ในช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ผู้เขียนได้เดินทางไปยังประเทศอังกฤษเพื่อทำการสอบวิทยานิพนธ์เพื่อสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาเอก และได้อ่านข่าวเมื่ออยู่ที่นั่นว่าโรคโควิด 19 กำลังระบาดเข้ามาในยุโรปและอังกฤษ แม้ว่าจะมีการนำเสนอข่าวเรื่องการระบาดของโรคโควิด 19 เพิ่มมากขึ้นในอังกฤษ แต่ประชาชนชาวอังกฤษก็ไม่ได้ตื่นตระหนกนัก แม้แต่อาจารย์ที่ปรึกษาของผู้เขียนเองยังพูดว่า “ผมว่ามันก็คงเป็นเหมือนโรคหวัดทั่วไปนั่นแหละ” แต่ในใจชาวเอเชียอย่างเรา เมื่อเห็นข่าวแบบนี้ก็พานึกไปถึงการระบาดของโรค SARS หรือโรคไข้หวัดนก ที่มีความรุนแรง คนไทยในอังกฤษเริ่มระวังตัวในการออกจากบ้านมากขึ้น ตัวผู้เขียนเองใส่ถุงมือกันหนาวออกจากบ้านทุกครั้ง เพราะรู้ว่าจะต้องใช้บริการรถสาธารณะ หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า อีกทั้งยังออกห่างจากกลุ่มคน
ในตอนนั้นที่อังกฤษยังไม่มีใครใส่หน้ากากอนามัย คนที่เริ่มใส่เป็นกลุ่มชาวเอเชียที่อาศัยอยู่ในประเทศ การใส่หน้ากากอนามัยไม่ได้เป็นวัฒนธรรมที่ชาวอังกฤษพึงปฏิบัติกัน แต่ชาวเอเชีย เช่น ชาวจีนและชาวไทยในอังกฤษ มองว่าการใส่หน้ากากเป็นการป้องกันตนเองจากโรคระบาด แต่กลับกลายเป็นว่าช่วงโควิด-19 ระบาดในประเทศอังกฤษใหม่ๆ มีรายงานเหตุการณ์การเหยียดเชื้อชาติต่อชาวไทยและชาวเอเชียอื่นๆ โดยเฉพาะคนที่ใส่หน้ากากอนามัย ด้วยการด่าทอ หาว่าเป็นต้นเหตุของการระบาด และมีการทำร้ายร่างกายร่วมด้วย1 2 3
หลังจากผู้เขียนกลับจากอังกฤษได้ไม่นาน ประเทศอังกฤษก็ได้กลายเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนหลักพันและมีอัตราการตายสูงเป็นอันดับต้นๆ ของยุโรป หลังจากที่กลับมายังประเทศไทยแล้ว ผู้เขียนยังติดต่อกับเพื่อนๆ พี่ๆ คนไทยที่รู้จักกัน จึงได้ทราบถึงความกังวลในการดำรงชีวิตในฐานะคนเอเชีย เนื่องจากกลัวอาชญากรรมจากการเหยียดเชื้อชาติ และยังกังวลถึงการดำรงชีวิตที่จะต้องเปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ
รัฐบาลอังกฤษ นำโดยนายกรัฐมนตรี Boris Johnson ได้ประกาศให้ใช้มาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563 มาตรการปิดเมืองของอังกฤษทำให้ร้านค้า ร้านอาหาร และบริการต่างๆ ต้องปิดตัวลงชั่วคราวเป็นเวลาประมาณ 3 เดือน สิ่งที่เป็นผลกระทบชัดเจนต่อคนไทยที่อาศัยอยู่ในประเทศอังกฤษคือ การว่างงานชั่วคราวจากมาตรการดังกล่าว
จากงานวิจัยระดับปริญญาเอกของผู้เขียน โดยเก็บข้อมูลจากแบบสอบถามหญิงไทยในอังกฤษจำนวน 300 คน และสัมภาษณ์เชิงลึกกับหญิงไทยอีก 31 คน พบว่า ผู้หญิงไทยที่อาศัยในอังกฤษส่วนใหญ่ทำงานในภาคบริการ เช่น พนักงานร้านอาหาร พนักงานร้านเสริมสวย พนักงานร้านนวด ผู้ดูแลคนสูงวัย พยาบาล เป็นต้น กลุ่มตัวอย่างของผู้เขียนจำนวนมากทำงานอยู่ในร้านอาหารไทยในอังกฤษ ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากมาตรการปิดเมือง
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลอังกฤษได้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านรายได้ เช่น ให้เงินเยียวยากับลูกจ้าง (Furlough scheme) ที่ได้รับผลกระทบจากการปิดร้าน จากที่ได้พูดคุยกับหญิงไทยที่ทำงานร้านอาหารไทยที่มีระบบค่าจ้าง (Payroll) และจ่ายภาษีอย่างถูกต้องตามกฎหมาย พบว่า เธอได้รับเงินชดเชยจากรัฐบาล 80% ของรายได้ประจำ เพื่อนของผู้เขียนอีกคนหนึ่งที่ทำงานเป็นพนักงานขายในสนามบินก็ได้รับเงินชดเชยในลักษณะเดียวกัน
แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้หญิงไทยที่ทำงานในอังกฤษจำนวนมากเป็นแรงงานนอกระบบ ได้รับเงินค่าจ้างเป็นเงินสด หรือทำงานในลักษณะไม่เต็มเวลา (part-time) จึงไม่ได้ถูกรวมอยู่ในผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลเนื่องจากเงินรายได้ไม่ผ่านระบบภาษี นอกจากนั้น คนไทยจำนวนมากยังทำงานเป็นผู้ดูแลผู้สูงวัยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล จึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อมากกว่าคนที่ทำงานในภาคอื่นๆ หนังสือพิมพ์ภาษาไทยในประเทศอังกฤษ AmThai Paper4 ได้รายงานว่า จนถึงเดือนเมษายน 2563 มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 จำนวน 8 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือผู้หญิงไทยที่ทำงานเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลของอังกฤษ
ถึงแม้ว่ามาตรการปิดเมืองอย่างเข้มงวดดังกล่าวจะผ่อนคลายลงในเดือนมิถุนายน แต่รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศใช้มาตรการปิดเมืองอีกครั้งหนึ่ง ตั้งแต่วันที่ 5 พฤศจิกายน ถึง วันที่ 2 ธันวาคม เนื่องจากอังกฤษกำลังเข้าสู่ระลอกสองของการระบาด ทั้งนี้ผู้เขียนก็ขอเป็นกำลังใจให้ชาวไทยในอังกฤษทุกคนสามารถผ่านพ้นจากสถานการณ์นี้ไปได้ด้วยดีค่ะ
ที่มา: https://www.freepik.com
สิรินทร์ยา พูลเกิด
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
สลาลี สมบัติมี
ปาริฉัตร นาครักษา
ประทีป นัยนา
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
วาทินี บุญชะลักษี
จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
จงจิตต์ ฤทธิรงค์,พรสุรีย์ จิวนานนท์
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา