The Prachakorn

ความอ่อนแอของความเป็นชายไทย: ภาพสะท้อนในภาพยนตร์แนวผี


ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์

04 พฤศจิกายน 2564
1,606



คุณเชื่อเรื่องผีไหม? ผมเชื่อว่า...ไม่ใช่ใครทุกคนจะมองเห็นผีหรือเคยเจอ แต่แน่นอนเมื่ออยู่ในสังคมมนุษย์ย่อมมีความเห็นต่างของพวกที่เชื่อบ้าง ไม่เชื่อบ้าง คนที่เชื่อบางคนก็มักจะใช้ประโยคที่ได้ยินอย่างคุ้นหูตอกกลับไปว่า “ระวังเหอะ…ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” ส่วนคนที่ไม่เชื่อก็ยังคงท้าทายอย่างหนักแน่นว่า “ผีไม่มีในโลก” ถ้าเช่นนั้น แล้ว ผี มีในไหน? ทุกวันนี้เลยยังหาคำตอบที่แน่ชัดไม่ได้ มันจึงเป็นเรื่องของความเชื่อเฉพาะบุคคล ซึ่งเเท้จริงผีมีจริงหรือไม่นั้น? เรารับรู้ได้จากไหนกัน แล้วคนที่ไม่เคยเห็นเลยล่ะ เขาจะรู้ได้อย่างไรถึงความน่ากลัวของผี ถ้าไม่ใช่จากการล้อมวงฟังเรื่องเล่าจากผู้มีประสบการณ์ การอ่านและฟังตามสื่อออนไลน์ หรือที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือซีรีส์ เพียงตัวอย่างที่ว่ามานี้ ก็พอแล้วสำหรับคนขี้กลัว เมื่อได้ฟังถึงกับขนลุก นอนไม่หลับ หรือดูหนังไม่เต็มจอ แถมเลือกดูจากมุมมองลอดผ่านแค่ช่องนิ้วทั้งห้าเท่านั้น

การเสพความหลอน ผ่านวัฒนธรรมเรื่องเล่าแนวผีๆ ยังคงมีอยู่ในทุกวัยและทุกช่วงเวลาอย่างไม่ตกยุค เช่นเดียวกับผมเองที่เติบโตมากับการเสพเรื่องผี ชอบดูหนังผีมากพอๆ กับความรู้สึกกลัวผี โดยเฉพาะย้อนไปเมื่อสิบปีก่อนที่หนังโรงยังเป็นที่นิยมสูงยิ่ง หนังผีแบบไทยๆ ในแต่ละปีมีหลายเรื่องให้เลือกชม ด้วยความเป็นนักดูหนังผีตัวยงแบบผม เคยรู้สึกแปลกใจว่า ทำไม ผีผู้ชาย ที่เป็นตัวเดินเรื่องหลัก มีเพียงแค่ไม่กี่สิบเรื่องเท่านั้น แต่ในขณะที่ ผีผู้หญิง นับไม่ถ้วน ผมให้เหตุผลด้วยความรู้สึกส่วนตัวเลยว่า เมื่อดูหนังในแต่ละฉากการปรากฏตัวของผีผู้ชาย กลับไม่ได้สร้างความตกใจ หรือดึงอารมณ์ตื่นกลัวให้ผมมากมายเท่ากับเมื่อดูหนังผีผู้หญิง เอาล่ะมาเข้าเรื่องกันเลยดีกว่า ผมขอพาท่านผู้อ่านไปรู้จักหนังสยองขวัญ 3 เรื่อง ที่จะทำให้เข้าใจว่า ผู้ชายไทยในสังคมปิตาธิปไตยมีความอ่อนแออย่างไร ผ่านการมองจากตัวละครหลักที่เป็นผีผู้ชาย  

ความรัก ความชัง และความเป็นชายสูงศักดิ์

ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “โรงแรมผี”
ที่มา http://www.fivestarproduction.co.th/โรงแรมผี/

