The Prachakorn

ทำไมหลายครอบครัวจึงเลือกมีลูกคนเดียว


มนสิการ กาญจนะจิตรา

17 ตุลาคม 2566
454



ผู้หญิงไทยปัจจุบันมีลูกกันน้อยลง สถิติล่าสุดแสดงให้เห็นว่าอัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศลดลงเหลือเพียง 1.0 เท่านั้น หมายความว่า โดยเฉลี่ยผู้หญิงไทยคนหนึ่ง จะให้กำเนิดเด็กเพียง 1 คน ตลอดช่วยวัยเจริญพันธุ์ของตน1

หลายภาคส่วนเริ่มตระหนักถึงวิกฤติการเกิดน้อย และมีการพูดคุยหารือในระดับนโยบายว่า จะส่งเสริมการเกิดอย่างไรได้บ้างกลุ่มหนึ่งที่ผู้เขียนมองว่าน่าสนใจในการส่งเสริมการมีลูก คือกลุ่มที่ปัจจุบันมีลูกแล้ว แต่ตั้งใจมีเพียงคนเดียว ทำไมกลุ่มนี้จึงเลือกมีลูกเพียงคนเดียว? และจะมีนโยบายอะไรบ้างหรือไม่ที่จะช่วยสนับสนุนให้มีลูกเพิ่มได้? ผู้เขียนจึงได้ลองตั้งโพสต์คำถามนี้ในกลุ่มเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกทางเฟซบุ๊ก เพื่อรับฟังเหตุผล ภายหลังตั้งคำถามนี้ไป มีพ่อแม่มาแบ่งปันมุมมองของตนเองมาไม่น้อย วันนี้จึงขอรวบรวมประเด็นเหตุผลที่มีการพูดถึงมากที่สุด 5 ข้อ ดังนี้

  1. ไหวแค่คนเดียว ปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสาเหตุที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในการเลือกมีลูกคนเดียว พ่อแม่ต้องการมอบคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดให้กับลูก ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หลายครอบครัวสะท้อนว่า สถานะทางการเงินของตนกำลังพอเหมาะสำหรับการมีลูกคนเดียวหากมีอีกคน ค่าใช้จ่ายย่อมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว อาจทำให้ครอบครัวขาดสภาพคล่องและความตึงเครียดทางการเงิน นอกจากนี้ พ่อแม่ในยุคปัจจุบันหวังพึ่งพิงลูกในวัยสูงอายุลดลง จึงต้องวางแผนทางการเงินให้เพียงพอสำหรับตนเองในวัยเกษียณอีกด้วย
  2. เวลา ครอบครัวปัจจุบันมีหน้าที่ภาระมากมาย โดยเฉพาะหน้าที่ทางการงานที่กินเวลาในแต่ละวันไปมาก การมีเวลาให้กับลูกที่เพียงพอเป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ หลายครอบครัวยังรู้สึกว่ายังให้เวลากับลูกไม่เพียงพอ ทำให้รู้สึกไม่พร้อมที่จะมีลูกอีกคนหากยังไม่สามารถจัดการเวลาได้ดีกว่านี้
  3. ไม่มั่นใจว่าจะสามารถให้ความรักได้อย่างทั่วถึงหากมีคนที่สอง หรือบางคนกลัวว่าตัวเองจะรักลูกไม่เท่ากัน หลายคนมีปมกับการที่รู้สึกว่าพ่อแม่รักพี่หรือน้องมากกว่า จึงไม่อยากให้ลูกต้องเผชิญกับความรู้สึกเช่นนั้น
  4. เหนื่อย ประสบการณ์จากลูกคนแรก ทำให้รู้ว่าการเลี้ยงลูก…มันเหนื่อย (บางคนใช้คำว่า เข็ด) โดยเฉพาะพ่อแม่ที่เลี้ยงกันเอง เมื่อลูกเริ่มโต เริ่มเข้าโรงเรียน การจัดการชีวิตมักลงตัวมากขึ้น พ่อแม่เริ่มมีเวลาส่วนตัว สามารถไปใช้ชีวิต (ได้บ้าง) หากจะมีลูกอีกคนก็เหมือนต้องไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่ จึงเกิดความลังเล
  5. อายุ ยิ่งมีลูกคนแรกช้าเท่าไร ยิ่งมีโอกาสมีลูกคนที่สองลดลงเท่านั้น อายุของทั้งพ่อและแม่สร้างความกังวลให้กับหลายครอบครัวไม่น้อย ทั้งเรื่องโอกาสการตั้งครรภ์ที่ลดลง โอกาสการแท้งหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ที่เพิ่มขึ้น สุขภาพโดยรวมของแม่ การมีเรี่ยวแรงในการเลี้ยงลูกเล็ก อีกทั้งยังมีความกังวลว่าตนเองจะแก่ก่อนที่ลูกจะพึ่งตัวเองได้

ข้อสังเกตหนึ่งที่พบจากคำตอบของพ่อแม่ทั้งหลายเหล่านี้ คือ ประเด็นเรื่องเงินมักมาพร้อมเรื่องเวลา เพราะการจะมีเงินได้ก็ต้องสละเวลาในการจะอยู่กับครอบครัว นี่คือประเด็นเรื่องการจัดการสมดุลระหว่างชีวิตการงานและชีวิตครอบครัว หรือ work-life balance ที่เป็นช่องว่างที่นโยบายทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมได้ หากภาครัฐช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายให้กับครอบครัว โดยเฉพาะค่าเล่าเรียนสำหรับลูกคนที่สอง หรือภาคเอกชนมีนโยบายการทำงานที่มีความยืดหยุ่น น่าจะทำให้ครอบครัวที่มีลูกจัดการความขัดแย้งระหว่างการทำงานหาเงินและการมีเวลาที่เพียงพอให้กับครอบครัวได้

 
รูป: ครอบครัวลูกคนเดียว
รูปโดย: วรัญญา อาศัยศาสน์

อีกข้อสังเกต คือ การให้ความรักลูกอย่างทั่วถึงและความเหนื่อยมักมาคู่กัน สำหรับครอบครัวกลุ่มนี้อาจไม่ได้กังวลเรื่องการมีเวลาให้กับครอบครัวที่เพียงพอ แต่เป็นเรื่องการจัดการความเหนื่อยทางกายและจิตใจของพ่อแม่ที่ทุ่มเทพลังกายและใจให้กับลูกอย่างเต็มที่จนเกิดความเหนื่อยล้า สำหรับครอบครัวเหล่านี้ นโยบายที่ช่วยเหลือได้อาจเป็นในรูปแบบการบริการให้คำปรึกษาการเลี้ยงลูก ปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตของครอบครัว เป็นต้น

ท้ายที่สุด เชื่อว่าทุกครอบครัวย่อมเลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตนเอง หากสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจและสังคมเอื้อต่อการมีลูกคนที่สองมากขึ้น เชื่อว่าน่าจะมีสักบ้านที่เปลี่ยนใจ...มีลูกอีกสักคน


อ้างอิง

  1. สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (2566).โครงการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ. 2565.กรุงเทพฯ:  สำนักงานสถิติแห่งชาติ.

ภาพปก freepik.com (premium license)

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
แกะกล่อง Baby Box รอบโลก

มนสิการ กาญจนะจิตรา

พาพ่อกลับกรีนแลนด์

อมรา สุนทรธาดา

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

เกิดน้อย...ก็ดีนะ

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th