กลิ่น (odor หรือ smell) คือ สารเคมี (สารให้กลิ่น) ที่ระเหยออกมาจากสิ่งต่างๆ ไปสู่อากาศ ซึ่งมนุษย์และสัตว์จะรับรู้ได้ด้วยประสาทรับกลิ่นที่อยู่ในจมูก การใช้จมูกดมกลิ่น (ดูรูป) จึงเป็นวิธีรับรู้กลิ่นของมนุษย์และสัตว์ ยกเว้นสัตว์บางชนิด เช่น งูใช้ลิ้น แมลงวันและผีเสื้อใช้เท้า ปลาหมึกใช้หนวด
รูป ภาพแกะสลัก Smell (Odor) โดย Francis Cleyn (1582–1658)
ที่มา: https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/f/f1/Smell_%28Odor%29%2C_from_Quinque_Sensuum_MET_DP837405.jpg
สืบค้นเมื่อ 4 พฤษภาคม 2568
กลิ่นเป็นคำกลางๆ ที่ใช้เรียกทั้งกลิ่นที่ชอบใจและไม่ชอบใจ โดยกลิ่นหอมใช้เรียกกลิ่นที่ชอบใจ ส่วนกลิ่นเหม็นใช้เรียกกลิ่นที่ไม่ชอบใจ
สารให้กลิ่นหรือโมเลกุลกลิ่นหนึ่งๆ อาจประกอบด้วยสารเคมีชนิดเดียว หรือสารเคมีหลายชนิดผสมรวมกันก็ได้
ประสาทรับกลิ่นของมนุษย์อยู่ในโพรงจมูก ทำหน้าที่ตรวจจับสารเคมีในโมเลกุลกลิ่น กลิ่นจะถูกประมวลผลโดยระบบรับรู้กลิ่นในจมูกก่อน แล้วจึงถูกส่งไปยังส่วนรับรู้กลิ่นในสมอง เพื่อวิเคราะห์ความเชื่อมโยงของกลิ่นกับประสบการณ์ในอดีต จากนั้นจึงส่งต่อไปยังระบบประสาทที่ควบคุมอารมณ์และพฤติกรรม
การรับรู้กลิ่นจึงเป็นกระบวนการ 2 ขั้นตอน ขั้นตอนแรกเป็นส่วนทางกายคือ การรับรู้กลิ่นด้วยประสาทรับกลิ่นในจมูก จากนั้นจึงเป็นส่วนของจิตคือ การแปลผลของกลิ่นในสมอง ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องยากที่จะวัดและวิเคราะห์กลิ่นอย่างเป็นรูปธรรม
เส้นประสาทรับกลิ่นเป็นเส้นประสาทชนิดเดียวที่งอกใหม่ได้ และจะงอกใหม่ทุกๆ 30-60 วัน จึงส่งผลให้ระบบรับกลิ่นหรือประสาทรับกลิ่น เป็นประสาทสัมผัสที่ไวที่สุดในประสาทสัมผัสทั้งห้า (มองเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รับรส และสัมผัส) เราจึงรับรู้กลิ่นต่างๆ (นับล้านกลิ่น) ในบรรยากาศรอบตัวเราได้อย่างรวดเร็ว
ยิ่งกว่านั้นกลิ่นยังส่งผลต่ออารมณ์ของเราได้เร็วกว่าสิ่งเร้าอื่นๆ ทั้งนี้เพราะประสาทรับกลิ่นทำงานตรงข้ามกับประสาทสัมผัสอื่นๆ กล่าวคือ สำหรับประสาทรับการเห็น ประสาทรับเสียง และประสาทรับรสนั้น เราจะระบุข้อมูลก่อนที่จะตอบสนองทางอารมณ์ แต่สำหรับประสาทรับกลิ่นแล้ว เราจะมีปฏิกิริยาทางอารมณ์ก่อนที่จะระบุว่าเป็นกลิ่นอะไร
อย่างไรก็ตามคนส่วนใหญ่เมื่อได้กลิ่นจะไม่รู้ว่ามีส่วนผสมของสารอะไรบ้างในกลิ่น แต่จะรู้สึกถึงผลกระทบทางอารมณ์ของกลิ่นเท่านั้น แต่ผู้มีประสบการณ์ เช่น ผู้ปรุงกลิ่น ผู้ปรุงน้ำหอม จะสามารถแยกแยะสารเคมีแต่ละชนิดได้ด้วยการดม
ถึงแม้ว่าความรู้สึกเกี่ยวกับกลิ่นจะเป็นการรับรู้ส่วนบุคคล แต่ปฏิกิริยาต่อกลิ่นของแต่ละคนจะสัมพันธ์กับเพศ อายุ สุขภาพ ความรู้สึกและประสบการณ์ส่วนตัว
ความสามารถในการระบุกลิ่นแตกต่างกันไปในแต่ละคน เมื่ออายุเพิ่มขึ้นความสามารถระบุกลิ่นก็ลดลงด้วย โดยจะเป็นไปอย่างช้าๆ จนถึงอายุ 70 ปี และลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น
ผู้หญิงสามารถระบุกลิ่นได้ดีกว่าผู้ชาย สตรีมีครรภ์จะมีความไวต่อกลิ่นมากขึ้น จึงส่งผลให้การรับรู้รสชาติและกลิ่นผิดไปจากปกติ อันมีผลให้เกิดความอยากอาหารบางชนิด และไม่ชอบอาหารบางชนิด
