The Prachakorn

อินเดียยกเลิกภาษี 12% สำหรับผลิตภัณฑ์สุขอนามัย


อมรา สุนทรธาดา

02 สิงหาคม 2564
736



ความเชื่อเรื่องสุขอนามัยที่ว่าสุขอนามัยเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับผู้หญิง ทุกวัย เชื้อชาติ ศาสนา ภาษาวัฒนธรรม และประเพณี อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงแล้ว ยังมีความเชื่อและการปฏิบัติที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง เช่น ความเชื่อและทัศนคติเรื่องการมีประจำเดือนของสตรีในเอเชียใต้ ที่ว่าเป็นสิ่งสกปรก ทำให้ผู้หญิงต้องเผชิญความยากลำบากในชีวิตประจำวัน เช่น ชุมชนในแถบเทือกเขาหิมาลัย มีข้อปฏิบัติที่เคร่งครัดสำหรับผู้หญิงที่มีรอบเดือน เช่น ถูกห้ามนอนในบ้านของตนเอง บางคนต้องไปนอนในคอกวัว หรือกระท่อมนอกหมู่บ้าน เชื่อว่าหากปล่อยให้ผู้หญิงที่มีรอบเดือนเข้าบ้าน หรือเข้าวัด จะทำให้พระเจ้าโกรธเคือง

ความเชื่อและการปฏิบัติสำหรับเรื่องนี้ในประเทศอินเดียมีประเด็นน่าสนใจมาเล่าสู่กันฟัง เชื่อหรือไม่ว่าประชากรหญิงกว่า 300 ล้านคน มีรายได้ไม่พอที่จะซื้อหาผ้าอนามัยและต้องใช้ผ้าอื่นทดแทนเมื่อมีรอบเดือน โดยเฉพาะหญิงในชนบทต้องหาที่อยู่ชั่วคราวในช่วงเวลาดังกล่าวตามประเพณีปฏิบัติบนฐานความเชื่อว่า ไม่สะอาด เช่นเดียวกับเยาวชนหญิงร้อยละ 20 ต้องหยุดเรียนเนื่องจากครอบครัวไม่มีเงินพอสำหรับค่าใช้จ่ายเพื่อซื้อสิ่งของที่จำเป็นสำหรับสุขอนามัย1

เมื่อความจำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับคุณภาพชีวิตไม่ได้รับการเหลียวแลจากรัฐเท่าที่ควร เพราะรัฐบาลจัดให้ผ้าอนามัยอยู่ในรายการสินค้าฟุ่มเฟือย และเรียกเก็บภาษี 12% ในภาษาฮินดีเรียกการเก็บภาษีนี้ว่า ลาฮู กา ลูกาน (Lahu Ka Lagaan) ซึ่งแปลว่า “ภาษีเลือด” นักเคลื่อนไหวรณรงค์รวมตัวเพี่อเรียกร้องให้ยกเลิกการเก็บภาษีขึ้นในทันที รวมถึงการฟ้องศาลและร้องเรียนจำนวนมาก มีผู้ร่วมลงชื่อมากกว่า 4 แสนรายชื่อเพื่อหาคำตอบจากรัฐบาล2

มีผู้หญิงหลายคนได้รับอันตรายถึงชีวิตจากสัตว์ป่า โรคภัย และสภาพอากาศรุนแรง ระหว่างที่ต้องแยกไปอยู่ตามลำพังในเพิงพักชั่วคราวในช่วงที่มีรอบเดือน ซึ่งอยู่ห่างบ้านตนเองหรือชุมชน ถึงกระนั้น ธรรมเนียมปฏิบัติดังกล่าวก็ยังคงมีให้เห็นกันอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากความเชื่อฝังลึกที่สืบทอดกันมานาน

ผลสำรวจที่จัดทำโดยองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งพบว่า ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมา 98% ของที่พักชั่วคราวในขณะมีรอบเดือน ในท้องถิ่นรวม 223 แห่ง ขนาดเล็กแคบ ไม่มีทั้งประตูและหน้าต่าง ไม่มีห้องสุขา ไฟฟ้า น้ำดื่มน้ำใช้ หรือสิ่งอำนวยความสะดวกใดๆ ไม่ถูกสุขลักษณะและไม่ปลอดภัยต่อผู้เข้าไปพักอาศัย และมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 21 คน จากสาเหตุที่ป้องกันได้ กลายเป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนในวัฒนธรรมฮินดูต้องแบกรับไว้

แม้การแก้ปัญหาที่แท้จริงควรจะเป็นวิธีให้การศึกษา เพื่อปรับเปลี่ยนความเชื่อและการปฏิบัติ การยกฐานะสตรีให้เท่าเทียมกับบุรุษ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงความเชื่อตามวิถีวัฒนธรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา

ภาพ เปรียบเทียบบ้านพักช่วงมีประจำเดือนที่สร้างเองและที่พักแห่งใหม่ สนับสนุนโดย สมาคมเพื่อสวัสดิการสังคม “เขรวดี” (KWSA) องค์กรเอกชน นครมุมไบ
ที่มา: https://www.bbc.com/thai/international-57367333 สืบค้นเมื่อ 10 กรกฎาคม 2564

ในสถานการณ์เปราะบางย่อมมีข่าวดีเช่นกัน โดยสถาบันเพื่อการวิจัยสภาวะการเจริญพันธ์ุ รัฐราชสถาน (Rajasthan) ทดลองโครงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจากผ้าอนามัยที่ใช้แล้ว โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีฐานะยากจนและอยู่ห่างไกลไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจภายในอีกต่อไป สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกคือการขาดแคลนห้องสุขาทั้งในครัวเรือนและสาธารณะ รวมทั้งการรักษาความสะอาดอวัยวะเพศ ความอายและความเชื่อที่ผิดทำให้หญิงอินเดียส่วนใหญ่ไม่ยอมรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีการตรวจภายใน 

โครงการนำร่องดังกล่าวเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก โครงการนี้จะเก็บตัวอย่างผ้าอนามัย จำนวน 500 ราย อายุระหว่าง 30-50 ปี มาตรวจสอบตลอดระยะเวลา 2 ปี ผู้เข้าร่วมโครงการจะเก็บผ้าอนามัยที่ใช้แล้วใส่ถุงพลาสติกเพื่อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขท้องถิ่น ไปเก็บรักษาที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสก่อนนำส่งศูนย์ตรวจสอบต่อไป จากนั้นเจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการจะสกัดดีเอ็นเอจากเลือดที่เปื้อนติดผ้า เพื่อตรวจสอบดูว่ามีร่องรอยของเชื้อไวรัส HPV หรือไม่ ในเบื้องต้นของการทดลองพบผู้ติดเชื้อ 24 ราย จากทั้งหมด 500 ตัวอย่าง ซึ่งจะมีการเรียกตรวจซ้ำวินิจฉัยอาการอย่างละเอียดต่อไป3

สำหรับประเด็นสุขอนามัยยังมีอีกหลายแง่มุมที่ต้องมาวิเคราะห์เพื่อทำความเข้าใจในมิติความเป็นชายเป็นหญิง และการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์เพื่อความเสมอภาค 


  1. https://www.globalcitizen.org/en/content/periods-are-a-pain-but-they-shouldnt-stop/?template=next
  2. https://www.globalcitizen.org/en/content/tax-on-blood-campaign-to-stop-tampon-tax-in-india/?template=next
  3. https://www.bbc.com/thai/international-41211677
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
มะเร็ง

วรชัย ทองไทย

ภาษี

วรชัย ทองไทย

คณิตศาสตร์

วรชัย ทองไทย

ยกทรง

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th