‘โรงแรมผี’ (ออกฉายในปี 2545) ว่าด้วยเรื่องราวของหลวงนฤบาล บุรีรักษ์ ตระกูลสูงชนชั้นขุนนาง ต้องการใช้ชีวิตในวัยเกษียณกับสาวรุ่นลูกชื่อสารภีที่บ้านพักต่างจังหวัด แต่คืนวันแต่งงานสาวเจ้ากลับหนีไปกับเด็กรับใช้ที่คุณหลวงอุปการะตั้งแต่เด็ก ด้วยความรักปนกับความแค้น คุณหลวงใช้คนออกตามหาเท่าไหร่ก็ไม่พบ พอนานวันเข้าทำให้คุณหลวงตรอมใจอย่างหนัก ได้ตัดสินใจทำพินัยกรรมยกสมบัติทั้งหมดให้กับสารภี แล้วเอาปืนจ่อขมับฆ่าตัวตาย เพื่อกลายเป็นวิญญาณที่ยังวนเวียนอยู่ในบ้านหลังเดิมนี้ สารภีสาวคนรักและปั้นเด็กรับใช้กลับมางานศพคุณหลวง และใช้ชีวิตด้วยกันในบ้านพักคุณหลวงที่ต่อมากลายเป็นโรงแรม และได้เกิดเรื่องราวหลอนๆ จนหลายคนต้องสังเวยชีวิตรายแล้วรายเล่า จากผีหลวงนฤบาลที่ยังคงผูกใจเจ็บกับคนรักที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเขา

ประเด็นที่ผมสนใจ คือ ภาพลักษณ์ความเป็นชายของหลวงนฤบาลที่มีความสมบูรณ์แบบตามอุดมคติชายไทย คุณหลวงจึงเป็นตัวละครที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสูงกว่ามาตรฐานที่ผู้ชายทุกคนพึงมี เรื่องนี้เป็นการนำเสนอภาพแทนความเป็นชายที่ถ่ายทอดผ่านโครงสร้างทางสังคม และกฎเกณฑ์ของชนชั้นสูงที่ทุกคนยอมรับ แม้กระทั่งสารภีที่ยอมตกลงแต่งงานด้วยเพราะเรื่องฐานะทางบ้าน แต่ถึงกระนั้นคุณหลวงจะมีอำนาจมากมายสักเพียงใด ก็ไม่แม้แต่จะคิดขืนใจสตรีโดยมิชอบธรรม อย่างการลักพาตัวเจ้าสาวหรือการพาหนี ถือเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำสำหรับการเป็นสุภาพชนโดยเฉพาะสังคมชั้นสูง แต่หากตัวละครที่เป็นชนชั้นระดับล่างกระทำ ถือว่าไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด ภาพสะท้อนเรื่องนี้จึงตีแผ่วิถีสุภาพบุรุษด้วยการดำเนินเรื่องให้คุณหลวงขอแต่งงานสาวคนรักและจัดให้ถูกต้องตามประเพณี ในขณะเดียวกันการกระทำของนายปั้นได้ทำลายศักดิ์ศรีความเป็นชายของคุณหลวงในเรื่องรักๆ ใคร่ๆ ทำให้คุณหลวงผู้เคยมีอำนาจและบารมีเหนือกว่าใคร กลายมาเป็นคนอ่อนแอในทันใด และตัดสินใจดับชีวิตอย่างไม่เสียดาย เพื่อเปลี่ยนสถานะเป็นผี และตามล้างแค้นคนที่ทรยศหักหลังอย่างไม่กลัวบาป

