The Prachakorn

สิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายในศรีลังกา: ความพิเศษที่ยังคงไม่พิเศษ (ตอนจบ) 


เสฎฐวุฒิ ยุทธาวรกูล

09 พฤษภาคม 2564
719



ในตอนที่แล้ว ผู้เขียนได้อธิบายกฎเกณฑ์และกระบวนการเบื้องต้นของการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายที่ผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกาต้องเผชิญ ทั้งการกำหนดให้พวกเธอต้องมีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ต้องผ่านการประเมินทางจิตจากจิตแพทย์ และต้องผ่านการประเมินความพร้อมในการรับฮอร์โมนเพศหญิง เมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดในข้างต้น พวกเธอได้รับประกาศนียบัตรการรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition Certificate: GRC) และจะต้องเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตนเองเพื่อแก้ไขเพศกำเนิดจากชายให้เป็นหญิงไม่ว่าจะเป็นในสูติบัตรหรือเอกสารทางการอื่น ๆ อย่างไรก็ตามผู้เขียนได้ทิ้งท้ายในบทความตอนที่แล้วว่า การแก้ไขเพศกำเนิดอย่างเป็นทางการของศรีลังกานั้นเป็นไปอย่างง่ายดายด้วยการ “ขีดฆ่า” เพศกำเนิดเดิมและเขียนเพศใหม่มาแทนที่เท่านั้น ทำให้เกิดเป็นคำถามขึ้นมาว่าสิทธิที่ทางการของศรีลังกามอบให้ผู้หญิงข้ามเพศนั้น มีความแตกต่างและพิเศษเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยเขียนว่าเป็น “เพศชาย” อย่างไร 

สำหรับบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงอุปสรรค ความท้าทาย และผลกระทบที่ผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกาต้องเผชิญหากต้องการเป็นผู้หญิงอย่างเต็มตัว การเดินทางไปกรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกาของผู้เขียนช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 ทำให้ผู้เขียนได้พบและสัมภาษณ์ผู้คนมากหน้าหลายตาที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับสิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทนายความ ภาคประชาสังคม และผู้หญิงข้ามเพศจากต่างกลุ่มชาติพันธุ์และศาสนา  ทำให้ผู้เขียนได้รับมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับสิทธิพิเศษนี้ที่ไม่มีในประเทศไทย

การเปลี่ยนเพศคือการสร้างชีวิตใหม่ (?)

ประกาศนียบัตรการรับรองเพศสภาพ (GRC) ไม่เพียงแต่เป็นบันไดที่นำไปสู่การยื่นขอเปลี่ยนเพศจากทางการเท่านั้น แต่ยังเป็นการลดความทุกข์ใจในเพศสภาพ (gender dysphoria) ของผู้หญิงข้ามเพศอีกด้วย  ประกาศนียบัตรการรับรองเพศสภาพนี้มีส่วนในการแสดงให้เห็นว่าทางการได้ให้การยอมรับการคงอยู่ของพวกเธอในสังคม อีกทั้งยังทำให้พวกเธอลดความหวาดกลัวที่จะแต่งกายเป็นหญิงเป็นชีวิตประจำวัน เนื่องจากการแต่งกายไม่ตรงกับเพศกำเนิดนั้นเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย แม้จะมีประกาศนียบัตรการรับรองเพศสภาพ แต่นักกฎหมายยังคงมองว่าผู้หญิงข้ามเพศถูก “กีดกัน” จากการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เนื่องจากขนบธรรมเนียมและวัฒนธรรมของศรีลังกาที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงนั้นมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนและการกำหนดนโยบายภาครัฐ แม้การข่มขู่คุกคามและการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงข้ามเพศจะลดลงไปบ้าง แต่ปัญหาหลาย ๆ  อย่างก็ยังคงดำเนินต่อไป

