The Prachakorn

สิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายในศรีลังกา : ความพิเศษที่ยังคงไม่พิเศษ (ตอนที่ 1)


เสฎฐวุฒิ ยุทธาวรกูล

28 เมษายน 2564
1,837



ในแวดวงวิชาการที่ศึกษาเกี่ยวกับภูมิภาคเอเชียใต้ (South Asian Studies) ส่วนมากมักจะให้ความสำคัญกับประเทศอินเดีย เพราะหากมองในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม อินเดียเป็นประเทศมหาอำนาจที่มีจำนวนประชากรเป็นอันดับสองของโลกรองจากประเทศจีน มีกำลังซื้อมหาศาล เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเทคโนโลยี อีกทั้งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการปกครองแบบประชาธิปไตยท่ามกลางความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในด้านเพศสภาวะและเพศวิถี (gender and sexuality) นั้น อินเดียก็มีความก้าวหน้าอย่างมาก เพราะในปี ค.ศ.2018 ได้มีการยกเลิกมาตรา 377 ในประมวลกฎหมายอาญาของประเทศที่กำเนิดขึ้นในสมัยเป็นบริติช ราช (British Raj)3 ที่กำหนดให้การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างบุคคลที่มีเพศกำเนิดเดียวกัน (consensual homosexual intercourse) เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ ในปี ค.ศ.2014 ศาลสูงสุดของอินเดียยังได้ให้การรับรองบุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศ (trans/transgender person) เป็นเพศที่สาม (third gender) ด้วยเหตุผลว่าเป็นสิทธิของมนุษย์แต่ละคนที่จะเลือกเพศของตนเอง ต่อมาในปี ค.ศ.2019 รัฐสภาอินเดียก็ผ่านร่างกฎหมายรัฐบัญญัติปกป้องสิทธิของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศ (Transgender Persons (Protection of Rights) Act) โดยให้เรียกบุคคลเหล่านี้ว่า “ฮิจรา” (hijra)

ความสำเร็จของอินเดียต่อการรับรองบุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศในปี ค.ศ.2014 ทำให้ประเทศเกาะทางตอนใต้ของอินเดียอย่างศรีลังกาต้องการที่จะเดินตามรอยนี้บ้าง ภาคประชาสังคมในศรีลังกาหลายกลุ่มให้เหตุผลว่า ศรีลังกากับอินเดียไม่ได้ต่างกันมากนัก ทั้งประวัติศาสตร์ภายใต้อาณานิคมอังกฤษ ความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนา และประมวลกฎหมายอาญาที่ถูกร่างขึ้นโดยเจ้าอาณานิคมเดียวกัน ทำให้ในปี ค.ศ. 2016 รัฐบาลศรีลังกาของนายไมตรีพละ สิริเสนะ ตัดสินใจดำเนินนโยบาย “สิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย” (right to change legal gender) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับชีวิตของบุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศในหลาย ๆ ด้าน แต่นโยบายนี้ก็ยังขัดกับประมวลกฎหมายอาญาของประเทศอยู่ดี เพราะศรีลังกายังคงบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 365 และ 365A ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากอาณานิคมอังกฤษที่ให้การรักเพศเดียวกันเป็นความผิดทางอาญา นอกจากนี้ บุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศยังตกเป็นอาชญากรตามมาตรา 399 หากทางการพบว่าบุคคลดังกล่าวมีเพศสภาวะและเพศวิถีที่ที่ขัดกับเพศกำเนิด อีกทั้งตามรัฐกฤษฎีกามาตรา 07/1841 ยังอนุญาตให้ทางการสามารถควบคุมตัวหรือจับกุมบุคคลเหล่านี้ตามอำเภอใจ หากต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรมที่ “ไม่เหมาะสม” ในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งในที่นี้น่าจะตีความหมายถึงการขายบริการทางเพศ

แม้ว่าในปัจจุบันทางการศรีลังกาจะปฏิเสธการบังคับใช้กฎหมายเหล่านี้ต่อบุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศ โดยเฉพาะผู้หญิงข้ามเพศ (trans women/transgender women) ไปแล้ว แต่การมีเพศสภาพและเพศวิถีที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิดยังคงเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิตที่เป็นปกติสุขของผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกา เพราะพวกเธอมักถูกเหมารวมว่าเป็น “พนักงานขายบริการทางเพศ” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับนโยบาย “สิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย” ที่มีการปฏิบัติมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 นั้น มีจุดเริ่มต้นจากการเรียกร้องของผู้หญิงข้ามเพศในสังคมศรีลังกาต่อคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 จนกระทั่งกระทรวงสุขภาพและการบริการทางการแพทย์พื้นเมือง (Ministry of Health and Indigenous Medical Services) ได้ออกหนังสือเวียนที่  01-34/2016 ลงวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 2016 อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศเหล่านี้สมัครใจเข้ารับ “ประกาศนียบัตรการรับรองเพศสภาพ” (Gender Recognition Certificate: GRC) ตามด้วยกรมทะเบียนบุคคล (Registrar-General’s Department) ที่ได้ออกหนังสือเวียนที่ 06/2016 ลงวันที่ 28 กรกฎาคม ในปีเดียวกัน ต่อหน่วยงานทะเบียนท้องที่ทั่วประเทศ อนุญาตให้บุคคลที่ได้รับประกาศนัยบัตรการรับรองเพศสภาพสามารถเปลี่ยนเพศตามกฎหมายผ่านการแก้ไข “เพศ” ในบัตรประชาชนและเอกสารอื่น ๆ ที่แสดงอัตลักษณ์บุคคลได้ เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ สูติบัตร เป็นต้น โดยยึดหลักตามรัฐกฤษฎีกาว่าด้วยทะเบียนการเกิดและตาย ที่อนุญาตให้มีการแก้ไขข้อมูลทางทะเบียนที่ผิดพลาดจากสูติบัตร