ตัวละครชายเรื่องนี้เผยให้เห็นความอ่อนแอในสังคมปิตาธิปไตยแบบไทยหรือสังคมชายเป็นใหญ่ ผ่านตัวละครคุณหลวงที่มีชาติตระกูลสูงส่ง และต้องดำรงตนเป็นสุภาพบุรุษ สะท้อนผ่านกระบวนการก้าวข้ามขีดจำกัดระหว่างความเป็นผู้ชายชั้นสูงและผีผู้ชายที่ทำเพื่อความรัก ทำให้ผีคุณหลวงเลือกยึดติดพื้นที่ ยึดติดคนรัก เลือกรอให้คนรักกลับมาหา หนังเรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้ชายก็เป็นเหยื่อของอุดมการณ์ความรักและมีปัญหาด้านความรักไม่ต่างจากผู้หญิง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงช่องโหว่ของอำนาจปิตาธิปไตยที่ถูกช่วงชิงและต่อรองโดยอำนาจมาตาธิปไตย ผ่านมุมมองผู้ชายอย่างคุณหลวง และการสร้างปมความแค้นของเรื่องนี้ก็มาจากเงื่อนไขความรักของเขาเองที่นำมาสู่ความตาย กลายเป็นความแค้นจนไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้

สัจจะไม่มีจริง (หรือ) ในชายชาติทหาร

ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “ผีไม้จิ้มฟัน”
ที่มา http://www.thaicinema.org/kit48jimfun.php

ในเรื่อง ‘ผีไม้จิ้มฟัน’ (ออกฉายในปี 2549) ได้พาย้อนความแค้นข้ามภพข้ามชาติ เมื่อผีเจ้าพ่อต้นไทร ในอดีต คือ ทหารยศนายพลมีเกียรติยศ มีอำนาจ มีสัจจะ และเป็นภาพแทนของความกล้าหาญ แต่ถูกหักหลังโดยกลุ่มทหารยศเหนือกว่าที่กำลังวางแผนกบฏ เขาถูกลอบยิงเสียชีวิตเมื่อครั้งจะไปออกรบ ก่อนตายจึงอาฆาตแค้นจองเวรกลุ่มผู้ที่ทำให้ตนตาย กลายเป็นวิญญาณที่สิงสู่อยู่ในต้นไทร ไม่ไปผุดไปเกิด จนกว่าจะได้แก้แค้น เวลาล่วงเลยจนมาถึงภพชาติปัจจุบัน บริเวณต้นไทรที่สิงสถิตของเจ้าพ่อต้นไทร กลายเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ชาวบ้านได้แวะเวียนมากราบไหว้บูชาไม่ขาดสาย ซึ่งรวมถึงพระเอกและเพื่อนๆ เลือกมาบนบานศาลกล่าวเพื่อขอให้สอบเข้ามหาวิทยาลัยให้ได้ จนสำเร็จตามที่หวังไว้ แต่เรื่องไม่จบแค่นั้นแม้ทุกคนจะแก้บนแล้วก็ตาม ผีเจ้าพ่อต้นไทรยังคงตามหลอกหลอนและจ้องจะเอาชีวิตพวกเขา โดยเฉพาะเอกและแว่นที่หนังพาย้อนเล่าว่าเคยเป็นเพื่อนรักเพื่อนตายในชาติปางก่อนของผีเจ้าพ่อ ทั้งสามคนเคยลั่นสัจจะวาจาว่าจะไม่ทรยศหักหลังกัน แต่เมื่อมีคนไร้สัจจะ ทำให้ผีเจ้าพ่อต้นไทรเลือกที่จะไม่ไปผุดไปเกิด ใช้ปมความแค้น คอยหลอกหลอน และสร้างเรื่องราวให้เพื่อนรักเพื่อนแค้นของตัวเอง มีอันเป็นไป  