ผู้เขียนสอบถามประสบการณ์การเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายจากผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกาพบว่า พวกเธอส่วนมากรับรู้ถึงสิทธินี้จากเพื่อนในชุมชนผู้หญิงข้ามเพศด้วยกัน และใช้เวลาอย่างน้อยหลายเดือนในการตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการดังกล่าว เหตุผลหลักคือพวกเธอต้องการเป็น “ผู้หญิง” ที่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม บางคนมองว่าการถือเอกสารทางการ เช่น บัตรประชาชนที่ระบุเพศที่ตรงกับเพศสภาพของพวกเธอนั้นย่อมทำให้พวกเธอได้ใช้สิทธิที่ได้รับตามกฎหมายอย่างเต็มที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือในอดีตพวกเธอไม่กล้าที่จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเพราะเพศบนบัตรประชาชนกับเพศสภาพที่ผู้คนได้เห็นนั้นไม่ตรงกัน ในปัจจุบันพวกเธอมีความกล้ามากขึ้นที่จะเปิดเผยตัวตนพร้อมกับบัตรประชาชนที่แสดงว่าเธอเป็นหญิง นอกจากนี้พวกเธอยังมีความกล้าที่จะเดินทางไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้นโดยไม่กลัวการตรวจบัตรประชาชนอีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิงข้ามเพศเชื้อชาติทมิฬซึ่งชนชาวทมิฬนั้นเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมอยู่แล้ว การเป็นผู้หญิงข้ามเพศเชื้อชาติทมิฬจึงทำให้พวกเธอจัดเป็น “ชนกลุ่มน้อย” ท่ามกลาง “ชนกลุ่มน้อย” ในสังคมอีกทอดหนึ่ง ความเปราะบางนี้เองที่ทำให้พวกเธอตกเป็นเป้าของการเลือกปฏิบัติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้การมีเอกสารทางการที่ระบุเพศตรงกับเพศสภาพของพวกเธอจะลดการตีตราจากสังคมภายนอก แต่สังคมที่มีขนาดเล็กลงมา เช่น ครอบครัว ที่ทำงาน ชุมชนที่อยู่อาศัยยังคงมีอคติกับผู้หญิงข้ามเพศและไม่ยอมรับพวกเธอให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมเท่าที่ควร จึงมิอาจกล่าวได้อย่างเต็มที่ว่าการเปลี่ยนเพศสร้างชีวิตใหม่ให้กับผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกาจริง ๆ

รัฐกับการจัดระเบียบร่างกาย

หากมองดูอย่างผิวเผินจะพบว่ากระบวนการในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายไม่ได้สลับซับซ้อนอะไร แต่แท้ที่จริงแล้วมีปัญหามากมายซ่อนอยู่ เริ่มจากการได้รับ “ความยินยอม” (consent) จากผู้ปกครองในกรณีที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีบริบูรณ์ การบังคับให้ผู้หญิงข้ามเพศต้องเข้ารับการประเมินทางสุขภาพจิตว่าความต้องการเปลี่ยนเพศนั้นเกิดจากความผิดปกติทางจิตหรือไม่ นอกจากนี้เอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนเพศ เช่น GRC ถูกจัดเก็บในระบบจัดเก็บเอกสารของกรมสุขภาพจิตอีกด้วยซึ่งทำให้พวกเธอนั้นอาจถูกตีตราว่าเป็นผู้มีปัญหาทางจิต แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุดคือการกำหนดให้พวกเธอจะต้องเดินทางกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตนเองเพื่อติดต่อหน่วยงานทะเบียนท้องที่ ผู้หญิงข้ามเพศหลายคนนั้นไม่ได้เดินทางกลับบ้านเกิดมานานมากแล้ว บางส่วนเลือกที่จะออกมาเพราะทนไม่ได้กับความอับอายจากคำวิพากษ์วิจารณ์ของผู้คนในครอบครัวและชุมชน บางส่วนก็ถูกขับไสไล่ส่งโดยครอบครัวและชุมชนของพวกเธอเอง ด้วยเหตุนี้ การเดินทางไปยังที่ที่พวกเธอรู้สึกเจ็บปวดมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับผู้หญิงข้ามเพศหลายคน และเหตุผลนี้อาจทำให้พวกเธอล้มเลิกความตั้งใจที่จะไปเปลี่ยนเพศของตนในเอกสารทางการ

