ภาษีคือ เงินที่มีกฎหมายกำหนดให้รัฐหรือท้องถิ่นเรียกเก็บจากบุคคลในสถานการณ์ต่างๆ เช่น เมื่อมีรายได้ มีทรัพย์สิน ประกอบกิจการ บริโภค เพื่อนำเงินภาษีไปใช้จ่ายในการบริหารประเทศหรือท้องถิ่น เช่น การศึกษา สาธารณะสุข สาธารณูปโภค รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันประเทศ
รัฐบาลจะจัดตั้งองค์กรเพื่อเก็บภาษีโดยเฉพาะ สำหรับประเทศไทยองค์กรเก็บภาษีคือ กรมสรรพากร ที่มีตราประจำกรมเป็นรูปพระอุเทนทราธิราชนั่งดีดพิณสามสาย (ดังรูป) เนื่องจากพระอุเทนทราธิราชมีความสามารถในการใช้พิณและมนต์บังคับช้างได้ จึงเปรียบเสมือนกรมสรรพากรที่ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ในการเชิญชวนให้ประชาชนช่วยกันเสียภาษี เพื่อนำมาพัฒนาประเทศ
รูป ตรากรมสรรพากร
ที่มา: https://www.rd.go.th/3449.html สืบค้นเมื่อ 24 มิถุนายน 2567
นอกจากกรมสรรพากรแล้ว ยังมีองค์กรอื่นที่ทำหน้าที่เก็บภาษีคือ กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาล
ภาษีแบ่งออกได้ 5 ประเภทคือ
1) ภาษีเงินได้ เป็นภาษีที่จัดเก็บโดยกรมสรรพากร เช่น ภาษีเงินได้บุุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีกำไรจากทุน
2) ภาษีอื่นๆ ที่เก็บโดยกรมสรรพากร เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (value-added tax: VAT) ภาษีค่าจ้าง ภาษีความมั่งคั่ง (wealth tax) ภาษีมรดก ภาษีธุรกิจเฉพาะ ภาษีอากรแสตมป์
3) ภาษีสรรพสามิต เป็นภาษีที่กรมสรรพสามิตเรียกเก็บจากสินค้าที่รัฐต้องการควบคุมการบริโภค เพราะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพหรือกระทบต่อศีลธรรม หรือเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย หรือเป็นสินค้าและบริการที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากกิจการของรัฐ เช่น ภาษีสุรา ภาษีบุหรี่ ภาษีสนามกอล์ฟ ภาษีสนามแข่งม้า ภาษีไนต์คลับ ภาษีน้ำหอม ภาษีรถยนต์ ภาษีน้ำมัน
4) ภาษีศุลกากร เป็นค่าธรรมเนียมสำหรับการเคลื่อนย้ายสินค้าผ่านชายแดน จัดเก็บโดยกรมศุลกากร ได้แก่ ภาษีนำเข้า และภาษีส่งออก โดยรัฐบาลอาจใช้ภาษีศุลกากรเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศ
5) ภาษีท้องถิ่น เป็นภาษีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือเทศบาลเรียกเก็บ เพื่อนำมาใช้ในกิจการในท้องถิ่น ได้แก่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่
บุคคลคนหนึ่งจึงอาจต้องเสียภาษีหลายประเภท แต่ถ้าไม่เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่เต็มตามจำนวน ก็จะมีโทษทางแพ่ง (ปรับ) หรือทางอาญา (จำคุก) ได้
ภาษีแบ่งออกตามอัตราได้ 3 ชนิดคือ
1) ภาษีอัตราคงที่หรือภาษีคงที่ เป็นภาษีที่เก็บจากเงินได้ โดยใช้อัตราภาษีคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะมีรายได้เท่าไรก็จะเสียภาษีในอัตราที่เท่ากัน ภาษีชนิดนี้เป็นภาษีที่ง่ายในการเก็บและเสียภาษี แต่ไม่มีความยุติธรรม เพราะผู้มีรายได้น้อยจะเสียภาษีมากกว่าผู้มีรายได้มาก
2) ภาษีอัตราก้าวหน้าหรือภาษีก้าวหน้า เป็นภาษีเงินได้เช่นกัน แต่อัตราภาษีจะเปลี่ยนแปลงไปตามรายได้ โดยผู้มีรายได้มากจะเสียภาษีในอัตราที่สูงกว่าผู้มีรายได้น้อย ทำให้ภาษีชนิดนี้มีความยุติธรรม แต่ยากในการเก็บและเสียภาษี เพราะแบบฟอร์มเสียภาษีจะยาวและยุ่งยากกว่าชนิดแรก