กลิ่นช่วยให้เราปลอดภัยจากการบริโภคอาหารเน่าเสีย หรือเตือนเมื่อเกิดไฟไหม้ หรือเกิดก๊าซรั่ว นอกจากนี้ กลิ่นยังมอบความสุขทางอารมณ์ให้กับเรา จากการดมดอกไม้ น้ำหอม และอาหารสด ซึ่งจะทำให้เรานึกถึงความทรงจำในอดีตอีกด้วย
คนเรามักจะไม่รับรู้กลิ่นที่เราคุ้นเคย เช่น กลิ่นของตนเอง แต่จะรับรู้กลิ่นจากภายนอกหรือกลิ่นที่ไม่ค่อยได้พบ
กลิ่นของตัวเราเกิดขึ้นเมื่อเหงื่อสัมผัสกับแบคทีเรียบนผิวหนัง ซึ่งจะมีทั้งกลิ่นหวาน เปรี้ยว เผ็ด หรือคล้ายหัวหอม
เหงื่อไม่มีกลิ่น แต่อาหาร ฮอร์โมน ยา การรักษาสุขอนามัย หรือพันธุกรรม อาจส่งผลให้เหงื่อมีกลิ่นเหม็นได้ และเหงื่อที่มีกลิ่นเหม็นนี้เราเรียกว่า กลิ่นตัว
อาหารที่มีกำมะถันสูงอาจทำให้เกิดกลิ่นตัว กำมะถันมีกลิ่นเหมือนไข่เน่า เมื่อร่างกายขับออกมาทางเหงื่อ ก็จะส่งกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ อาหารที่มีกำมะถันสูง เช่น หัวหอม กระเทียม กะหล่ำปลี บร็อคโคลี กะหล่ำดอก เนื้อแดง
อาหารบางชนิดอาจทำให้เหงื่อออกมากขึ้น และจะส่งผลให้กลิ่นตัวแรงขึ้นได้ อาหารที่ส่งผลต่อปริมาณเหงื่อ เช่น ผงชูรส คาเฟอีน เครื่องเทศ (ผงกะหรี่ ยี่หร่า) อาหารรสเผ็ด แอลกอฮอล์
อย่างไรก็ตามปริมาณเหงื่อไม่ได้ส่งผลต่อกลิ่นตัวเสมอไป คนไม่มีเหงื่อก็อาจมีกลิ่นตัว ในทางกลับกันคนมีเหงื่อมากก็อาจไม่มีกลิ่นตัว
ยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกที่ทำให้เกิดกลิ่นตัว เช่น อากาศร้อน การออกกำลังกาย พันธุกรรม ความเครียดหรือความวิตกกังวล น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
นอกจากนี้ยังมีภาวะทางการแพทย์และโรคที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของกลิ่นตัว เช่น วัยหมดประจำเดือน ต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป โรคเบาหวาน โรคเกาต์ โรคตับ โรคไต โรคติดเชื้อ
การรักษากลิ่นตัวสามารถทำได้ ด้วยการดูแลสุขอนามัยและการดำเนินชีวิต เช่น อาบน้ำทุกวัน ใช้สารระงับเหงื่อแบบทา ซักเสื้อผ้าเป็นประจำ ใส่เสื้อผ้าที่สะอาด สวมเสื้อผ้าหลวมและทำจากผ้าฝ้าย ลดอาหารที่มีกลิ่นแรง ลดความเครียด
รางวัลอีกโนเบลปี 2564 สาขาเคมีได้มอบให้กับนักวิจัย 10 คน จากประเทศเยอรมัน สหราชอาณาจักร นิวซีแลนด์ กรีซ ไซปรัส และออสเตรีย (Jörg Wicker, Nicolas Krauter, Bettina Derstroff, Christof Stönner, Efstratios Bourtsoukidis, Achim Edtbauer, Jochen Wulf, Thomas Klüpfel, Stefan Kramer และ Jonathan Williams) ที่ได้ใช้อากาศภายในโรงภาพยนตร์มาทำการวิเคราะห์ทางเคมี เพื่อทดสอบว่ากลิ่นตัวของคนดูหนังจะเป็นตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือได้หรือไม่ ในการใช้วัดระดับของพฤติกรรมทางเพศ พฤติกรรมต่อต้านสังคม การใช้สารเสพติด ความรุนแรง และการพูดหยาบคาย ในหนังที่กําลังฉายอยู่
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลผลงานที่ทำให้ “ยิ้ม” ก่อน “คิด”
หมายเหตุ: ขยายความจาก “กลิ่น” ในประชากรและการพัฒนา 45(5) มิถุนายน-กรกฎาคม 2568: 7
ศุทธิดา ชวนวัน
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
ศุทธิดา ชวนวัน
ชิษณุพงษ์ สรรพา
รีนา ต๊ะดี
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
วรชัย ทองไทย
วรชัย ทองไทย
มนสิการ กาญจนะจิตรา
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
วรชัย ทองไทย