The Prachakorn

ความเจ็บปวด


วรชัย ทองไทย

07 กันยายน 2564
2,537



ความเจ็บปวด (pain) เป็นความรู้สึกไม่ดี ที่ถูกส่งจากเซลล์ประสาทไปสู่สมอง เพื่อบอกว่าร่างกายได้รับบาดเจ็บหรือกำลังจะได้รับบาดเจ็บ ความรู้สึกเจ็บซึ่งรวมทั้งทางร่างกายและจิตใจนี้ จะขึ้นอยู่กับอาการและประสบการณ์ของแต่ละบุคคล

ความเจ็บปวดไม่ได้อยู่แค่ความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการรับรู้ถึงความรู้สึกเจ็บปวดด้วย การรับรู้จะเป็นตัวบอกถึงบริเวณที่เจ็บปวด ระดับของความเจ็บปวด และบางครั้งก็จะบอกถึงสาเหตุ

ความเจ็บปวดเกิดจากหลายสาเหตุ ที่สำคัญที่สุดคือการบาดเจ็บ แต่ความเจ็บปวดอาจเกิดจากการป่วยไข้ก็ได้ รวมทั้งอาจมีสาเหตุมาจากสภาวะจิต เช่น ความโศกเศร้า หรือจากสาเหตุที่ไม่สามารถชี้ได้อย่างชัดเจน

ความรู้สึกเจ็บเกิดขึ้นที่กล้ามเนื้อ ข้อต่อ อวัยวะ และผิวหนัง ผู้หญิงมีความรู้สึกเจ็บปวดมากกว่าผู้ชาย ทั้งนี้เพราะผู้หญิงมีเส้นประสาทรับความรู้สึกมากกว่าผู้ชาย กล่าวคือ ผู้หญิงมีเส้นประสาทบนผิวหน้าถึง 34 เส้นต่อตารางเซนติเมตร ในขณะที่ผู้ชายมีเพียง 17 เส้นเท่านั้น ยิ่งกว่านั้นผู้หญิงยังรู้สึกเจ็บปวดตามส่วนต่างๆ ของร่างกายมากกว่าผู้ชาย และในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าด้วย

ความเจ็บปวดรุนแรงส่วนมากเกิดจากการที่เนื้อเยื่อถูกทำลาย เช่น ผิวหนังไหม้ หรือกระดูกหัก หรืออาจเป็นเพราะปวดหัวหรือกล้ามเนื้อเป็นตะคริวก็ได้ และความเจ็บปวดรุนแรงนี้จะหายไป เมื่อสาเหตุหรือบาดแผลหาย นอกจากนี้ ความเจ็บปวดรุนแรงยังเป็นการส่งสัญญาณของร่างกายว่า ต้องการให้ได้รับการดูแลอย่างเร่งด่วน อันมักจะเป็นผลมาจากการบาดเจ็บ ส่วนความเจ็บปวดเรื้อรังเป็นความเจ็บปวดที่ต่อเนื่องยาวนาน อาจเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปี

การรักษาความเจ็บปวดที่ดีที่สุด คือการรักษาที่สาเหตุ ความเจ็บปวดจะหายไป เมื่อสาเหตุได้รับการแก้ไขแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้ยาบรรเทาปวดกลับเป็นวิธีรักษาที่แพร่หลายที่สุด

นอกจากนี้ ยังมีวิธีที่สามารถรักษาความเจ็บปวดทั้งทางร่างกายและจิตใจได้ คือ  การนวด การฝังเข็ม การจัดกระดูกสันหลัง การทำโยคะ การสะกดจิต การทำสมาธิ การรักษาด้วยสมุนไพร รวมถึงการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายด้วย

รางวัลอีกโนเบลได้เคยมอบรางวัลให้กับผลงานวิจัยเกี่ยวกับความเจ็บปวด คือ

พ.ศ. 2540 สาขาสันติภาพ มอบให้กับ Harold Hillman นักวิจัยชาวอังกฤษที่ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเรื่อง "ความเจ็บปวดเมื่อถูกประหารชีวิตในแต่ละวิธี"
พ.ศ. 2553 สาขาสันติภาพ มอบให้กับนักวิจัยจากสหราชอาณาจักร (Richard Stephens, John Atkins และ Andrew Kingston) ที่ได้ยืนยันความเชื่อที่ว่า การสบถช่วยลดความเจ็บปวด
พ.ศ. 2557 สาขาศิลปะ มอบให้แก่นักวิจัยชาวอิตาลี (Marina de Tommaso, Michele Sardaro และ Paolo Livrea) ที่ร่วมกันศึกษา ความเจ็บสัมพัทธ์ของคนที่ถูกยิงด้วยลำแสงเลเซอร์บนมือ ในขณะที่ดูภาพเขียนน่าเกลียด กับขณะที่ดูภาพเขียนสวยงาม

พ.ศ. 2558 มี 2 รางวัล คือ
สาขาเวชศาสตร์ชันสูตร (Diagnostic Medicine) มอบให้แก่นักวิจัยจากประเทศคานาดา นิวซีแลนด์ บาห์เรน จีน ซีเรีย และสหราชอาณาจักร (Diallah Karim, Anthony Harnden, Nigel D'Souza, Andrew Huang, Abdel Kader Allouni, Helen Ashdown, Richard J. Stevens และ Simon Kreckler) ที่พบว่า ความเจ็บปวดของคนไข้เมื่อขับรถผ่านเครื่องชะลอความเร็วบนถนน (speed bump) สามารถบอกระดับความอักเสบของไส้ติ่งได้
สาขาสรีรศาสตร์และกีฏวิทยา ซึ่งเป็นรางวัลที่ได้รับร่วมกันของนักวิจัยจากประเทศสหรัฐอเมริกา 2 คน คือ Justin Schmidt ผู้สร้าง “ดัชนีความเจ็บปวดเมื่อถูกแมลงต่อย” กับ Michael L. Smith ผู้นำดัชนีนี้ไปใช้กับตนเอง โดยให้ผึ้งต่อยตามร่างกายทุกวัน วันละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 38 วัน จึงได้พบว่า ที่ที่เจ็บปวดมากที่สุดคือ รูจมูก ริมฝีปากบน และจู๋

รางวัลอีกโนเบล: รางวัลสำหรับงานวิจัย "ที่ทำให้หัวเราะก่อนคิด"


หมายเหตุ: ที่มา: “ความเจ็บปวด” ใน ประชากรและการพัฒนา 36(4) เมษายน-พฤษภาคม 2559: 8

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

ยกทรง

วรชัย ทองไทย

ผรุสวาจา

วรชัย ทองไทย

น้ำลาย

วรชัย ทองไทย

การส่งเสริมกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ

กรกนก พงษ์ประดิษฐ์,ปิยวัฒน์ เกตุวงศา

ความเจ็บปวด

วรชัย ทองไทย

เจรจาชอบ

วรชัย ทองไทย

Work from home ไม่เหงา...เท่า Care from home

จงจิตต์ ฤทธิรงค์

สัจธรรมแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประเด็นทางประชากรและสังคม

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

โชคหรือกรรม

วรชัย ทองไทย

คนแก่ ม้าหาย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สูงวัยแต่ไม่แก่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th