวรรษ 1920 (1920s) นักวิจัยชาวเยอรมันได้พบว่า มะเร็งกับการสูบบุหรี่มีความสัมพันธ์กันในทางสถิติ ต่อมาในช่วง 1940s และ 1950s ผลของการศึกษาวิจัยทางระบาดวิทยา พยาธิวิทยาของเซลล์ และการวิเคราะห์ทางเคมี ทำให้ยอมรับว่า บุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปอด อันส่งผลให้ยอดขายบุหรี่ลดลง

ในปี ค.ศ. 1953 (พ.ศ. 2496)  อุตสหกรรมบุหรี่จึงตอบโต้โดยได้จัดตั้ง “คณะกรรมการวิจัยอุตสาหกรรมยาสูบ” (Tobacco Industry Research Committee) ขึ้น เพื่อสกัดกั้นไม่ให้ยอดขายบุหรี่ลดลง ด้วยการวิจัยตลาดอย่างเข้มข้น และตีพิมพ์เผยแพร่ผลวิจัยบิดเบือน ที่แสดงให้เห็นว่าโทษของการสูบุหรี่ไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด พร้อมกันนั้น ก็ได้ผลิตและโหมโฆษณาบุหรี่เพื่อสุขภาพ คือ บุหรี่ก้นกรองและบุหรี่ที่มีทาร์ต่ำ (low tar) อย่างกว้างขวาง อันมีผลทำให้ยอดจำหน่ายบุหรี่ที่ลดลงกลับเพิ่มขึ้น

แต่ผลงานวิจัยอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องที่เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ ทำให้รัฐบาลหลายประเทศตระหนักถึงผลเสียที่เกิดขึ้นกับประชากร ซึ่งมีแต่จะเพิ่มมากขึ้นจนถึงกับมากกว่ารายได้ที่รัฐเก็บจากภาษีบุหรี่เสียอีก จึงมีผลส่งให้เกิดเป็นนโยบายที่มุ่งลดการบริโภคบุหรี่ลง

เริ่มจากกฎหมายคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กในหลายประเทศ ได้เพิ่มการห้ามขายบุหรี่แก่เด็กอายุต่ำกว่า 16 ปี เข้าไปด้วย เพราะเชื่อว่าเด็กที่สูบบุหรี่หรือดื่มสุราจะแคระแกรน

ในปี ค.ศ. 1965 (พ.ศ. 2508) รัฐสภาอังกฤษออกกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ในโทรทัศน์ และในปี ค.ศ. 1970 (พ.ศ. 2513) สหรัฐอเมริกาจึงออกกฎหมายห้ามโฆษณาในวิทยุและโทรทัศน์ ต่อมาการห้ามโฆษณาได้ขยายไปสู่สิ่งตีพิมพ์ ในสนามกีฬา รวมทั้งห้ามโฆษณาแก่เยาวชน ห้ามโฆษณาขายตรง และแจกฟรีด้วย

จากผลงานวิจัยที่กล่าวถึงอันตรายของควันบุหรี่มือสอง ทำให้มีการผลักดันนโยบายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะขึ้น ในช่วงแรกเป็นการจัดให้มีที่สำหรับผู้สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่แยกออกจากกัน ต่อมาจึงมีข้อกำหนดให้จัดห้องสูบบุหรี่ไว้เป็นการเฉพาะ และในขั้นสุดท้ายก็ห้ามสูบบุหรี่ในพื้นที่ทั้งหมดของอาคาร

สำหรับประเทศไทยได้ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่บนรถโดยสารในเมือง เมื่อปี พ.ศ. 2518 ต่อมาในปี พ.ศ. 2545 ก็ออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ภายในอาคารทั่วประเทศ และในปี พ.ศ. 2549 จึงออกกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในสถานที่ราชการ ทำให้ผู้สูบบุหรี่จะสูบได้ก็แต่ในบ้าน หรือในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตบางแห่งเท่านั้น เช่น ร้านขายยาสูบ บาร์ ไนท์คลับ

ความพยามของอุตสาหกรรมบุหรี่ที่จะบิดเบือนผลวิจัย ก็ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง เช่น ในปี ค.ศ. 2001 (พ.ศ. 2544) บริษัท Philip Morris ได้เสนอรายงานต่อสาธารณรัฐเช็คว่า การที่ผู้สูบบุหรี่เสียชีวิตเร็วขึ้น จะทำให้รัฐประหยัดเงินงบประมาณสงเคราะห์คนชราไปมาก

ดังนั้น รางวัลอีกโนเบล สาขาแพทย์ศาสตร์ (พ.ศ. 2539) จึงได้มอบให้กับผู้แทนบริษัทบุหรี่ 7 แห่งในสหรัฐอเมริกา ที่กล่าวให้การอย่างมั่นใจกับสภาสูงของสหรัฐอเมริกาว่า “สารนิโคตินไม่ใช่สารเสพติด”

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลที่ให้กับงานวิจัยที่ "ขำ" ก่อน "คิด"


หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “บุหรี่” ในประชากรและการพัฒนา 33(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2555: 8



CONTRIBUTOR

Related Posts
เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

บุหรี่

วรชัย ทองไทย

ภูมิแพ้ รู้สาเหตุ รู้ทางแก้

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th