The Prachakorn

อีกด้านหนึ่งของไอดอล K-pop: ความเครียด แรงกดดัน และการฆ่าตัวตาย | EP.2


พิมลพรรณ นิตย์นรา

29 มกราคม 2564
1,178



ความเปล่งประกาย สู่ความกดดัน และโรคซึมเศร้า

การเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีฐานแฟนคลับจากหลากหลายประเทศ ได้เล่นคอนเสิร์ตท่ามกลางผู้ชมนับพันหมื่น มีแสงไฟ spotlight สาดส่องพร้อม effect เวทีตระการตา...ในมุมมองของแฟนคลับที่ชื่นชอบศิลปิน ไอดอลจึงเปรียบเสมือนดาวดวงน้อย ๆ ที่เปล่งประกาย เป็นผู้สร้างรอยยิ้มและแรงบันดาลใจให้กับใครหลายคน แต่เบื้องหลังเวทีแล้วใครจะรู้ว่าไอดอลเหล่านี้ต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมาย

สิ่งที่ไอดอลต้องเผชิญพร้อม ๆ กับชื่อเสียงและความโด่งดังที่ได้รับ ไม่ใช่เรื่องเล็กและไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือสำหรับทุกคนในวัยอายุราว 20 ต้น ๆ การตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ส่วนใหญ่จึงตกเป็นของผู้จัดการวงและค่ายเพลงเป็นหลัก ไอดอลมีหน้าที่เพียงทำงานตามตารางงานที่กำหนดเท่านั้น Nadine Kam นักข่าวและ blogger ที่คร่ำหวอดในวงการ K-pop ได้บอกเล่าสิ่งที่ทำให้ไอดอลต้องพบเจอกับความยากลำบากและความกดดัน เช่น มีการแข่งขันระหว่างวงไอดอลที่สูง มีเวลาพักผ่อนน้อย ต้องห่างเหินจากสมาชิกครอบครัว1  ต้องผลิตผลงานเพลง บางครั้งอาจบาดเจ็บจากการฝึกซ้อมและการทำงาน ถูกรุกล้ำพื้นที่ส่วนตัว ถูกต่อว่าทางลบในสื่อสังคมออนไลน์โดยที่ไม่สามารถตอบโต้ได้ (cyberbullying) รวมทั้ง กฎเกณฑ์ของบริษัทที่ไอดอลทุกคนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อชื่อเสียงของตนเองและบริษัทต้นสังกัด แม้กฎบางข้อเป็นการจำกัดสิทธิก็ตาม สาเหตุเหล่านี้ล้วนทำให้เหล่าไอดอลต้องระมัดระวังตนเองและแบกรับความกดดันอย่างมาก เพราะการเกิดกระแสโจมตีหนึ่งครั้งทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง เช่น ความปลอดภัยของตัวไอดอลเอง การสูญเสียชื่อเสียง สูญเสียรายได้และการเติบโตของหุ้นบริษัทต้นสังกัด

ศิลปินวง iKON
ภาพถ่ายโดย Twitter: Sweet Scent Snow

ความกดดันและความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของสาเหตุที่ทำให้ไอดอลต้องตกอยู่ในภาวะซึมเศร้า เพราะการทำงานในวงการเกาหลีทำให้ไอดอลต้องแบกรับการรักษาภาพลักษณ์ รวมถึงความคาดหวังของครอบครัว ไปพร้อม ๆ กัน สำหรับไอดอลบางคน นอกจากการเป็นไอดอลจะเป็นความฝันแล้ว ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนคุณภาพชีวิตของตนเองและครอบครัวให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นด้วย เมื่อไอดอลต้องพบเจอกับสภาวะยากลำบากไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือจิตใจ ส่วนใหญ่จึงเลือกที่จะไม่ระบายความรู้สึกในพื้นที่สาธารณะเพราะมักจะถูกตัดสินจากบุคคลภายนอกอย่างไม่ยุติธรรม หรือไม่เปิดเผยกับครอบครัว เพราะอาจทำให้พ่อแม่เป็นกังวล บางคนไม่สามารถพึ่งพาคนใกล้ชิดได้ การเข้าสู่กระบวนการรักษาสภาพปัญหาทั้งทางกายหรือจิตใจจึงค่อนข้างเป็นไปอย่างยากลำบาก เพราะบรรทัดฐานและความคาดหวังที่สังคมสร้างไว้ นำไปสู่การไม่ถูกยอมรับ ถูกลดความน่าเชื่อถือในสังคม ในทางกลับกันการเปิดเผยออกมาอาจทำให้แฟนคลับเป็นห่วงและกังวล  

