การเริ่มต้นของชีวิตทางการกฎหมายระบุไว้ว่า สภาพบุคคลจะเกิดต่อเมื่อคลอดออกมาแล้วมีชีวิตรอดและสิ้นสุดลงเมื่อตาย เมื่อความตายเกิดขึ้นแก่บุคคลใดย่อมนับว่าสิทธิของบุคคลนั้นนับเป็นจุดสิ้นสุด ความตายทางกฎหมายอาจเป็นเพียงปรากฏการณ์ด้านหนึ่งของมนุษย์ ในความเป็นจริงยังคงมีมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความตายที่รอให้เราทำความเข้าใจและกล้าเผชิญหน้ากับมัน
ความตายเป็นปกติเช่นเดียวกับสถานการณ์อื่นในชีวิต แต่กลับถูกพูดถึงน้อยมาก โดยเฉพาะในสังคมไทยในที่มักพยายามเลี่ยงการถกเถียงประเด็นเหล่านี้ด้วยความเชื่อว่าเป็นเรื่องอกุศล ในขณะเดียวกัน วงการวิชาชีพด้านการแพทย์และสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นดังกล่าวโดยเฉพาะกลุ่มคนเจ็บป่วยในระยะท้ายซึ่งยากที่จะรอดพ้นจากหนึ่งในสัจธรรมของชีวิต และแม้ว่าความตายเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ แต่มีสักกี่คนที่จะเตรียมใจและพร้อมเผชิญกับความตายทั้งของตัวเองและบุคคลใกล้ชิด
ความตายอย่างที่รู้กันว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นความตายที่มีลักษณะของ “การตายดี” จึงเป็นสิ่งเดียวที่ทุกคนคาดหวัง คำจำกัดความของ การตายดี กล่าวอย่างกระชับได้ว่า การตายที่ปราศจากความทรมานทั้งร่ายกายทั้งจากการรักษา การใส่อุปกรณ์การรักษาเพื่อยื้อชีวิต รวมถึงจิตใจ ไม่กระวนกระวาย ใจสงบ ไม่กลัว ไม่มีเรื่องค้างคาใจ ไม่มีห่วง รวมถึงจิตวิญญาณที่มีความเชื่อตามศาสนา วัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้อง
จากการศึกษาการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ (Systematic Review) ด้านการรับรู้ความตายในฐานะผู้สูญเสีย พบปัจจัยเพศ อายุ และประสบการณ์ ส่งผลต่อการรับมือต่อความตาย การศึกษาพบว่า เพศหญิงโดยเฉพาะช่วงวัย 40 – 65 ปี รับรู้การตายดีได้มากกว่าเพศชาย ประกอบกับมีประสบการณ์ที่ว่า ถ้าบุคคลเคยดูแลบุคคลอื่นในระยะสุดท้ายที่จากไปอย่างสงบ จะไม่กลัวต่อการตายและยอมรับได้ต่อการตายได้ดีกว่าคนที่เคยเห็นญาติหรือคนในครอบครัวจากไปอย่างไม่สงบหรือทรมาน และปัจจัยหลักที่มีผลคือ การดูแลด้านร่างกาย การดูแลด้านจิตใจและจิตวิญญาณของผู้ตาย 1 เช่นเดียวกับผลการศึกษาการรับรู้เกี่ยวกับการตายดีของครอบครัวที่มีสมาชิกอยู่ในระยะท้ายของชีวิต โดยใช้กระบวนการศึกษาตามหลักปรัชญาอัตถิภาวะนิยม (Existentialism) หมายถึง ความเป็นธรรมชาติของการดำรงอยู่ของบุคคลในภาวะการณ์หนึ่ง ๆ ให้ความสำคัญต่อประสบการณ์ที่เป็นจริงตามที่การรับรู้ การนิยามคุณค่า และตีความตามแต่ละบุคคล ซึ่งมีลักษณะอัตวิสัย (Subjective) จากการศึกษาพบว่า การตายดีในการรับรู้ของญาติ คือการตายที่เกิดญาติรับรู้ได้ว่าคนตายจากไปอย่างสงบปราศจากความเจ็บป่วยทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งหมายรวมถึงการยอมรับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นทั้งจากตัวผู้ป่วยเองและญาติ สถานที่สุดท้าย การใช้เวลาร่วมกัน การได้รับการดูแลอย่างใส่ใจจากบุคลากรสุขภาพรวมถึงการนำความเชื่อทางศาสนามาเป็นสิ่งยึดเหนี่ยว2
