ในความคิดของใครหลายๆ คน การเรียนในรั้วมหาวิทยาลัยน่าจะเป็นช่วงเวลาที่พิเศษสุดช่วงหนึ่งของชีวิต ไม่ว่าเขาคนนั้นจะเคยได้ใช้ชีวิตเป็นนิสิต-นักศึกษามาแล้วหรือไม่ เพราะช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่เราข้ามพ้นความเป็นเด็กที่อาจถูกจำกัดอิสระในการเลือกทำอะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกันช่วงเวลานี้ก็เป็นช่วงที่เราได้เริ่มย่างก้าวเข้าสู่โลกกึ่งความเป็นจริง ที่ยังเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน ความหวัง และพลังอันล้นเหลือ ในการที่จะนำพาชีวิตไปสู่จุดที่วาดหวังไว้ อย่างไรก็ตาม ความพิเศษของช่วงวัยนี้ อาจสร้างปมหักเหในชีวิตให้กับใครบางคนได้ เพราะความหอมหวานของโอกาส อาจนำมาซึ่งความกดดัน ความเครียด และความผิดหวัง จนเกิดเป็นความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าที่กลายเป็นความเปราะบางของนิสิต-นักศึกษาไทยในปัจจุบัน
ปัญหาภาวะซึมเศร้าในกลุ่มนิสิต-นักศึกษาอาจไม่ใช่ปัญหาใหม่ในสังคมไทย แต่เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นและยังไม่สามารถคลี่คลายได้ จากผลการสำรวจคุณภาพชีวิตและความสุขของนิสิต-นักศึกษา1 จากมหาวิทยาลัย 46 แห่งทั่วประเทศในปี 2566 ด้วยแบบสอบถามสุขภาพผู้ป่วย Patient Health Questionnaire 9 ข้อ หรือ PHQ-9 ซึ่งเป็นการประเมินระดับภาวะซึมเศร้าในขั้นต้น พบว่า จากจำนวนนิสิต-นักศึกษา 43,753 คน ร้อยละ 38.42 มีอาการที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้า ในขณะที่ ร้อยละ 9.28 มีอาการค่อนข้างรุนแรงถึงรุนแรงมาก นอกจากนี้ นิสิต-นักศึกษาร้อยละ 14.44 เคยทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว และที่น่าตกใจ คือ นิสิต-นักศึกษาจำนวน 245 คน (ร้อยละ 0.56) รายงานว่าได้ทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตายทุกวัน (แผนภูมิ)
แผนภูมิ: สัดส่วนนิสิต-นักศึกษาที่มีอาการซึมเศร้า เคยทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย และแบ่งตามระดับความรุนแรงของภาวะซึมเศร้า (ออกแบบโดยใช้ www.canva.com)
ปัจจัยที่ทำให้นิสิต-นักศึกษามีความเปราะบางและเกิดภาวะซึมเศร้ามีได้หลายสาเหตุ ตั้งแต่กรรมพันธุ์ ความผิดปกติของสารเคมีในสมอง รวมไปถึงปัจจัยแวดล้อมที่เกิดมาจากการเรียนความสัมพันธ์ สภาพเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งผลการสำรวจฯ ได้แสดงถึงปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าในกลุ่มนิสิต-นักศึกษาได้ เช่น ปัจจัยทางเพศ พบว่า นิสิต-นักศึกษาเพศหลากหลาย และเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะมีอาการเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่านิสิต-นักศึกษาเพศชาย โดยเฉพาะในนิสิต-นักศึกษาเพศหลากหลายซึ่งมีความเปราะบางจากอัตลักษณ์ทางเพศ การถูกตีตรา และการถูกเลือกปฏิบัติที่แตกต่างจากสังคม ทำให้มีความเสี่ยงมากขึ้น2 ในขณะที่เพศหญิง ซึ่งเป็นเพศที่ละเอียดอ่อนและไวต่อความรู้สึก จึงแสดงออกต่อเรื่องราวรอบตัวได้ง่ายและชัดเจน และอาจทำให้แสดงความรู้สึก พร้อมทั้งแสวงหาความช่วยเหลือหรือที่พึ่งทางใจมากกว่าเพศชาย2
ความสัมพันธ์เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีความสำคัญสำหรับเด็กวัยนี้ เพื่อนและครอบครัวที่เข้าใจคือเกราะป้องกันสำคัญที่สามารถปกป้องนิสิต-นักศึกษาจากการดำดิ่งลงไปในปัญหาได้ การขาดเพื่อนและครอบครัวที่ใกล้ชิดเปรียบเสมือนการขาดกำลังใจ ซึ่งอาจทำให้อุปสรรคจากการเรียนและการใช้ชีวิตของนิสิต-นักศึกษายากมากขึ้นเป็นเท่าตัว และอาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าได้ในที่สุด นอกจากนี้ การทำงานพิเศษ สำหรับนิสิต-นักศึกษาในปัจจุบัน เป็นค่านิยมที่แสดงถึงการเติบโตและสร้างคุณค่าให้กับตนเองมากขึ้น การได้ทำงานระหว่างการศึกษาจึงเป็นข้อดีที่นอกจากจะช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ที่สามารถนำไปต่อยอดในการทำงานในอนาคตได้แล้ว ยังเป็นเหมือนภูมิคุ้มกันต่อภาวะซึมเศร้าได้อีกด้วย3
มหาวิทยาลัย ซึ่งเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สองของนิสิต-นักศึกษา จึงออกมาตรการดูแลสุขภาพใจของนิสิต-นักศึกษา ซึ่งจำเป็นต้องมีความครอบคลุม รอบด้าน และเข้าถึงได้ ตั้งแต่บริการให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญตลอด 24 ชั่วโมง การอบรมให้ความรู้และส่งเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการดูแลสุขภาพใจ การพัฒนากลไกเพื่อนดูแลเพื่อน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีไลฟ์สไตล์ที่ดีต่อสุขภาพ ตลอดจนการพัฒนาเครือข่ายมหาวิทยาลัยร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความต่อเนื่องและยั่งยืนในการป้องกันปัญหาและส่งเสริมสุขภาวะให้กับนิสิต-นักศึกษา รวมไปถึงบุคลากร ชุมชน และสังคมในวงกว้าง
เอกสารอ้างอิง
ภาพประกอบ freepik.com (premium license)
ณัฐพร โตภะ
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
สุภาณี ปลื้มเจริญ
มนสิการ กาญจนะจิตรา
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
สุชาดา ทวีสิทธิ์
วรชัย ทองไทย