เหล่าไอดอลจึงจำเป็นต้องรับมือกับปัญหา โดยพยายามแบ่งแยกระหว่าง “สังคม” และ “ตัวจริง” เพื่อไม่ให้ชื่อเสียงและความโด่งดังกัดกินความเป็นตัวตนของตนเอง2  แต่ไอดอลหลายคนก็ไม่สามารถก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้ไปได้ แม้ว่าพวกเขาจะพยายามรักษาร่างกายและจิตใจด้วยตนเองและเข้าสู่กระบวนการรักษาทางการแพทย์แล้วก็ตาม จนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย3  ในช่วงระยะเวลา 3 ปี (ค.ศ. 2017-2019) มีไอดอลที่มีชื่อเสียงระดับเอเชียของวงการบันเทิงเกาหลีเสียชีวิตถึง 3 คน ในระยะเวลาที่ไม่ห่างกันมากนักและพวกเขายังมีอายุไม่มาก (ระหว่าง 25-28 ปี) ซึ่งทุกคนมีสาเหตุมาจากโรคซึมเศร้าในระดับที่รุนแรง

ศิลปินวง Blackpink
ภาพถ่ายโดย IG: Cheru_u

ข่าวการฆ่าตัวตายของไอดอลสร้างความตกใจและเสียใจในกลุ่มแฟนคลับเป็นอย่างมาก เรื่องราวการฆ่าตัวตายที่เป็นพฤติกรรมเลียนแบบในกลุ่มแฟนคลับที่ทำใจรับการสูญเสียของศิลปินที่ตนรักไม่ได้มีออกมาเป็นระยะ ๆ ความสูญเสียนี้เป็นชนวนสำคัญให้คนในสังคมหันกลับมาสนใจสาเหตุการตายมากขึ้น และมีไอดอลหลายคนเริ่มออกมาเปิดใจว่าตนเองเป็นโรคซึมเศร้าและเรียกร้องให้คนในสังคมตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น
ภาวะซึมเศร้าอาจเรียกได้ว่าเป็นโรคที่พบเจอได้ทั่วไปในกลุ่มคนที่มีชื่อเสียง ไม่เพียงแต่ไอดอลเท่านั้น นางแบบ นักแสดง หรือนักกีฬาที่มีชื่อเสียงก็ถูกพบว่ามีภาวะซึมเศร้า พัคจินฮี (Park Jin Hee) นักแสดงหญิงคนหนึ่งได้ทำการศึกษาเพื่อทำวิทยานิพนธ์ในการเรียนปริญญาโท เรื่องภาวะซึมเศร้าและการกระตุ้นให้เกิดการฆ่าตัวตายในหมู่นักแสดงจำนวน 260 คนที่มีค่าตัวอยู่ที่ 2 หมื่นถึง 3 แสนบาทต่อการแสดงซีรีย์หนึ่งตอน การศึกษา พบว่านักแสดงถึงร้อยละ 40 เป็นโรคซึมเศร้า และร้อยละ 20 ยอมรับว่ามีความรู้สึกและแรงกระตุ้นที่อยากจะฆ่าตัวตาย4