อย่างไรก็ตาม การตายดีใช่ว่าจะเกิดขึ้นกับสถานการณ์ความตายของทุกคน หลายครั้งการตายของคนใกล้ชิดเกิดขึ้นในขณะที่ญาติยังไม่ได้เตรียมใจ หรือเตรียมใจแล้วแต่ยังคงยากที่จะยอมรับ ดังนั้นผลลัพธ์ที่ตามมาจึงมีความหลากหลาย ทั้งสาเหตุจากระดับความผูกพัน สถานะความสัมพันธ์ระหว่างคนตายและคนเป็น
กระบวนการทางจิตใจเป็นหนึ่งในผลลัพธ์ของการสูญเสียที่สามารถแสดงออกมาเป็นปฏิกิริยาตอบสนอง สามารถแบ่งได้ 5 ระดับ ได้แก่ ปฏิเสธ (Deny) รู้สึกโกรธ (Anger) ต่อรอง (Bargain) อาการซึมเศร้า (Depressed) และ ยอมรับความสูญเสียที่เกิดขึ้น (Acceptance) ปฏิกิริยาเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นเรียงลำดับ (ปฏิเสธ > โกรธ > ต่อรอง > ซึมเศร้า > ยอมรับ) เสมอไป บางคนอาจมีแค่การปฏิเสธหรือโกรธอย่างเดียวบางคนอาจ ซึมเศร้าจากนั้นโกรธหรือบางคนอาจสามรถยอมรับต่อความสูญเสียได้เลย
นอกเหนือจากการยอมรับความตายของบุคคลใกล้ชิดแล้วการยอมรับความตายของตนเองเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ตามความเชื่อของพุทธศาสนาเชื่อว่าการตายที่ดีคือการตายที่จิตสุดท้ายก่อนหมดลมหายใจอยู่ในภาวะสงบและเป็นกุศล ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อการมีสติระลึกรู้ถึงสถานการณ์ตนเอง ณ ขณะนั้น วิธีหนึ่งที่จะช่วยให้เตรียมตัวตายตามแนวทางของพุทธศาสนาเป็นไปตามคาดหมาย คือ การหมั่นฝึกสติและภาวนาระลึกถึงความตายของตนเองเพื่อสร้างความคุ้นเคยซึ่งมีรายละเอียดปลีกย่อยลงไป ทว่า หลักการดังกล่าวเป็นแนวทางหนึ่งตามความเชื่อของกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง เป็นไปได้ว่าคนนอกกลุ่มยากที่จะเข้าถึง
ประเทศไทยมีกฎหมายพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ 2550 มาตรา 12 ในหมวดสิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์รับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิต หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วย”3 ผ่านการแสดงเจตจำนงค์ด้วยลายลักษณ์อักษรครอบคลุมถึงความต้องการให้ญาติจัดงานในรูปแบบใด อย่างไร สิทธินี้เป็นหนึ่งในสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในฐานะเจ้าของชีวิต ตามหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
การเกิด แก่ เจ็บ(ป่วย) ตาย ขั้นตอนธรรมชาติที่หนีไม่พ้น ไม่ว่าจะนับถือหรือไม่นับถือศาสนา ไม่ว่าจะอยากพูดถึงหรือไม่อยากพูดถึง สิ่งที่ดีที่สุดคงต้องทำใจยอมรับและเตรียมพร้อมอยู่เสมอด้วยวิธีตามหลักความเชื่อ หรือการเตรียมตัวเตรียมใจโดยการแสดงเจตจำนงค์ตามสิทธิทางกฎหมายข้างต้น เพื่อบรรเทาความรู้สึกเมื่อต้องเผชิญหน้าในสถานการณ์จริง และผ่านไปได้ด้วยภูมิต้านทานของแต่ละคนที่มี (ไม่เท่ากัน)
อ้างอิง
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุพัตรา ฌานประภัสร์
นิธิพัฒน์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุริยาพร จันทร์เจริญ
ปราโมทย์ ประสาทกุล
กาญจนา เทียนลาย
ปราโมทย์ ประสาทกุล