หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ตื่นมาดูไลฟ์ (live) ท่านผู้ว่ากทม. อ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ วิ่งทุกเช้า หรือ ชอบติดตามท่านลงพื้นที่สำรวจปัญหาของกรุงเทพฯ แบบเสมือนจริงกับแอดมินหมู คุณอาจจะอยากรู้จักประชากรชาวกรุงเทพฯ ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร ทำไมใครๆ จึงมักบอกว่า “กรุงเทพฯ คือ ประเทศไทย” ผู้เขียนเป็นประชากรไทย 1 ใน 66 ล้านคน ที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดมาตลอดชีวิต แต่ชะตาชีวิตทำให้กิจวัตรวนเวียนอยู่รอบๆ เมืองหลวงราวกับเป็นศูนย์กลางจักรวาล จึงอดไม่ได้ที่จะติดตามข่าวการพัฒนาเมืองกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ตามนโยบาย 214 ข้อของท่านผู้ว่าฯ
เช้าวันนี้ 6 สิงหาคม 2565 ได้ฟังข้อมูลจากท่านสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (สก.) อัพเดทให้ท่านผู้ว่าฯ ฟังว่า “เขตคลองสามวามีประชากรกว่า 2 แสนคน และ เป็นเขตที่มีประชากรมากที่สุดในกรุงเทพฯ แซงหน้าเขตสายไหมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว” ข้อสังเกตจากท่านสก. บอกว่า เป็นเพราะคลองสามวามีพื้นที่กว้าง (110 ตร.กม.) ไม่แออัด (1,876 คนต่อตร.กม. [1]) อากาศดี มีบ้านจัดสรรหลากหลายราคาให้เลือกซื้อ และเข้าถึงศูนย์การค้าหลักๆ ได้สะดวก เงื่อนไขเหล่านี้จึงทำให้เมืองขยาย ประชากรย้ายถิ่นมาตั้งหลักปักฐาน ดังนั้น กทม. จึงต้องเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงทางประชากรอย่างใกล้ชิด เพื่อการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานให้สอดคล้องกับความต้องการของประชากรที่เพิ่มขึ้น เช่น ระบบขนส่งสาธารณะ โรงเรียน และสถานพยาบาล คำถามต่างๆ เกี่ยวกับประชากรกรุงเทพฯ จึงผุดขึ้นมา และให้ได้ค้นคว้ากันต่อในบทความนี้
กรุงเทพฯ มีขนาด 1,568.750 ตารางกิโลเมตร ข้อมูลสำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2564 แสดงจำนวนประชากรกรุงเทพฯ ที่อยู่ในทะเบียนบ้าน 5,527,994 คน ความหนาแน่นของประชากรเฉลี่ย 3,524 คนต่อตร.กม. จำนวนบ้าน 3,147,231 หลัง เขตที่มีจำนวนประชากรมากเกิน 2 แสนคน คือ เขตสายไหม (206,831 คน) และ เขตคลองสามวา (206,437 คน) ส่วนเขตที่มีประชากรน้อยที่สุดคือเขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีประชากรเพียง 20,777 คน (ข้อมูลประกาศเมื่อ 31 ธันวาคม 2564)1
กรุงเทพฯ เป็นจังหวัดที่มีประชากรมากที่สุดในประเทศไทย หากรวมประชากรแฝงที่ไม่ปรากฏในทะเบียนและคนที่เดินทางมาทำงานในตอนกลางวันด้วยแล้ว คาดว่าจะสูงถึงเกือบเท่าตัวของประชากรที่ปรากฏในทะเบียน เราจึงเรียกกรุงเทพฯ ว่าเป็น “อภิมหานคร (megacity)” คือมีประชากรตั้งแต่ 10 ล้านคนขึ้นไป หรือกล่าวได้ว่า กรุงเทพฯ ในตอนกลางวันจะมีประชากรถึง 1 ใน 6 ของประเทศมารวมตัวกัน นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ยังเป็น “เอกนคร (primate city)” เพราะเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในประเทศและมีความโดดเด่นอย่างมากเพียงเมืองเดียวที่เป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ซึ่งถือว่ามีความสำคัญมากกว่าเมืองรองหลายเท่า