การสำรวจหนึ่งในประเทศเกาหลีใต้ พบอัตราการฆ่าตัวตายของประชากรอยู่ที่ 26.6 คนต่อประชากรแสนคน ซึ่งอัตราการฆ่าตัวตายของเกาหลีใต้ถูกจัดอันดับสูงเป็นอันดับที่ 4 ของโลกโดยการสำรวจขององค์การอนามัยโลก (หรือ WHO) ผู้ชายมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงกว่าผู้หญิงสองเท่า และอัตราการฆ่าตัวตายของผู้หญิงเกาหลีใต้สูงกว่าทุกประเทศในโลก นอกจากนี้ การสำรวจด้านสุขภาพจิต พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรเป็นโรคซึมเศร้าจากความเครียดในการทำงานและความวิตกกังวลทางสังคม มีคนจำนวนไม่มากที่เข้ารับการรักษากับจิตแพทย์อย่างจริงจัง เนื่องจากบริบทสังคมยังไม่เปิดกว้างสำหรับการเข้ารับการรักษาโรคทางจิตเวชมากนัก5  เมื่อพิจารณาในกลุ่มประชากร 9-24 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุเดียวกันกับกลุ่มไอดอล พบว่าการฆ่าตัวตายเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนกลุ่มนี้ โดยมีอัตราเพิ่มขึ้นจาก 7.7 เป็น 9.1 คนต่อประชากรช่วงอายุเดียวกันหนึ่งแสนคน ในปี ค.ศ. 2017 และ 2018 ตามลำดับ อัตรานี้เคยพุ่งสูงสุดถึง 10.3 คน ในปี 2009 นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรอายุ 13-24 ปีมีความกังวลเกี่ยวกับหน้าที่การงานในอนาคตมากที่สุด รองลงมา คือ ผลการเรียน และรูปร่างหน้าตา ปี ค.ศ. 2019 พบว่า มีเด็กนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาถึงร้อยละ 28.2 เป็นโรคซึมเศร้า

อย่างไรก็ตาม จากปรากฎการณ์การฆ่าตัวตายของไอดอลเกาหลีรวมทั้งคนมีชื่อเสียงอีกมากมาย ทำให้สังคมตื่นตัวกับโรคซึมเศร้ามากขึ้น และรัฐบาลเกาหลีก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในการแก้ไขปัญหา โดยมีการกำหนดมาตรการป้องกันการฆ่าตัวตายขึ้นเป็นวาระแห่งชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ มีการเริ่มโครงการ “Bridge of Life” ที่สะพานมาโปซึ่งเป็นสถานที่ที่คนมักจะมาพยายามฆ่าตัวตายอยู่บ่อยครั้ง บริเวณสะพานจะมีการฉายข้อความและภาพเพื่อให้กำลังใจแก่คนที่มาเยี่ยมชมและจัดตั้งศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายของเกาหลีใต้ เพื่อให้บริการ เช่น การให้คำปรึกษาทางการแพทย์และการเยียวยาจิตใจสำหรับผู้รอดชีวิตจากการฆ่าตัวตาย ตลอดจนบริการสายด่วนให้คำปรึกษาตลอด 24 ชั่วโมง5 โดยตั้งเป้าลดอัตราการฆ่าตัวตายให้เหลือ 17 คนต่อประชากรแสนคนภายในปี ค.ศ. 2022


อ้างอิง

  1. Kam, N. (2019). 10 reasons you don’t want your child to be a K-pop star … it looks fun & glam but …. [cited 2020 December 9] from http://www.kpopkosmos.com/2019/07/15/10-reasons-you-dont-want-your-child-to-be-a-k-pop-star-it-looks-fun-glam-but/
  2. Young, H.D., (2017). Why are K-pop stars susceptible to depression?. [cited 2020 December 9] from http://www.koreaherald.com/view.php?ud=20171220000893
  3. Hun, C.S. and Lee, S.H., (2019). Suicides by K-Pop Stars Prompt Soul-Searching in South Korea. [cited 2020 December 9] from https://www.nytimes.com/2019/11/25/world/asia/goo-hara-kpop-suicide.html
  4. Sook, B.J., (2010). 40 Percent of Actors Considered Suicide.  [cited 2020 December 9] from http://m.koreatimes.co.kr/pages/article.asp?newsIdx=64133
  5. Won So, (2020). Suicide rate in South Korea 2012-2018.  [cited 2020 December 9] from https://www.statista.com/statistics/789337/south-korea-suicide-death-rate/

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

การพนัน

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th