The Prachakorn

อาหาร เครื่องดื่ม และการบำรุงผิวจากสมุนไพร


ณัฐพร โตภะ

16 พฤศจิกายน 2565
711



สมุนไพรมีมากมายหลายชนิดจนไม่สามารถระบุจำนวนได้ วันนี้จะมาแนะนำสมุนไพรหรือที่เรียกกันว่าพื้นผักสวนครัวที่สามารถหาได้ง่ายๆทั่วไป โดยแต่ละท่านสามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร เครื่องดื่ม หรือบำรุงผิว ได้ด้วยตนเอง

สมุนไพรไทยและการดูแลสุขภาพ

คำว่า “สมุนไพร” ไม่ได้หมายถึงเพียงแต่พืชเท่านั้นยังรวมถึง สัตว์ แร่ธาตุจากธรรมชาติที่ สามารถนำมาใช้เป็นยารักษาโรคต่างๆ และบำรุงร่างกายได้ ประเภทของสมุนไพร สมุนไพรที่ได้จากส่วนของพืชโดยตรง (พืชวัตถุ) โดยส่วนต่างๆ ที่นำมานั้นมีสารที่สามารถใช้เป็นยาได้ ได้แก่ ใบ ดอก ผล เปลือกผล เมล็ด เปลือกเมล็ด รากหรือหัว ต้น แก่น กระพี้ เนื้อไม้ เปลือกไม้ สมุนไพรที่ได้จากอวัยวะของสัตว์ (สัตว์วัตถุ) ได้แก่ ตับ ดี นอ เขา เอ็น เลือด น้ำมัน มูล ฯลฯ เช่น ขี้ผึ้ง รังนก น้ำมันตับปลา สมุนไพรที่ได้จากแร่โดยธรรมชาติหรือสิ่งที่ประกอบขึ้นจากแร่ธาตุต่างๆ ตามกรรมวิธี (ธาตุวัตถุ) นำมาใช้เป็นยา เช่น เกลือ กำมะถัน น้ำประสานทอง ดีเกลือ สารส้ม1 หากนำเอาสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกันซึ่งจะเรียกว่า ยา ในตำรับยา หมอสมุนไพรส่วนใหญ่ได้รับความรู้จากการถ่ายยทอดจากบรรพบุรุษ ทั้งนี้มีการสืบทอดความรู้ หลากหลายวิธีด้วยกัน เช่น จดจำจากการติดตามบรรพบุรุษที่ไปให้การรักษาชาวบ้านในชุมชน รวมถึงการจดบันทึกและการศึกษาด้วยตนเองเพิ่มเติม2

สมุนไพรมีมากมายหลายชนิดจนไม่สามารถระบุจำนวนได้ วันนี้จะมาแนะนำสมุนไพรหรือที่เรียกกันว่าพื้นผักสวนครัวที่สามารถหาได้ง่ายๆทั่วไป โดยแต่ละท่านสามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร เครื่องดื่ม หรือบำรุงผิว ได้ด้วยตนเอง

“อาหารพื้นบ้านเพื่อสุขภาพ”

อาหารพื้นเมืองประจำภาคกลาง

“แกงเลียง” ประกอบไปด้วยสมุนไพร

  1. บวบเหลี่ยม ช่วยบำรุงให้หัวใจ แก้ร้อนใน มีสรรพคุณเป็นยาระบาย ลดไข้ ขับเสมหะ และช่วยขับปัสสาวะ
  2. ตำลึง แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ลดไข้ บำรุงสายตา มีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยซ่อมแซม และสร้างเนื้อเยื่อในร่างกาย ลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร ป้องกันโลหิตจาง เพิ่มการไหลเวียนของโลหิต และป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจแข็ง ตีบ หรือตัน
  3. ใบแมงลัก แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ ช่วยดับกลิ่นคาวในอาหาร มีธาตุเหล็กสูง ช่วยบำรุงเลือด บำรุงผิวหนัง สายตา ลดอาการท้องผูก ป้องกันโรคกระเพาะอาหาร และลดอาการลำไส้อักเสบ
  4. ฟักทอง ช่วยบำรุงสายตา มีเบต้าแคโรทีน และสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยบำรุงผิวพรรณ และต่อต้านมะเร็ง สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย ลดน้ำตาลในเลือด ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจ และโรคนิ่ว
  5. เห็ดฟาง ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้แก้ร่างกาย มีวิตามินซีที่ช่วยป้องกันโรคหวัด ไข้หวัดใหญ่ ลักปิดลักเปิด ลดอาการบวมของเหงือก บรรเทาอาการช้ำใน ปอดบวม และบำรุงตับให้แข็งแรง
  6. พริกไทย ช่วยย่อยอาหาร ขับลม ขับเหงื่อ มีเบต้าแคโรทีน ช่วยบำรุงสายตา และมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดโอกาสในการเป็นมะเร็ง
  7. หอมแดง ช่วยขับเสมหะ ป้องกันหวัด บำรุงหัวใจ บำรุงสมองให้มีความจำที่ดีขึ้น มีสารต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง และโรคหัวใจ ทำให้โลหิตไหลเวียนดีขึ้น และแก้อาการท้องเสีย ท้องอืด ท้องเฟ้อ