การติดต่อสื่อสารกับนายทะเบียนท้องที่ก็มิใช่เรื่องง่ายนัก บ่อยครั้งที่ผู้หญิงข้ามเพศถูกซักถามถึงข้อมูลส่วนบุคคลซึ่งละเมิดความเป็นส่วนตัว บางคนพบกับการเรียกสินบนเพื่อเป็นค่าดำเนินการ บางคนถูกจ้องมองจากเจ้าหน้าที่ ราวกับเป็นตัวประหลาด อีกทั้งเจ้าหน้าที่บางคนยังไม่รู้ว่ารัฐมีนโยบายให้สิทธิผู้หญิงข้ามเพศสามารถขอแก้ไขเพศให้ตรงกับเพศสภาพได้ แต่สิ่งที่สร้าง “ความเจ็บปวด” ทางใจแก่ผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกาอย่างมากคือการเปลี่ยนเพศในสูติบัตรที่ใช้วิธีการ “ขีดฆ่า” เพศกำเนิดออกและเขียนเพศใหม่กำกับอยู่ข้างเพศเดิมเท่านั้น โดยไม่ได้มีการออกสูติบัตรฉบับใหม่แต่อย่างใด นั่นหมายความว่าหากพวกเธอเลือกที่จะทำงานในหน่วยงานของรัฐที่กำหนดให้ผู้สมัครต้องยื่นสูติบัตรประกอบการสมัครงาน พวกเธอมีแนวโน้มสูงมากที่จะได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ในบางกรณีเมื่อพวกเธอได้เปลี่ยนเพศในสูติบัตรและได้รับบัตรประชาชนใบใหม่แล้ว ผู้หญิงข้ามเพศบางคนก็ถูกเจ้าหน้าที่เลือกปฏิบัติจากการไปติดต่อแก้ไขเพศของตนในเอกสารจบการศึกษาที่สถานศึกษาเดิม ในสถานศึกษาบางแห่งก็ไม่อนุญาตให้พวกเธอแก้ไขเพศในเอกสารจบการศึกษาอีกด้วย เหตุนี้จึงทำให้การสมัครงานหรือการติดต่อกับทางการ เช่น การศึกษาต่อเกิดอุปสรรคและปิดกั้นโอกาสความก้าวหน้าในชีวิต บ่อยครั้งพวกเธอไม่มีทางเดินที่เลือกได้มากนัก และมักจะถูกเหมารวมว่าเป็นพนักงานขายบริการทางเพศ

ใครที่เคยเดินทางมาศรีลังกามาก่อนจะพบว่าประเทศเกาะแห่งนี้มีระบบรัฐสวัสดิการที่เข้มแข็งมากแห่งหนึ่ง มีระบบสาธารณสุขที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มรูปแบบจากภาครัฐแต่ก็ยังไม่ครอบคลุมทั้งประเทศ จะมีแต่เพียงที่กรุงโคลัมโบและเมืองใหญ่ ๆ ในศรีลังกา เช่น เมืองทางตอนเหนืออย่าง Jaffna หรือเมืองชายทะเลตอนใต้อย่าง Galle เท่านั้นที่มีบริการศัลยกรรมร่างกายหรือรับฮอร์โมนเพศหญิง ทำให้ผู้หญิงข้ามเพศหลายคนต้องเสียเวลาและเสียเงินเป็นจำนวนมากในการเดินทางไปยังสถานพยาบาลที่ไกลออกไปจากชุมชน มิเช่นนั้นพวกเธอก็จะไม่ผ่านการประเมินทางร่างกายจากแพทย์ และจะไม่มีสิทธิได้รับ GRC รวมทั้งโอกาสในการเปลี่ยนเพศในสูติบัตรและเอกสารทางการ ในขณะที่บุคลากรทางการแพทย์บางส่วนก็ยังไม่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศและลักษณะข้ามเพศ (transgenderism) ทำให้ในบางครั้งพวกเธอต้องพบกับการผลิตซ้ำการตีตราในระหว่างเข้ารับบริการทางการแพทย์ ยิ่งไปกว่านั้นการได้รับ GRC ก็ขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์ ซึ่งพวกเธอไม่มีโอกาสได้รู้เลยว่าแพทย์จะให้หยุดรับฮอร์โมนเมื่อใด ซึ่งอาจใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน 1 ปี หรือ 3 ปี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์แทบทั้งสิ้น