3) ภาษีอัตราถดถอยหรือภาษีถดถอย เป็นภาษีการขายที่เก็บในอัตราคงที่ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม อันมีผลให้ผู้มีรายได้น้อยต้องเสียภาษีมากกว่าผู้มีรายได้มาก เมื่อเปรียบเทียบตามสัดส่วนของรายได้ จึงเป็นภาษีที่ไม่มีความยุติธรรมมากที่สุด เพราะเก็บจากทุกคนที่ต้องซื้อสินค้า แต่เป็นภาษีที่เก็บง่าย
ภาษีที่ดีมีคุณสมบัติดังนี้
1) เป็นสัดส่วนกับรายได้ ตามความสามารถในการจ่าย
2) มีกฎเกณฑ์แน่นอน
3) จ่ายในเวลาที่กำหนด โดยคำนึงถึงความสะดวกของผู้เสียภาษี
4) มีค่าใช้จ่ายน้อยในการบริหารและเก็บภาษี
นอกจากรัฐบาลจะนำเงินภาษีไปใช้บริหารประเทศแล้ว รัฐบาลยังอาจใช้ภาษีเพื่อจัดสวัสดิการและบริการสาธารณะอีกด้วย เช่น เงินบำนาญสำหรับผู้สูงอายุ สวัสดิการการว่างงาน การโอนเงิน (กระจายรายได้) เงินอุดหนุน ขนส่งสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภค (ไฟฟ้า ประปา การกำจัดของเสีย)
ในกรณีที่รัฐบาลมีหนี้สาธารณะ เพราะใช้จ่ายเกินกว่าภาษีที่เก็บได้ รัฐบาลก็จะต้องกันภาษีส่วนหนึ่งไว้ เพื่อนำไปใช้ชำระหนี้สาธารณะนี้ด้วย
ปัจจุบันรัฐบาลในหลายประเทศใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการดำเนินนโยบายของรัฐ ได้แก่ ภาษีความมั่งคั่ง ที่ใช้เป็นมาตรการลดความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ และภาษีบาป (sin tax) เพื่อลดการบริโภคสิ่งที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
สำหรับภาษีความมั่งคั่ง เป็นภาษีที่เรียกเก็บจากมูลค่าสุทธิของบุคคล (ส่วนต่างระหว่างสินทรัพย์ และหนี้สิน) สินทรัพย์ประกอบด้วยเงินสด เงินฝากธนาคาร พันธบัตร หุ้น อสังหาริมทรัพย์ สินทรัพย์จากแผนประกันภัยและบำนาญ รวมถึงทรัพย์สินส่วนบุคคลอื่นๆ เช่น ทองคำ พระเครื่อง ศิลปวัตถุ ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร
ส่วนภาษีบาป เป็นภาษีสรรพสามิตที่เรียกเก็บจากสินค้าที่ถือว่าเป็นอันตรายต่อบุคคลและสังคม เช่น สุรา ยาสูบ ยาเสพติด ลูกอม น้ำอัดลม อาหารจานด่วน กาแฟ น้ำตาล การพนัน สื่อลามก ภาษีจะทำให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้น อันจะส่งผลให้อุปสงค์ลดลง
ภาษีบาปที่เก็บจากบุหรี่และสุรา นอกจากจะมีจุดมุ่งหมายเพื่อลดการสูบบุหรี่และดื่มสุราของพลเมือง อันจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้นแล้ว ยังรวมถึงการนำรายได้ไปใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย อันเกิดจากการสูบบุหรี่และดื่มสุราอีกด้วย
ในปี 2544 รางวัลอีกโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ได้มอบให้กับ Joel Slemrod จาก University of Michigan Business School และ Wojciech Kopczuk จาก University of British Columbia ที่ได้ผลสรุปจากงานวิจัยว่า คนเราจะหาหนทางเลื่อนการเสียชีวิตออกไปอีก ถ้ารู้ว่าจะมีผลทำให้ภาษีมรดกที่ต้องเสียน้อยลง
รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับผลงานที่ทำให้ “หัวเราะ” แล้วจึงได้ “คิด”
หมายเหตุ: ขยายความจาก “ภาษี” ในประชากรและการพัฒนา 44(6) สิงหาคม-กันยายน 2567: 7
ภาพปก freepik.com (premium license)
วรชัย ทองไทย
ณปภัช สัจนวกุล
วรชัย ทองไทย
อมรา สุนทรธาดา
วรชัย ทองไทย
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
วรชัย ทองไทย
นงนุช จินดารัตนาภรณ์
ณัฐพร โตภะ