ภาพ: สมุนไพร

ที่มา: https://www.thairath.co.th/news/local/2176345 สืบค้น 24 ตุลาคม 2565

 

อาหารพื้นเมืองประจำภาคเหนือ

“แกงฮังเล” ประกอบไปด้วยสมุนไพร

  1. ขิง รสหวานเผ็ดร้อน แก้ลมจุกเสียด แก้เสมหะ บำรุงธาตุ แก้คลื่นเหียนอาเจียน
  2. สับปะรด รสหวานเปรี้ยวเล็กน้อย ช่วยขับปัสสาวะ
  3. กระเทียม รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคผิวหนัง น้ำมัน กระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แบคทีเรีย และไวรัส ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในหลอดเลือด
  4. มะขามเปียก รสเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้ท้องผูก แก้ไอ ลดความร้อนในร่างกาย
  5. พริก รสเผ็ดร้อน ช่วยขับลม ช่วยย่อยอาหาร
  6. ตะไคร้ แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร และขับเหงื่อ
  7. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไข ขับเสมหะ บำรุงธาตู แก้ไข้หวัด

อาหารพื้นเมืองประจำภาคอีสาน

“แกงหน่อไม้ใบย่านาง” ประกอบไปด้วยสมุนไพร

  1. หน่อไม้ มีรสขมหวานร้อน ใช้ขับปัสสาวะ แก้ไตพิการ
  2. ฟักทอง มีคุณค่าทางอาหารสูง บำรุงสายตา บำรุงร่างกาย
  3. แมงลัก ใบสด รสหอมร้อน เป็นยาแก้หวัด แก้หลอดลมอักเสบ แก้โรคท้องร่วง ขับลม
  4. กระชาย รสร้อน แก้ท้องอืดเฟ้อ ขับลม แก้บิดมีตัว ขับพยาธิตัวกลม และพยาธิเส้นด้ายในเด็ก ใช้แต่งกลิ่น สี รสอาหารที่มีคุณค่าทางอาหารสูง ไม่มีพิษ
  5. ใบย่านาง สรรพคุณนั้นมีหลากหลาย เพราะเป็นสมุนไพรเย็น มีคลอโรฟิลล์สดจากธรรมชาติ และยังมีวิตามินที่จำเป็นต่อร่างกายอีกมากมาย เช่น วิตามินเอ วิตามินบี 1 วิตามินบี 2 วิตามินบี 3 วิตามินซี ธาตุแคลเซียม ธาตุฟอสฟอรัส ธาตุเหล็ก เบต้าแคโรทีนในปริมาณค่อนข้างสูง

