The Prachakorn

ผู้พิทักษ์ความจน (Guardians of Poverty) กับจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ


ณัฐนี อมรประดับกุล

24 สิงหาคม 2563
1,002



จุดเริ่มต้นของพัฒนาการและประวัติศาสตร์ของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในบริบทโลก อาจย้อนกลับไปได้ไกลจนถึงยุคกลาง (The Middle Ages, ราวศตวรรษที่ 5-15) เมื่อผู้คนในภูมิภาคยุโรปและตะวันออกกลางในปัจจุบัน ต้องเข้าร่วมต่อสู้ในสงครามครูเสด (Crusade War, ศตวรรษที่ 11-15) ที่กินระยะเวลายาวนาน ทำให้สภาพสังคมเวลานั้นต้องพบเจอกับปัญหาเรื่องของจำนวนประชากรชายที่ล้มหายตายจากในสงคราม ความลำบากยากจนเข้าครอบงำ สภาวะบังคับที่ทำให้ผู้หญิงต้องกลายเป็นหม้าย เด็กต้องกำพร้า และมีผู้สูงอายุถูกทอดทิ้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้1 ซ้ำร้ายด้วยการระบาดของกาฬโรค (The Black Death) ครั้งยิ่งใหญ่ช่วงกลางศตวรรษที่ 14 ความน่าสะพรึงของโรคได้จบชีวิตผู้คนลงอย่างมากมาย และได้กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่สกัดกั้นการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ที่ไม่เพียงแต่ในยุโรป แต่ส่งผลไปทั่วทุกย่อมหญ้าในโลก2

ด้วยเหตุนี้ ผู้มีอันจะกินทั้งหลายเลือกที่จะผันตัวเองมาเป็น “ผู้พิทักษ์ความจน” (Guardians of Poverty) ให้แก่สังคมของตน และหนึ่งในพันธกิจสำคัญของพวกเขา คือ การสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ยากจนเป็นการเฉพาะ หรือที่เรารับรู้และเรียกกันจนชินปากว่า “สถานสงเคราะห์คนชรา” ทั้งนี้ ผู้พิทักษ์ความจนทั้งหลายต่างเชื่อกันว่า การช่วยเหลือ สงเคราะห์ และการมีจิตคิดกุศล อย่างน้อย ๆ น่าจะช่วยบรรเทาความเกรี้ยวกราดของพระผู้เป็นเจ้า อันเป็นที่มาของภัยพิบัติและหายนะต่าง ๆ ลงได้บ้าง 

อย่างไรก็ตาม สถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุที่ถือกำเนิดขึ้นในยุคกลางนี้ ยังคงจำกัดอยู่ในหมู่ “คนรวยที่ยากจนที่สุด” (The Poorest Rich) มากกว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ที่ประสบกับภาวะยากจนข้นแค้นในสังคมอย่างแท้จริง ดังนั้น กว่าที่สถานสงเคราะห์จะกลายเป็นสถานที่ยอดนิยมสำหรับประชากรสูงอายุ จึงใช้เวลาอีกยาวนานหลายร้อยปีนับจากนั้น 

จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุในสังคมโลก ที่มุ่งหน้าสู่การสร้างสถานสงเคราะห์กันอย่างล้นหลาม เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมได้เริ่มต้นขึ้น (ในศตวรรษที่ 19) เวลานั้น สถานสงเคราะห์เองเริ่มก่อตัวเป็นรูปเป็นร่างขึ้นและมีเป้าหมายเพื่อเป็นที่พักอาศัยให้กับผู้คนทุกชนชั้นในสังคมของยุคอุตสาหกรรม ที่ได้พ้นจากสภาวะการทำงานไปแล้ว3 

ผู้พักอาศัยในสถานสงเคราะห์ Llan-rhudd ในเวลส์ สหราชอาณาจักร
5 The Almshouse Association, History of almshouses, 
https://www.almshouses.org/history-of-almshouses/ 

และเมื่อผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่ 2 ตั้งแต่ทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา สถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุได้กลายมาเป็น “แบบฉบับ” ของที่อยู่อาศัย (Housing) และเป็น “ตัวอย่าง” ของรูปแบบการอยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ (Living Arrangement for Older People) ที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในเมืองใหญ่ เช่น มหานครนิวยอร์ค ลอนดอน อัมสเตอร์ดัม ปารีส อิสตันบูล และแบกแดด รวมถึงพื้นที่ที่เคยตกเป็นอาณานิคมทั่วโลก ซึ่งต่างได้รับอิทธิพลทางความคิดจากมหาอำนาจตะวันตก ทั้งที่ตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจ ดังนั้น สถานสงเคราะห์สำหรับผู้สูงอายุ จึงปรากฏตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาคของโลกรวมถึงประเทศไทยของเรามาจนกระทั่งปัจจุบัน

