The Prachakorn

สมอง


วรชัย ทองไทย

18 มีนาคม 2566
1,565



สมองเป็นศูนย์ควบคุมหลักของร่างกายมนุษย์ มีหน้าที่ออกคำสั่งการทำงานของกล้ามเนื้อและอวัยวะต่างๆ นอกจากนี้ สมองยังควบคุมการใช้ภาษา และมีความสามารถในการคิดเชิงนามธรรม

สมองจะรับเอาข้อมูลที่ผ่านทางประสาทรับรู้ทั้ง 5คือ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวหนัง เพื่อไปประเมินผล ได้แก่ มองเห็นภาพ ได้ยินเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส และรับความรู้สึก แล้วสั่งการให้ร่างกายเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เพื่อตอบสนองต่อข้อมูลที่ได้รับ                         

สมองประกอบด้วยเซลล์ประสาท (neuron หรือ nerve cell) ที่ต่อเชื่อมกัน เพื่อทำหน้าที่รับและส่งข้อมูลทั่วร่างกาย เพราะสมองถูกจำกัดให้อยู่ในหัวกระโหลก สมองจึงมีรอยหยักมากมาย เพื่อเพิ่มเนื้อที่ของพื้นผิวให้สามารถรองรับจำนวนเซลล์ประสาทที่มีจำนวนมากได้                 

สมองมี 3 ส่วนคือ ซีรีบรัม (cerebrum มาจากภาษาลาตินแปลว่า สมอง) ซีรีเบลลัม (cerebellum แปลว่า สมองน้อย) และ ก้านสมอง (brain stem)                 

ซีรีบรัมเป็นส่วนที่ใหญ่ที่สุดของสมอง ทำหน้าที่ควบคุมความคิด ความทรงจำ และการเคลื่อนไหวที่สั่งการได้ ได้แก่ การใช้เหตุผล การวางแผน การแก้ปัญหา ความจำ การมีอารมณ์ การมองเห็น การออกเสียง การพูด การได้ยิน การดมกลิ่น การรับรส และการสัมผัส             

ส่วนซีรีเบลลัมอยู่ใต้ซีรีบรัม มีขนาดเพียง 1 ใน 8 ของซีรีบรัม ทำหน้าที่ควบคุมควบคุมการทรงตัวของร่างกายและระบบกล้ามเนื้อให้สัมพันธ์กัน 

สำหรับก้านสมองอยู่ที่ส่วนหลัง เป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างซีรีบรัมกับไขสันหลัง ทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวที่นอกเหนือการสั่งการ ได้แก่ กระพริบตา กลืน ย่อยอาหาร สะอึก ไอ จาม หายใจ หัวใจเต้น ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และความหิว นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่คัดกรองข้อมูลที่ส่งมาจากร่างกายให้ถูกส่งไปยังส่วนที่ถูกต้องของสมองอีกด้วย

สมองแบ่งครึ่งเป็นซีกซ้ายและซีกขวา สมองซีกซ้ายควบคุมร่างกายซีกขวา และสมองซีกขวาควบคุมร่างกายซีกซ้าย ถึงแม้สมองแต่ละซีกจะมีขบวนการรับรู้และประเมินผลข้อมูลในมุมมองที่แตกต่างกัน แต่ก็ทำงานร่วมกัน โดยสมองซีกซ้ายจะรับรู้ในรูปของภาษาและคิดเชิงวิเคราะห์ ส่วนสมองซีกขวาจะรับรู้เป็นรูปภาพและคิดเชิงสร้างสรรค์

เด็กเกิดใหม่มีเซลล์สมองราว 100 พันล้าน (billion) เซลล์ แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ติดต่อเชื่อมกัน เมื่อเด็กมีอายุ 3 ขวบ เซลล์สมองจะมีจุดติดต่อเชื่อมกันถึง 1,000ล้านล้าน ( trillion) จุด เมื่อเด็กมีอายุ 11ขวบ สมองจะเริ่มลดทอนจุดเชื่อมต่อที่ไม่มีการใช้ออกไป โดยจุดเชื่อมต่อที่มีการใช้อย่างสม่ำเสมอ จะกลายเป็นจุดเชื่อมต่อที่ถาวร ส่วนจุดเชื่อมต่อที่ไม่มีการใช้จะสูญหายไป อย่างไรก็ตาม ทุก ๆ ครั้งที่มีความคิดใหม่เกิดขึ้น หรือรื้อฟื้นความจำเก่า จะส่งผลให้เกิดจุดเชื่อมต่อใหม่ขึ้น ดังนั้น การใช้ความคิดอย่างสม่ำเสมอ จึงเป็นการเพิ่มความสามารถ (ความฉลาด) ของสมอง      