อาหารพื้นเมืองประจำภาคใต้

“ข้าวยำ” ประกอบไปด้วยสมุนไพร

  1. มะพร้าว รสมันหวาน บำรุงกำลัง บำรุงเส้นเอ็น ใช้รักษาโรคกระดูก
  2. พริกขี้หนู รสเผ็ดร้อน ช่วยกระตุ้นให้เจริญอาหาร ขับลม ช่วยย่อยอาหาร
  3. กระเทียม รสเผ็ดร้อน ขับลมในลำไส้ แก้ไอ ขับเสมหะ ช่วยย่อยอาหาร แก้โรคทางผิวหนัง น้ำมันกระเทียมมีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญของเชื้อรา แบคทีเรีย ไวรัส ลดน้ำตาลในเลือด ลดไขมันในหลอดเลือด
  4. หอมแดง รสเผ็ดร้อน แก้ไอเพื่อเสมหะ บำรุงธาตุ แก้ไข้หวัด
  5. มะนาว เปลือกผลรสขม ช่วยขับลม น้ำมะนาวรสเปรี้ยว ขับเสมหะ แก้ไอ แก้เลือดออกตามไรฟัน ฟอกโลหิต
  6. ตะไคร้ รสปร่ากลิ่นหอม แก้ปวดท้อง ขับปัสสาวะ บำรุงธาตุ ช่วยเจริญอาหาร
  7. ใบมะกรูด รสปร่ากลิ่นหอมติดร้อน ใช้ปรุงอาหารช่วยดับกลิ่นคาว แก้โรคลักปิดลักเปิด ขับลมในลำไส้ ขับระดู แก้ลมจุกเสียด
  8. มะม่วง รสเปรี้ยว ขับเสมหะ
  9. ถั่วฝักยาว รสมันหวาน มีคุณค่าทางอาหารสูง กระตุ้นการทำงานของกระเพาะ ลำไส้ บำรุงธาตุ
  10. ข่า รสเผ็ดปร่าและร้อน ช่วยขับลม ขับพิษโลหิตร้ายในมดลูก ขับลมในลำไส้

ภาพ: ผักและสมุนไพรไทย

ที่มา: https://www.thestreetratchada.com/Blogs/16/5-healthy-thai-dishes-and-recipe สืบค้น 24 ตุลาคม 2565

 “น้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพ”

“น้ำกระเจี๊ยบ” มีฤทธิ์เย็น ช่วยดับกระหาย แก้ไอ ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ ขับนิ่วในกระเพาะปัสสาวะและในไต แม้ว่าจะมีความเป็นพิษต่ำมาก แต่ก็ไม่ควรดื่มในปริมาณเข้มข้นและติดต่อกันเป็นเวลานาน เนื่องจากผลการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่า ทำให้เกิดพิษต่อเซลล์ของอัณฑะและตัวอสุจิได้

“น้ำตะไคร้” ช่วยบำรุงธาตุ ขับปัสสาวะ แก้นิ่ว อาการปวดท้องที่มาจากการแน่นท้อง จุกเสียด แน่นเฟ้อ แม้ว่าตะไคร้เป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยามากมาย แต่ก็มีข้อควรระวัง คือ หญิงตั้งครรภ์อ่อนๆ หรือใกล้คลอด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานตะไคร้มากเกินไป เพราะตะไคร้มีฤทธิ์ให้กล้ามเนื้อมดลูกบีบตัว และผู้ป่วยโรคไต ควรระมัดระวังการดื่มน้ำตะไคร้ เนื่องจากตะไคร้มีฤทธิ์ขับปัสสาวะ

“น้ำอัญชัน” มีส่วนประกอบของแอนโทไซยานิน ฟลาโวนอยด์ สเตียรอยด์ และไตรเตอร์ปินอยด์  ซึ่งเชื่อว่ามีคุณสมบัติช่วยรักษาปัญหาสุขภาพต่าง ๆ เช่น ลดอาการปวดบวมอักเสบ ถอนพิษแมลงสัตว์กัดต่อย ขับปัสสาวะ รักษาโรคเบาหวาน ต้านการแข็งตัวของเลือด ควรระมัดระวังการรับประทานดอกอัญชัน หากกำลังใช้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เนื่องจากดอกอัญชันมีฤทธิ์ละลายลิ่มเลือด จึงอาจทำให้ยามีฤทธิ์รุนแรงยิ่งขึ้นและก่อให้เกิดอันตรายได้

“น้ำขิง” มีรสเผ็ดร้อน สรรพคุณ บำรุงธาตุ ช่วยขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ แก้อาการคลื่นไส้ อาเจียน ช่วยเจริญอาหาร ข้อควรระวัง ขิงเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน ถ้าหากรับประทานเข้าไปในปริมาณที่มากเกินไปจะทำให้เยื่อบุภายในช่องปากเกิดการอักเสบ และการศึกษาหนึ่งในออสเตรเลีย พบว่า ขิงนั้นมีสรรพคุณในการต้านการแข็งตัวของเลือดมากกว่ายาแอสไพริน สถาบันสุขภาพของออสเตรเลียได้ออกคำเตือนให้งดการรับประทานขิงในขณะที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือด3

