The Prachakorn

ราคาของการมีลูก: คนที่สองต้องไม่แพงเท่าคนแรก


มนสิการ กาญจนะจิตรา

15 เมษายน 2565
452



พ่อแม่สมัยนี้คงทราบกันดีว่าการเลี้ยงลูกนั้นแพงแสนแพง ไหนจะค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ค่าของเล่น หนังสือ และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ แต่ราคาของการมีลูกไม่ได้มีเท่านี้ เพราะการเลี้ยงลูกยังมีราคาด้านอื่นๆ ที่ไม่สามารถนับเป็นจำนวนเงินอีกด้วย ซึ่งราคาตรงนี้ มีความสำคัญไม่แพ้จำนวนเงินที่พ่อแม่ต้องจ่ายในการเลี้ยงดูลูกหนึ่งคน

ราคาที่ไม่ใช่ตัวเงิน มีส่วนสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวต้องคิดหนักในการจะมีลูกสักคน เช่น การต้องออกจากงานเพื่อมาเลี้ยงดูลูก การต้องพับแผนการท่องเที่ยวหรือโครงการซื้อรถคันใหม่เพื่อเก็บเงินเลี้ยงลูก เหล่านี้เป็นต้นทุนที่อาจวัดเป็นตัวเงินได้ยาก แต่ก็เป็นราคาที่ครอบครัวต้องจ่าย นักเศรษฐศาสตร์เรียกต้นทุนที่เกิดขึ้นนี้ว่า ค่าเสียโอกาส คือ โอกาสที่ครอบครัวต้องเสียไปเมื่อมีลูก แทนที่จะได้ทำงานที่ชอบและตรงกับความสามารถ ก็อาจต้องเปลี่ยนเป็นงานอื่นที่ไม่ชอบหรือไม่ตรงกับความสามารถเพื่อแลกมาซึ่งความยืดหยุ่นของงานเมื่อต้องใช้เวลาในการเลี้ยงดูลูกมากขึ้น แทนที่จะได้ใช้เงินในการซื้อสิ่งของที่อยากได้ ก็ต้องเก็บออมเพื่อเตรียมสร้างครอบครัว

ไม่ว่าจะมีลูกคนแรก คนที่สอง หรือคนที่สาม ครอบครัวเกิดค่าเสียโอกาสเสมอ แต่ค่าเสียโอกาสนี้ อาจน้อยลงสำ.หรับลูกแต่ละคนที่เพิ่มขึ้นมา หมายความว่า การมีลูกเพิ่มจาก 1 คนไปเป็น 2 คน อาจไม่ได้หมายถึงค่าเสียโอกาสที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวตามไปด้วยเสมอไป

การมีลูกคนที่สอง อาจมีราคาที่ไม่ใช่ตัวเงินลดลง เพราะค่าเสียโอกาสสำคัญของการมีลูก คือการต้องปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต ครอบครัวที่กำลังจะมีลูกคนแรก ที่ต้องเปลี่ยนชีวิตโดยสิ้นเชิงและทิ้งชีวิตแบบเดิมไว้ข้างหลัง เพราะเมื่อตัดสินใจมีลูกแล้ว คู่สามีภรรยาต้องวางแผนเรื่องที่อยู่อาศัยและเรื่องการเงินใหม่ ต้องปรับวิถีชีวิตประจำวันใหม่ หรือกระทั่งบางครั้งต้องปรับชีวิตการทำงานใหม่ อาจต้องมีใครออกจากงานเพื่อจะได้ดูแลลูกอย่างใกล้ชิด ดังนั้นการมีลูกคนแรกจึงเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญสำหรับคู่สามีภรรยา เพราะจะเป็นการผูกมัดระยะยาวตลอดชีวิต นี่เป็นราคาที่ไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้ แต่ก็เป็นราคาสำคัญที่ทำให้หลายครอบครัวเลือกที่จะไม่มีลูกเลย

แต่สำหรับคู่สามีภรรยาที่มีลูกแล้ว พวกเขาได้ผ่านการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตจากการมีลูกคนแรกไปแล้ว เหมือนได้เข้าโหมดการเลี้ยงลูกไปแล้ว โดยทั่วไปการมีลูกคนต่อไปจึงไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เหมือนตอนมีลูกคนแรกแล้ว หากมีใครต้องปรับเปลี่ยนงาน ก็ปรับเปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นค่าเสียโอกาสที่เพิ่มเติม จึงมีไม่มากนัก

ที่มา: https://วาดรูป.com/wp-contentuploads/2018/10/รูปครอบครัว-3 สืบค้นเมื่อ 21 มีนาคม 2565

อย่างไรก็ตามค่าเสียโอกาสเป็นเพียงส่วนหนึ่งของราคาของการมีลูก เพราะค่าใช้จ่ายส่วนที่หนักหน่วงสำหรับพ่อแม่ในยุคปัจจุบันคือราคาที่เป็นตัวเงิน และการมีลูกคนที่สองไม่ได้มี economies of scale เท่าที่ควร ลูกคนที่สองอาจใช้ของบางอย่างต่อจากคนแรกได้ เช่น เสื้อผ้า เตียง และของเล่น แต่ข้าวของเครื่องใช้เหล่านี้เป็นค่าใช้จ่ายเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายหลัก  เช่น ค่าเล่าเรียน เพราะฉะนั้น การมีลูกคนที่สองนั้นหมายถึงค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ราคาของการมีลูกในส่วนที่เป็นตัวเงิน จึงเป็นอุปสรรคหลักที่ทำให้หลายครอบครัวไม่อยากมีลูกคนที่สอง ถึงแม้ว่าราคาในส่วนที่ไม่ใช่ตัวเงินอาจจะลดลง หลายครอบครัวกลัวว่าหากมีลูกเพิ่มอีกคน อาจจำเป็นต้องเลือกโรงเรียนที่มีค่าเล่าเรียนที่ถูกลงเพราะสู้ค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่งเมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้วหลายครอบครัวเลือกที่จะมีลูกเพียงคนเดียวดีกว่า เพื่อจะได้มอบสิ่งที่ดีที่สุดให้กับลูกได้ เพราะคุณภาพเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าปริมาณสำหรับครอบครัวในยุคนี้

หากรัฐสามารถช่วยให้ครอบครัวไทยไม่ต้องเลือกระหว่างปริมาณกับคุณภาพ อาจจะโน้มน้าวให้ครอบครัวตัดสินใจมีลูกคนที่สองได้ง่ายขึ้น ในระยะสั้นรัฐอาจมีนโยบายสนับสนุนค่าเล่าเรียนของลูกคนที่สอง เพื่อลดค่าใช้จ่ายของการมีลูกเพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนในระยะยาว สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาคือการเพิ่มระดับคุณภาพของการศึกษาให้เท่าเทียมมากขึ้น ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพได้อย่างทั่วถึง พ่อแม่จะได้ไม่ต้องจ่ายเงินราคาแพงเพื่อให้ลูกได้รับการศึกษาที่ดี เมื่อถึงวันนั้น เราคงได้เห็นครอบครัวไทยมีลูกเพิ่มขึ้น...ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพ

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
มะเร็ง

วรชัย ทองไทย

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โครงสร้างอายุเปลี่ยนสังคม

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สามเดือน...ยังไม่พอ

มนสิการ กาญจนะจิตรา

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th