เรื่องนี้น่าสนใจตรงที่ว่า ความเป็นผีเจ้าพ่อต้นไทรที่คนเคารพบูชา ที่ก่อนตาย หนังเผยให้เห็นถึงพฤติกรรมและความเป็นชายชาติทหาร มีความเด็ดเดี่ยวกล้าหาญ มีอำนาจ มีลูกน้องใต้บังคับบัญชา นำมาสู่การสร้างภาพผีผู้ชายที่ยึดถือสัจจะ ผ่านเครื่องแต่งกายทหารที่สวมใส่ทับลงอีกชั้น ต่อมาเมื่อเปลี่ยนสภาพมาเป็นผี ยังคงได้รับความเคารพปนความเกรงกลัวจากชาวบ้าน จนตั้งศาลขึ้นมา พร้อมๆ กับการสร้างเรื่องราวความน่ากลัว ความอาถรรพ์ ความโหด และความหายนะ หากใครผิดสัจจะ ไม่ยอมมาแก้บนจะมีอันเป็นไป ความอ่อนแอของผีทหารยศสูงนายนี้ คือ การคิดว่าตนเองถูกหักหลัง หรือคิดว่าเพื่อนไม่รักษาสัจจะ ซึ่งสัจจะเป็นเรื่องที่ยึดมั่นถือมั่นของชายชาติทหาร และยังคงเป็นสิ่งที่สังคมปลอบประโลมให้ผู้ชายใช้สร้างอัตลักษณ์ จนกลายเป็นศักดิ์ศรีสำหรับผู้ชายไทย ซึ่งผมคิดว่า ในปัจจุบันน่าจะมีหลงเหลือให้เห็นอยู่บ้าง และอีกสิ่งที่น่าสนใจของหนังเรื่องนี้ คือ บทบาทของผีที่มีหน้าที่หลอกหลอนชาวบ้าน แต่ตัวเอง (ผี) ก็ยังถูกหลอกหลอนเสียเอง ก็คือ เมื่อนายทหารถูกทรยศหักหลัง เป็นสิ่งที่ยอมไม่ได้ เพราะศักดิ์ศรีของผู้ชายที่มันค้ำคอจนเกิดการหลอกหลอนข้ามภพของผี ด้วยการสร้างชุดความทรงจำซ้ำๆ ผูกติดกับสถานที่ตายทำให้วนเวียนไม่ไปไหน ปมปัญหาจึงถูกซ้อนทับผ่านการเข้าใจผิดระหว่างคนกับผี ที่สุดท้ายเป็นเรื่องเข้าใจผิดกันซะงั้น แต่เมื่อเคลียร์กันรู้เรื่องเข้าใจกันได้ ผีเจ้าพ่อจึงยอมรับคำขอโทษ ผ่อนคลายความเคียดแค้น และยอมไปเกิดโดยดี  

แรงแค้น แรงอาฆาต กับสังคมจอมบูลลี่

ภาพโปสเตอร์ภาพยนตร์เรื่อง “เดอะเลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตาย”
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/เดอะเลตเตอร์_เขียนเป็นส่งตาย

สำหรับเรื่องสุดท้าย คือ ‘เดอะเลตเตอร์ เขียนเป็นส่งตาย’ (ออกฉายในปี 2549)  หนังเรื่องนี้เล่าถึง ด.ช. โชติธรรม คงมี นักเรียนใหม่ที่ย้ายมาร่วมชั้น ป. 6/2 ของโรงเรียนแห่งหนึ่ง เพื่อนๆ ในห้องมักเรียกเขาว่า แว่น เพราะเขามีนิสัยไม่สู้คน มักถูกเพื่อนกลั่นแกล้งแทบทุกวัน ด้วยวิธีสุดพิสดารสารพัด ทั้งปากระเบื้องใส่หัวจนแตก รุมจับแก้ผ้าด่าทอ และเหตุการณ์ที่เป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต คือ แว่นกลายเป็นคนพิการไปตลอดชีวิต ไม่ได้เรียนต่ออีกเลย เพราะเพื่อนคนหนึ่ง แกล้งขัดขา จนเขาสะดุดล้มตกบันได บาดเจ็บ รักษาตัวอยู่นาน มิหนำซ้ำ ในวัยผู้ใหญ่ยังคงถูกกดขี่จากสังคมผ่านลุงที่เลี้ยงเขามาตั้งแต่เล็กให้ทำงานใช้หนี้สินจนมีร่างกายเจ็บป่วย และเมื่อหนังเริ่มย้อนภูมิหลังของตัวละครก่อนเป็นผีให้เห็นถึงชีวิตที่ดำดิ่งมากขึ้น เมื่อลุงตัดสินใจยิงตัวตายหนีปัญหาหนี้สิน เมื่อโชติธรรมไม่เหลือใครจึงเลือกทางออกด้วยการฆ่าตัวตายตามลุง เขาได้กลับไปห้องเรียนเก่าเพื่อผูกคอห้อยติดอยู่บนพัดลมเพดาน โดยก่อนตายเขาได้เขียนคำสาปแช่งลงบนจดหมายลูกโซ่เพื่อเป็นการตามไล่ฆ่าเพื่อนร่วมห้องของเขาตามลำดับเลขที่ในชั้นเรียน จดหมายนี้จึงผูกติดไปพร้อมกับวิญญาณ ใครก็ตามที่ได้รับจะพบฉากความพยายามเอาตัวรอดเพื่อหนีจากผี และจบลงด้วยความตาย