“สมุนไพรบำรุงผิวหน้าและผิวกาย”

“ว่านหางจระเข้” ช่วยลดความแห้งกร้านและความมันบนผิวหนัง ช่วยรักษาความชุ่มชื่นของผิว ลดการระคายเคืองจากแสงแดด

“แตงกวา” ผลของแตงกวามีเอนไซม์ cryssin ซึ่งช่วยย่อยโปรตีน โดยเอนไซม์ชนิดนี้จะช่วยย่อยผิวหนังที่หยาบกร้านให้หลุดออกไป

“งา” วิธีใช้โดยการนำเอาเมล็ดงาสดมาบีบน้ำมันงาออกโดยไม่ผ่านความร้อน ใช้ทาผิวหนัง เพื่อบำรุงผิวพรรณให้ผุดผ่อง ช่วยประทินผิวให้นุ่มนวลไม่หยาบกร้าน ใช้ได้ทั้งงาขาวและงาดำ

“ขมิ้นชัน” มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย และเชื้อราหลายชนิด ใช้ทาผิวที่มีผดผื่นคัน และช่วยฆ่าเชื้อ ที่ทำให้เกิดโรคผิวหนังบางชนิดได้อีกด้วย

“มะขามเปียก” ช่วยชำระสิ่งสกปรกจากผิวหนัง เพราะฤทธิ์ที่เป็นกรดอ่อนๆ ในมะขามจะช่วยขจัดสิ่งสกปรกจากผิวหนังได้ เพื่อให้ผิวหนังที่เป็นรอยดำจางลง ทำให้ผิวขาวนุ่มนวลขึ้น4

สมุนไพรที่เรากล่าวไปข้างต้นนั้นเป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะยังมีอีกมากมายที่เราสามารถหาและใช้อยู่ในชีวิตประจำวันโดยที่เราอาจไม่รู้ตัว สมุนไพรใกล้ตัวมากมายเหล่านี้มีประโยชน์อย่างที่นึกไม่ถึงมาก่อน แต่อย่าลืมว่าถ้าอาจต้องการใช้สมุนไพรให้เกิดประโยชน์มากกว่าโทษต้องขึ้นอยู่กับวิธีการใช้สมุนไพรที่ถูกต้องและปริมาณที่เหมาะสมด้วย และข้อควรระวังคือสมุนไพรบางชนิดก็ไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางราย หรือสตรีมีครรภ์ ดังนั้น ควรศึกษาข้อมูล และข้อควรระวังทุกครั้งก่อนจะใช้สมุนไพร การที่จะทำให้เรามีสุขภาพที่ดีต้องเริ่มจากการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ออกกำลังกาย และอย่าลืมนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ


อ้างอิง

  1. สมุนไพร. คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล. https://www.rama.mahidol.ac.th/poisoncenter/th/pois-cov/Herbal
  2. กรุณา จันทุม. (2560). การรักษาโรคด้วยสมุนไพรและตำรับยาโบราณของหมอพื้นบ้าน. วารสารการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ, 24(2), 48-57.
  3. ‘ขิง’ ประโยชน์และโทษที่คาดไม่ถึง. เทคโนโลยีชาวบ้าน. https://www.technologychaoban.com/bullet-news-today/article_109993
  4. สมุนไพรกับการดูแลสุขภาพ. สถาบันการแพทย์แผนไทย. https://ittm.dtam.moph.go.th/index.php/knowledge-1/162-knowledge-2

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
กัญชา กัญชา เป็นยาวิเศษ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ขยะมือสองกับนักรณรงค์ Freegans

นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์

ความเจ็บปวด

วรชัย ทองไทย

คันและเกา

วรชัย ทองไทย

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สัจธรรมแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

แกะกล่อง Baby Box รอบโลก

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ครอบครัวของเด็กซีอัลฟา

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

ยาหลอก

วรชัย ทองไทย

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th