อัตราเพิ่มของประชากรกรุงเทพฯ อยู่ระดับเกือบ 1% และเริ่มลดลงในปี 2559 จนเริ่มติดลบในปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ประชากรต้องย้ายกลับถิ่นที่อยู่เดิม อันเนื่องมาจากมาตรการปิดเมืองทำให้ร้านค้าและธุรกิจต่างๆ ต้องหยุดหรือปิดกิจการ
รูป 1 อัตราการเพิ่มของประชากรกรุงเทพมหานคร1
แม้กรุงเทพฯ จะมีโอกาสทางเศรษฐกิจมากกว่าต่างจังหวัด แต่ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพของครัวเรือนสูงถึง 31,142 บาทต่อเดือน ซึ่งสูงกว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยทั่วประเทศที่ 21,329 บาทต่อเดือน ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยที่จำเป็นต้องใช้ในการยังชีพของครัวเรือนนี้จำแนกเป็น ค่าอาหารและเครื่องดื่มประมาณ 1 ใน 3 (35.6%) ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใชภายในบ้าน 20.6% และค่าใช้จ่ายในการเดินทางและยานพาหนะ 17.2% ส่วนที่เหลือเป็นค่าใช้จ่ายหมวดอื่นๆ2 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานระหว่างปี 2553-2563 ชี้ให้เห็นว่า ราคาสินค้าในกรุงเทพฯ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ และหมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า3
ข้อมูลจากการคาดประมาณประชากรไทยปี 2563 พบว่า จำนวนบุตรที่ผู้หญิงในกรุงเทพฯ คนหนึ่งจะมีตลอดวัยเจริญพันธุ์ (อายุ 15-49 ปี) อยู่ที่ 1.21 คนเท่านั้น ต่ำกว่าระดับประเทศที่ 1.53 คน4 อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิด หรือจำนวนปีที่ทารกคนหนึ่งจะมีชีวิตอยู่ สำหรับชาย 72.56 ปี และหญิง 80.18 ปี ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ (อายุคาดเฉลี่ยของชายไทยเท่ากับ 73.23 ปี และหญิงไทย 80.35 ปี)4
ท่านผู้ว่าฯ ตั้งข้อสังเกตการใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น เรือที่แล่นให้บริการในคลองแสนแสบว่ามีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมีสมมติฐานว่าผู้ชายนิยมขี่มอเตอร์ไซด์มากกว่าใช้บริการขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนขอเสนอสมมติฐานด้านประชากรว่า อาจเป็นเพราะ กรุงเทพฯ มีสัดส่วนผู้ชายน้อยกว่าผู้หญิง อัตราส่วนเพศชายต่อหญิงของกรุงเทพฯ โดยเฉลี่ยเท่ากับ ชาย 88.3 คน ต่อหญิง 100 คน เขตที่อัตราส่วนเพศสูงที่สุดคือ เขตดุสิต (ชาย 116.4 คนต่อหญิง 100 คน) รองลงมาคือ เขตดอนเมือง (ชาย 99.2 คนต่อหญิง 100 คน) เขตที่อัตราส่วนเพศต่ำที่สุด 3 อันดับ คือ เขตห้วยขวาง เขตพระโขนง เขตลาดพร้าว (ชาย 80.9, 81.8, 83.1 คนต่อหญิง 100 คน ตามลำดับ)1
สัดส่วนประชากรวัยแรงงานต่อเด็กและผู้สูงอายุเป็นตัวชี้สังคมสูงอายุ การคาดประมาณในปี 2565 จำนวนเด็ก (0-14 ปี) 25.62 คน ต่อประชากรวัยแรงงาน (15-59 ปี) 100 คน และผู้สูงอายุ (60 ปีขึ้นไป) 30.35 คนต่อแรงงาน 100 คน หรือคิดเป็นประชากรที่ต้องการพึ่งพิง 55.97 คนต่อประชากรวัยแรงงาน 100 คน นั่นหมายความว่า ประชากรวัยแรงงานในกรุงเทพฯ เพียงไม่ถึง 2 คน (1.79 คน) จะต้องดูแลเด็กหรือผู้สูงอายุ 1 คน ซึ่งเป็นความรับผิดชอบที่หนักหนาสำหรับคนวัยแรงงานที่ต้องทำงานหารายได้เพื่อดูแลพ่อแม่สูงอายุและลูก จึงไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดคนไทย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพฯ จะมีลูกน้อยลง หรือไม่มีลูกเลย
แหล่งข้อมูล