การตายของเพื่อนร่วมชั้นทำให้เห็นถึงความปรารถนาของผีและเป็นการคลายปมอย่างหนึ่งในชีวิตวัยเด็กที่เขาไม่อาจจะต่อกรได้ ที่เล่ามา ดูเหมือนว่าความเป็นผีจะดูแข็งแกร่งมีพลังมาก แต่การฆ่าตัวตายนั้นเกิดจากคนในสังคมที่บีบคั้นให้เขาต้องเลือกการกระทำแบบนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นความอ่อนแอในจิตใจของคนและผีถึงขีดสุด หนังเรื่องนี้ยังเผยให้เห็นถึงประเด็นที่ทำให้สะท้อนคิดมุมกลับด้วยว่า แม้เราจะไม่รู้ว่าผีมีพลังมากพอที่จะทำร้ายคนได้หรือไม่ แต่ที่แน่ชัดของหนังเรื่องนี้ คือ คนน่ากลัวไม่แพ้ผี ตัวตนของมนุษย์ได้แสดงออกมา เต็มไปด้วยการเสแสร้งและการผูกพยาบาท ที่หนังเรื่องนี้พยายามที่จะสื่อให้เห็น อีกประเด็นที่ผมเห็นว่า เรื่องนี้แตกต่างจากหนังผีผู้ชายเรื่องอื่นๆ ก็คือ ความแสนเศร้าของผีผู้ชาย ที่ใครล่ะจะเชื่อว่า ผีที่ไล่หลอกและเอาชีวิตคนไปทั่ว จะมีมุมที่อ่อนแอด้วยเช่นกัน ความอ่อนแอในผีที่ว่านั้น สะท้อนจากภูมิหลังของตัวละครก่อนที่จะเปลี่ยนสถานะเป็นผี และประเด็นสุดท้าย เราจะเห็นได้ว่า ท่ามกลางสังคมที่ข่มเหงและกดดันอยู่ตลอด ตัวละครนี้จึงเป็นภาพแทนของคนอ่อนแออย่างสุดขั้ว ชีวิตแบบคนปกติและความสำเร็จในชีวิตจึงเป็นสิ่งที่เขาไม่เคยได้รับ จนกระทั่งเมื่อเข้าสู่โลกความตาย จึงเป็นการหยิบยืมอำนาจของผี เพื่อการทวงแค้น