แม้ว่าสถานสงเคราะห์คนชราจะมีชื่อเรียกกันอย่างหลากหลายตามแต่บริบททางการเมืองและสังคมของแต่ละภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นบ้านสงเคราะห์ (Almshouses) บ้านอนาถา (Poor houses) หรือแม้กระทั่งเคหะสงเคราะห์ (Workhouses) สถานพำนักเหล่านี้ล้วนถูกจัดรวมเป็นหนึ่งในที่อยู่อาศัยเพื่อผู้ที่ยากไร้ (ที่มีไว้สำหรับเด็ก สตรี ผู้พิการ และผู้สูงอายุ) อันมีชื่อเสียงโด่งดังในด้านของความเสื่อมโทรม ย่ำแย่ และยากจนที่สุด จากคำบรรยายในหนังสือเรื่องโอลิเวอร์ ทวิสต์ (Oliver Twist) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนิยายเลื่องชื่อของชาร์ล ดิกเกนส์ (Charles Dickens) ทั้งนี้ทั้งนั้น ทุกชื่อเรียกที่กล่าวมาต่างถูกรับรู้และจัดรวมว่าเป็นประเภท “ที่อยู่อาศัยเชิงสถาบัน” (Institutional Living) สำหรับผู้สูงอายุ หรือ เป็น “สถานที่ที่บุคคลหนึ่ง ๆ ใช้เวลาส่วนใหญ่ของการตื่นและการนอนในสถานที่นั้น ซึ่งไม่ใช่บ้านของพวกเขาเอง” 4  

ภาพวาดประกอบเนื้อเพลงที่ตีความจากนิยายเรื่องโอลิเวอร์ ทวิสต์
6 D F E Auber, W H Freeman, 1843, "Just starve us," from British Library, สืบค้นเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563, https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/oliver-twist-and-the-workhouse

การปูพื้นเรื่องประวัติศาสตร์ที่อยู่อาศัยผ่านเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น กำเนิดผู้พิทักษ์ความจน โรคระบาด สงคราม การปฏิวัติอุตสาหกรรม การแพร่กระจายอิทธิพลทางความคิดตั้งแต่ยุคอาณานิคมในระดับสากล จนกระทั่งถึงโอลิเวอร์ ทวิสต์ ทั้งหมดต้องการสื่อใจความสำคัญถึงผู้อ่านว่า ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ผ่านมา มักให้ความสำคัญต่อการบรรเทาปัญหาความยากจนและการเดือดเนื้อร้อนใจของผู้สูงอายุเป็นหลัก ซึ่งอาจเข้าใจได้ง่ายขึ้นด้วยชุดคำพูดในปัจจุบันว่า สถานสงเคราะห์เป็นหนึ่งในเรื่องของ “การจัดสวัสดิการ” (Welfare Provision) ของรัฐ ที่เน้นประโยชน์ของสาธารณะและเลือกที่จะช่วยเหลือผู้ที่มีความจำเป็นก่อนเป็นอันดับแรก 

สถานสงเคราะห์หรือที่อยู่อาศัยเชิงสถาบันทั้งหลายที่ผ่านมา จึงเกี่ยวข้องโดยตรงต่อเรื่อง “ความใจบุญ” (Philanthropy) “จำนวนที่เพียงพอ” (Adequacy) และ “การบรรเทาความยากจน” (Poverty alleviation) มากกว่าที่จะคำนึงถึง “ความต้องการเฉพาะด้าน” และ “ความเหมาะสม” สำหรับการอยู่อาศัยที่แท้จริงสำหรับผู้สูงอายุ

อย่างไรก็ตาม โลกทัศน์ของที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงอีกครั้ง เมื่อทั่วโลกต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายครั้งใหม่ ๆ อย่างโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ความล้ำสมัยทางการแพทย์ที่ทำให้ประชากรมีอายุยืนยาวขึ้น และการที่ผู้สูงอายุกลายมาเป็นประชากรกลุ่มสำคัญของเกือบทุกสังคม ปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การตีความเรื่องที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ เริ่มมีการคำนึงถึงความเหมาะสม คุณภาพ และสภาพแวดล้อมของที่อยู่อาศัย เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของผู้สูงอายุได้อย่างจริงจัง 

ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่ทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า “เหมาะสม” จะเป็นอย่างไรนั้น อยากเชิญชวนให้ผู้อ่านติดตามตอนต่อไป หรือหากสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม ฝากติดตามหนังสือเรื่อง “นโยบายที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ : ประวัติศาสตร์และบทเรียนจากแนวปฏิบัติที่ดีในต่างประเทศ” ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตจาก “โครงการการทบทวนและวิเคราะห์นโยบายรัฐด้านการจัดการที่อยู่อาศัยให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุในประเทศไทย” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เร็ว ๆ นี้

อ้างอิง

1 Huey, Paul R. 2001. ‘The Almshouse in Dutch and English Colonial North America and its Precedent in the Old World: Historical and Archaeological Evidence’. International Journal of Historical Archaeology. Vol.5 (2): 123-154
2 McNeill, William Hardy. 1989. Plagues and Peoples. New York: Anchor Books.
3 Hugman, Richard, and Jo Campling. 1994. Ageing and the Care of Older People in Europe. New York: St. Martin’s Press.
4 Higgins, Joan. 1989. ‘Defining Community Care: Realities and Myths’. Social Policy & Administration 23 (1): 3–16. https://doi.org/10.1111/j.1467-9515.1989.tb00492.x.
5 The Almshouse Association, History of almshouses, https://www.almshouses.org/history-of-almshouses/
6 Auber, D. F. E., Freeman, W. H. 1843, "Just starve us," from British Library, https://www.bl.uk/romantics-and-victorians/articles/oliver-twist-and-the-workhouse.
 



CONTRIBUTOR

Related Posts
รัฐประหาร ในเมียนมา

อมรา สุนทรธาดา

Brighton and Hove เมืองอาหารยั่งยืน

พิมลพรรณ นิตย์นรา

ผู้สูงอายุไทยกับความยากจน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

Web Accessibility คืออะไร?

เพ็ญพิมล คงมนต์

รอหมูป่าออกจากถ้ำ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ลักษณนาม

วรชัย ทองไทย

คนจนในสหรัฐอเมริกา

อมรา สุนทรธาดา

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th