เมื่อสิทธิในการเปลี่ยนเพศไม่ใช่กฎหมาย

เมื่อรัฐมองว่าการเป็น “ผู้หญิง” จะต้องมีเรือนร่างที่เป็นเหมือนผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกาต้องทำตามข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่กับรัฐแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการผ่านประเมินสุขภาพจิตและทางร่างกาย ฉะนั้นการตัดสินใจเป็น “ผู้หญิง” ของพวกเธอมาพร้อมกับต้นทุนอันมหาศาลและที่สำคัญที่สุดคือสิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายในศรีลังกาเป็นเพียงแค่ “นโยบาย” หรือ “แนวปฏิบัติ” เท่านั้น ไม่ใช่ “กฎหมาย” อย่างที่หลายคนเข้าใจ จึงเป็นสิ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และมีความท้าทายอย่างยิ่ง เพราะหน่วยงานของรัฐในศรีลังกาสามารถยุติหรือยกเลิกนโยบายนี้เมื่อไรก็ได้ อีกทั้งกระบวนการนับตั้งแต่การขอ GRC ที่เป็นการปฏิบัติทางการแพทย์ไปจนถึงการยื่นเรื่องขอแก้ไขเพศกำเนิดในสูติบัตรนั้นก็จัดเป็น “ดุลยพินิจ” ของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีสิทธิเลือกที่จะดำเนินการหรือเลือกไม่ดำเนินการแทบทั้งสิ้น

ผู้เขียนได้สัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ของรัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายนี้ พบว่านโยบายที่ให้บุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศเปลี่ยนเพศได้ตามกฎหมายนั้นจะดำเนินต่อไปและไม่มีความเป็นไปได้ที่จะผลักดันนโยบายนี้ให้เป็นกฎหมายอย่างแน่นอน เหตุผลหลักนอกเหนือจากสังคมแบบปิตาธิปไตยและความเป็นพุทธชาตินิยมของศรีลังกาก็คือกระบวนการผ่านตรากฎหมายที่มีความซับซ้อน ต้องมีการรับฟังเสียงจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาอย่างน้อย 2 ใน 3 และที่สำคัญที่สุดคือจะต้องจัดให้มีการลงประชามติรับรองกฎหมายนี้โดยประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีองค์กรภาคประชาสังคมหลายองค์กรในศรีลังกาที่ติดตามนโยบายนี้และต้องการผลักดันร่างกฎหมายรัฐบัญญัติบุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศ (Transgender Act) อยู่ เช่น องค์กร Equal Ground เครือข่ายบุคคลข้ามเพศแห่งชาติ (National Transgender Network) เครือข่ายบุคคลข้ามเพศวีนาสา (Venasa Transgender Network) แต่ก็ยากที่จะเปลี่ยนแปลงทัศนคติและความเข้าอกเข้าใจตัวตนของผู้หญิงข้ามเพศ