ประเด็นที่ผมอยากชวนขบคิด คือ เรื่องผีๆ ในหนังไม่ได้ผลิตออกมาเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับผู้ชื่นชอบเสพความกลัวเท่านั้น แต่เรื่องผีในภาพยนตร์ที่นอกจากเป็นภาพแทนของการแก้แค้นเอาคืนแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นแง่มุมโครงสร้างสังคม ‘ปิตาธิปไตย’ หรือ ‘ชายเป็นใหญ่’ ที่แม้แต่ในโลกหลังความตายผู้ชายกลับต้องการใช้อำนาจของผีในการทำร้ายคนที่ผูกใจเจ็บ จึงเป็นการแสดงความอ่อนแอของผีออกมาด้วย หรืออาจเป็นสิ่งที่ช่วยเน้นย้ำให้เห็นว่ารูปแบบปิตาธิปไตยในสังคมไทยมีเงื่อนไขบางประการเกี่ยวอำนาจของผู้หญิง (มาตาธิปไตย) โดยเราจะพบได้จาก ผีหลวงนฤบาลที่ตกเป็นเบี้ยล่างและพยายามต่อรองและรอความรัก ที่แม้ว่าเป็น “ชนชั้นสูง ร่ำรวยเพียงใด ก็มิอาจคว้าใจเธอมาครองได้” และในการพิจารณาระบบที่ผู้ชายมีอำนาจและถูกยกย่องจากสังคมมากกว่าเพศหญิง ทำให้ผู้ชายต้องยึดติดอยู่กับภาพลักษณ์บางประการ เช่น การเป็นผู้นำ ความเข้มแข็ง การมีศักดิ์ศรี ที่เป็นองค์ประกอบของความเป็นชาย และได้ย้อนกลับมาทำร้ายตัวละครชายเอง ในทำนองเดียวกันกับบทของผีเจ้าพ่อที่ยึดถือสัจจะของลูกผู้ชาย จนกลายเป็นบ่วงเหนี่ยวรั้งไม่ให้หลุดพ้นจากความอาฆาตแค้น ไม่ยอมไปเกิด นอกจากนี้ ความเป็นชายยังมีหลายระดับ อย่างผู้ชายทั่วๆ ไป อย่างแว่นที่โดนกลั่นแกล้ง และถูกกดขี่ในชีวิตวัยเรียน ได้เลือกเส้นทางการตายเป็นผี เอาคืนด้วยความตายของเพื่อนในห้องอย่างเหี้ยมโหด และเรื่องราวของแว่นยังสะท้อนให้เห็นสังคมผู้ชายด้วยกันเองกลับเลือกกดทับความเป็นชายด้วยพฤติกรรมการแกล้ง กีดกันและแบ่งแยกการคบเพื่อน หรือแม้แต่ตัวละครผู้หญิงเองก็มีบทบาทเป็นผู้กระทำและกดทับความเป็นชายด้วยเช่นกัน เมื่อนักเรียนหญิงเลือกที่จะไม่่่ห้ามปราม แถมเมินเฉยต่อการกระทำกลั่นแกล้งกันของนักเรียนชายในห้อง

ผมจึงขอทิ้งท้ายว่า การมีอำนาจจึงมีความซับซ้อนทั้งสถานภาพทางเพศ ชนชั้น ร่างกาย หรือแม้แต่เงื่อนไขด้านอารมณ์ความรู้สึก ทั้งนี้ การปรากฏขึ้นของผีในรูปแบบของผู้ชายเป็นสิ่งที่เผยให้เห็นภาพแทนความอ่อนแอของความเป็นชายโดยที่ผู้ชายต้องถูกหลอนด้วยความเป็นชายเอง โดยเฉพาะความเป็นสุภาพบุรุษในสังคมไทยโดยที่ผีไม่ต้องเสียแรงโผล่มาหลอกคนด้วยซ้ำ


อ้างอิง

ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์* และ ธนวัฒน์ ปัญญานันท์. (2563, กรกฎาคม). ภาพแทนผีผู้ชายในภาพยนตร์ไทย: ความอ่อนแอของความเป็นชายในสังคมปิตาธิปไตยไทย. การประชุมวิชาการระดับชาติ สรรพศาสตร์ สรรพศิลป์ ประจำปี 2563 ในรูปแบบออนไลน์. 23-24 กรกฎาคม 2563 น. 289 – 309.

[*] นักศึกษาปริญญาโท หลักสูตรประชากรสังคม สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
หมายเหตุ บทความนี้ดัดแปลงมาจาก บทความเรื่อง “ภาพแทนผีผู้ชายในภาพยนตร์ไทย: ความอ่อนแอของความเป็นชายในสังคมปิตาธิปไตยไทย” บทความนำเสนอในการประชุมวิชาการระดับชาติ สรรพศาสตร์ สรรพศิลป์ ประจำปี 2563

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
จูบหรือจุมพิต

วรชัย ทองไทย

คนไร้บ้านในสิงคโปร์

อมรา สุนทรธาดา

ต้นทุนของการมีลูก

มนสิการ กาญจนะจิตรา

พรจากพระเจ้า

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th