สมองโดยเฉลี่ยหนักประมาณ 1.4 กิโลกรัม ตามปกติสมองผู้ชายจะมีน้ำหนักมากกว่าสมองผู้หญิง เพราะผู้ชายตัวใหญ่กว่าผู้หญิง แต่ถ้าผู้หญิงที่มีน้ำหนักเท่ากับผู้ชายแล้ว สมองผู้หญิงก็จะหนักกว่าสมองผู้ชาย

อย่างไรก็ตาม ขนาดของสมองไม่ได้มีความสัมพันธ์กับความฉลาดแต่อย่างไร เพราะสมองของอัลเบิร์ต ไอน์สไตล์ (Albert Einstein) นักวิทยาศาสตร์ผู้มีชื่อเสียงและมีไอคิวที่สูงถึง 160 มีน้ำหนักเพียง1.23 กิโลกรัม เท่านั้น

รูป Albert Einstein
ที่มา: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/e/e9/Albert_Einstein_in_watercolour.png
สืบค้นเมื่อ 12 มีนาคม 2566

ถึงแม้ว่า สมองจะหนักเพียงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับน้ำหนักของร่างกาย แต่สมองต้องใช้อ๊อกซิเจนและอาหาร (ที่ผ่านทางโลหิต) ถึงร้อยละ 20 ของความต้องการของร่างกาย โดยสมองจะใช้โลหิตราว 700 มิลลิลิตร ในแต่ละนาที ถ้าสมองขาดอ็อกซิเจน สมองจะยังคงมีชีวิตอยู่ได้ประมาณ 4 – 6 นาที หลังจากนั้นสมองจะเริ่มตาย อย่างไรก็ตาม คนเราจะหมดสติภายใน 10 วินาที ถ้าสมองขาดโลหิตไปหล่อเลี้ยง

การวิจัยเกี่ยวกับสมองที่ได้รับรางวัลอีกโนเบลมีดังนี้

  • ปี 2546 สาขาแพทย์ศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัย 7 คน จาก  University College London ที่สรุปผลงานวิจัยว่า สมองของคนขับรถแท็กซีในกรุงลอนดอน ได้พัฒนาไปมากกว่าสมองของชาวลอนดอน        
  • ปี 2548 สาขาสันติภาพ มอบให้กับนักวิจัยสหราชอาณาจักร 2 คน  (Claire Rind และ Peter Sim-mons) ที่ใช้อุปกรณ์อิเล็คโทรนิคตรวจสอบการทำงานของเซลล์สมองของตั๊กแตน ในขณะที่กำลังดูหนังเรื่อง Star Wars          
  • ปี 2555 สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ มอบให้กับนักวิจัยชาวอเมริกัน 4 คน (Craig Bennett, Abigail Baird, Michael Miller และGeorge Wolford) ที่ร่วมกันสาธิตให้เห็นว่า นักวิจัยสมองสามารถใช้อุปกรณ์ที่ยุ่งยากซับซ้อนร่วมกับสถิติเบื้องต้น เพื่อบรรยายให้เห็นการทำงานของสมองได้เสมอ แม้แต่ในปลาเซลมอลที่ตายแล้ว           
  • ปี 2557 สาขาประสาทวิทยาศาสตร์ มอบให้แก่นักวิจัยจากประเทศจีนและแคนนาดา (Jiangang Liu, Jun Li, Lu Feng, Ling Li, Jie Tian และ Kang Lee) ที่ร่วมทำการวิจัยเพื่อจะได้รู้ว่า เกิดอะไรขึ้นในสมองของคน ที่เห็นหน้าพระเยซูบนแผ่นขนมปังปิ้ง

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัย "ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด"


หมายเหตุ: ปรับปรุงจาก “สมอง” ใน ประชากรและการพัฒนา 36(1) ตุลาคม-พฤศจิกายน 2558: 8

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คันและเกา

วรชัย ทองไทย

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

หาว

วรชัย ทองไทย

มะเร็ง

วรชัย ทองไทย

สมอง

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th