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับชุมชนผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกา ทำให้ผู้เขียนเข้าใจมากขึ้นว่าถึงแม้ว่านโยบายที่ให้สิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายนั้นดำเนินมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 แล้ว แต่ยังคงมีผู้หญิงข้ามเพศอีกหลายคนที่ยังไม่ทราบถึงสิทธิที่ตนเองมีอยู่ พวกเธอยังคงใช้ชีวิตแบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ เพราะกลัวว่าจะตกเป็นเหยื่อของการเลือกปฏิบัติจากภาครัฐและสังคม ปัญหาสำคัญคือการ “เข้าไม่ถึง” ข้อมูลจากภาครัฐ ทั้ง ๆ ที่สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญศรีลังกามาตรา 14A วรรคหนึ่ง และตามมาตรา 12 ในรัฐบัญญัติสิทธิในการเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ผู้หญิงข้ามเพศที่มีพื้นเพมาจากเชื้อชาติทมิฬทางตอนเหนือของศรีลังกาและกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ชาวสิงหล เช่น ชาวฮินดู หรือชาวมุสลิม ก็แทบไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้เลย

ความฝันอันสูงสุดของผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกา

จากการได้พบปะพูดคุยกับผู้หญิงข้ามเพศหลายคนในศรีลังกา พวกเธอพูดได้อย่างภูมิใจว่าเธอเป็น “ผู้หญิง” แต่ในขณะเดียวกันก็มีอีกหลายคนที่ให้คำจำกัดความตนเองว่าเป็น “ผู้หญิงข้ามเพศ” ไม่ว่าเธอจะนิยามตัวเองว่าเป็นผู้หญิงหรือผู้หญิงข้ามเพศก็ตาม พวกเธอก็เป็นมนุษย์ที่มีสิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย มีศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกับชายและหญิง สำหรับผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกาแล้ว สิ่งที่พวกเธอต้องการคือการยอมรับจากสังคม ความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศ และการลดกรอบแนวคิดแบบสองเพศ (gender binarism) ที่สำคัญที่สุดคือการยกเลิกความผิดทางอาญาที่มุ่งโจมตีกลุ่มคนที่ความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งการให้การยอมรับบุคคลข้ามเพศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพียงเท่านี้ก็จะทำให้สิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายในศรีลังกามี “ความพิเศษ” มากขึ้นกว่าเดิม


เอกสารอ้างอิง

  1. ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในด้านชาติพันธุ์ ชาวสิงหลจัดเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดราวร้อยละ 75 ชาวทมิฬประมาณร้อยละ 11 และกลุ่มชาติพันธุ์อื่นๆ เช่น มาเลย์ ดัตช์เบอร์เกอร์ เป็นต้น ในด้านศาสนา พุทธศาสนาจัดเป็นศาสนาที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐตามรัฐธรรมนูญมาตรา 9 และมีผู้นับถือราวร้อยละ 70 ศาสนาฮินดูมีผู้นับถือประมาณร้อยละ 12 มีชาวมุสลิมราวร้อยละ 9 และชาวคริสต์รวมกันประมาณร้อยละ 7
  2. Yutthaworakool, S. (2020). Understanding the Right to Change Legal Gender: A Case Study of Trans Women in Sri Lanka. (Master’s Thesis). Mahidol University, Nakhon Pathom.
  3. บทความนี้เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตเรื่อง “Understanding the Right to Change Legal Gender: A Case Study of Trans Women in Sri Lanka” นำเสนอต่อสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และสามารถอ่านตอนที่ 1 ได้ที่ https://www.theprachakorn.com/newsDetail.php?id=437


 



CONTRIBUTOR

Related Posts
รางวัลล้อเลียน

วรชัย ทองไทย

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ทำไมคุณพ่อต้องลาคลอด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สมุดเบาใจ พินัยกรรมชีวิต

สุริยาพร จันทร์เจริญ

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

กฎหมาย

วรชัย ทองไทย

ต้องยกเลิกมาตรา 301

กฤตยา อาชวนิจกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th