The Prachakorn

รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในเขตเมือง


ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น

18 ตุลาคม 2564
1,022



ประเทศไทยในช่วงที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่บรรเทาลง กรมควบคุมโรคได้แสดงให้เห็นว่า ผู้สูงอายุหรือประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอัตราป่วยตายสูงกว่ากลุ่มอายุอื่นในทุกระลอกของการระบาด รวมถึงระลอกปัจจุบัน ตั้งแต่ 1 เมษายน 2564 ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราป่วยตายสูงถึง 7.76%1 ในสถานการณ์ที่ความเสี่ยงในการใช้ชีวิตสำหรับคนทุกเพศทุกวัยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพังคนเดียว ขาดคนดูแล และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางสังคมได้ด้วยตนเอง จากรายงานข่าวทางสื่อต่างๆ ในการเข้าไปช่วยเหลือผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังที่ติดเชื้อ เป็นภาพที่สังคมต้องกลับมาคิดกันว่า จะหาทางช่วยเหลือและดูแลกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังนี้อย่างไร

ขนาดครัวเรือนของคนไทยที่เล็กลงในปัจจุบันได้ทำให้โครงสร้างครัวเรือนเปลี่ยนแปลงไป รูปแบบการอยู่อาศัยของครัวเรือนไทยที่พบเห็นมากขึ้นในปัจจุบัน คือ “ครัวเรือนผู้สูงอายุ” ซึ่งเป็นครัวเรือนที่มีแต่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในครัวเรือน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการอาศัยอยู่คนเดียว อยู่กันเฉพาะสามีภรรยา หรืออาศัยอยู่กับพ่อแม่ญาติพี่น้องที่สูงอายุแล้ว ครัวเรือนผู้สูงอายุดังกล่าวได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งในพื้นที่เมือง (ในเขตเทศบาล) และพื้นที่ชนบท (นอกเขตเทศบาล) จากการศึกษาเรื่อง “รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในเขตเมืองเพื่อสนับสนุนการมีที่อยู่อาศัยและการดูแลที่เหมาะสม” ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสภาวิจัยแห่งชาติผ่านสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) ได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2539 2550 และ 2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนผู้สูงอายุโดยเฉพาะครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.3 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 6.5 ในปี 2562 และครัวเรือนที่อยู่กันเฉพาะผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.1 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 6.2 ในปี 2561

รูป: ร้อยละของครัวเรือนผู้สูงอายุในเขตเมือง
ที่มา: วิเคราะห์จากข้อมูลสำ.รวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน พ.ศ. 2539 2550 และ 2561

ที่อยู่อาศัยของครัวเรือนผู้สูงอายุในเขตเมือง

ประเภทที่อยู่อาศัย เป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการเข้าถึงบริการต่างๆ ทั้งบริการทางสุขภาพและบริการทางสังคมอื่นๆ จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน ในช่วงปี พ.ศ. 2539-2561 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ครัวเรือนผู้สูงอายุที่อยู่ตามลำพังคนเดียวในเขตเมืองส่วนใหญ่ มีลักษณะเป็นบ้านเดี่ยวลดลง ในขณะที่มีการอาศัยอยู่ในห้องชุด (อะพาร์ทเมนต์ แฟลต คอนโดมิเนียม) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดจากไม่ถึงร้อยละ 1 ในปี 2539 ได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 3 ในปี 2561 ในอนาคตมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้สูงอายุที่อยู่ลำพังคนเดียวในเขตเมืองจะมีจำนวนมากขึ้น ดังนั้นการดูแลผู้สูงอายุกลุ่มนี้ทั้งทางด้านกายภาพ สิ่งแวดล้อม และสังคม รวมถึงการมีสวัสดิการที่จำเป็น

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องน่าคิดว่า ควรจัดให้มีการดูแลและบริการผู้สูงอายุในเขตเมือง ในลักษณะที่สามารถเข้าถึงผู้สูงอายุในที่อยู่อาศัยได้อย่างไร ทั้งในด้านสาธารณสุข ที่เป็นการสนับสนุนให้มีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข รวมถึงอาสาสมัครและเครือข่ายเพื่อนบ้าน ให้สามารถจัดบริการและดูแล รวมถึงช่วยเหลือสนับสนุนกลุ่มผู้สูงอายุในเขตเมืองอย่างทั่วถึง ทางด้านสังคม การส่งเสริมระบบบริการแบบเคลื่อนที่สำ.หรับผู้สูงอายุในเขตเมือง หรือนำบริการทางสังคมเข้าถึงประชาชน

การแพร่ระบาดของโควิด–19 อาจส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอยู่อาศัยของคนในสังคม ถือได้ว่าเป็นช่วงรอยต่อของการเปลี่ยนแปลงในชีวิต ความไม่แน่นอนของสถานการณ์ในระยะยาว อาจเป็นช่วงที่ช่วยขยายความชัดเจนของสังคมในอนาคตว่าสิ่งใดที่ยังขาด สิ่งใดที่จำเป็น และสิ่งใดที่ไม่เหมาะสม “รูปแบบการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทยในเขตเมือง” ที่ได้เปลี่ยนแปลงไปในช่วงเวลาที่ผ่านมาและกำลังจะเปลี่ยนเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต เป็นเรื่องน่าสนใจที่จะต้องติดตามกันต่อไป

ที่มา: https://www.freepik.com/vectors/business>Business vector created by pch.vector สืบค้นเมื่อ 11 กันยายน 2564


อ้างอิง

  1. ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค. 2564. รายงานสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019. สืบค้นจาก https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/situation/situation-no612-060964.pdf. สืบค้นเมื่อ 14 กันยายน 2564

 

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

มารู้จักวัคซีนโควิด 19

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

อยากออกไปล็อกดาวน์ในดินแดนมังกร

นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์

รอหมูป่าออกจากถ้ำ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

น้ำลาย

วรชัย ทองไทย

ประชากรไทยเริ่มลดลงแล้ว

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th