ถึงแม้ว่านโยบายสิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายจะเป็นแนวทางที่เอื้อประโยชน์ให้บุคคลที่มีอัตลักษณ์ข้ามเพศในศรีลังกาต่อการได้รับการยอมรับทางสังคม แต่ในงานวิทยานิพนธ์ของผู้เขียนที่มุ่งศึกษาเฉพาะชีวิตของผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกานั้นพบว่า กระบวนการได้มาซึ่งการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายนี้มีอุปสรรคและซับซ้อนมากกว่าที่เข้าใจ ไม่ว่าจะเป็นจากปัญหาการเหมารวม การตีตรา การเหยียดหยาม การผลักให้พวกเธอออกไปสู่สังคมชายขอบมากขึ้น และที่สำคัญคือนโยบายนี้ไม่ใช่กฎหมาย แต่เป็นเพียง “แนวปฏิบัติ” ของรัฐเท่านั้น ผู้เขียนเดินทางไปที่กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา และได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักกฎหมายประจำหน่วยงานรัฐของศรีลังกา ทนายความ ภาคประชาสังคม และผู้หญิงข้ามเพศ ในช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 พบว่า หากผู้หญิงข้ามเพศหนึ่งคนอยากจะเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนเพศตามกฎหมายนั้น ผู้หญิงคนนั้นจะต้องมีอายุมากกว่า 16 ปีบริบูรณ์ จะต้องผ่าน “การประเมินทางจิต” จากจิตแพทย์เสียก่อน ซึ่งหากผ่านขั้นตอนนี้แล้ว จิตแพทย์จึงจะออกหนังสือว่าเธอควรได้รับฮอร์โมนและการผ่าตัดแปลงเพศ และถูกส่งต่อไปยังแพทย์ที่จะประเมินความพร้อมทางร่างกายว่าควรจะได้รับฮอร์โมนในระยะเวลาเท่าใดตามสภาพร่างกาย ส่วนการผ่าตัดแปลงเพศ ขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละคน เนื่องจากมีราคาแพงและเทคโนโลยีการผ่าตัดแปลงเพศของศรีลังกายังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร สุดท้ายเมื่อแพทย์เห็นควรว่าพวกเธอมีร่างกายที่เป็น “ผู้หญิง” ตามที่ต้องการเรียบร้อยแล้ว แพทย์จึงจะมอบประกาศนียบัตรการรับรองเพศสภาพ (GRC) ให้แก่เธอ 

ในขั้นตอนนี้ เมื่อเธอได้รับประกาศนียบัตร ก็อาจเป็นการการันตีเบื้องต้นว่าผู้หญิงข้ามเพศคนนั้นได้รับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศแล้ว แต่ในทางกฎหมาย เธอยังคงเป็น “ผู้ชาย” ตามคำนำหน้านามและเพศกำเนิดที่ระบุในเอกสารราชการอยู่ แต่หากต้องการเปลี่ยนเพศที่ถูกต้องตามกฎหมายเป็น “ผู้หญิง” กระบวนการทางทะเบียนคือ ขั้นตอนต่อไป กล่าวคือ เธอจะต้องเดินทางกลับไปยังบ้านเกิดเพื่อแก้ไข “เพศกำเนิด” ในสูติบัตรและเอกสารอื่น ๆ ให้ตรงกับ “เพศสภาพในปัจจุบัน” ซึ่งวิธีการแก้ไขของฝ่ายทะเบียนบุคคลท้องที่นั้นก็ง่ายมาก เพราะแทนที่จะออกสูติบัตรฉบับใหม่ กลับกลายเป็นการ “ขีดฆ่า” เพศกำเนิดเดิม และเขียนเพศสภาพในปัจจุบันลงไปข้าง ๆ กับเพศกำเนิดที่ถูกขีดฆ่า นั่นหมายความว่า หากผู้หญิงข้ามเพศคนนี้แสดงสูติบัตรให้หน่วยงานราชการหรือหน่วยงานอื่น ๆ เพศกำเนิดของเธอก็ยังคงถูกเปิดเผย ซึ่งกลายเป็นตราบาปที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เลยทั้ง ๆ ที่เธอต้องการชีวิตใหม่ที่สละทิ้งทุกอย่างที่คงความเป็นชาย

สำหรับในตอนต่อไป ผู้เขียนจะชี้ให้เห็นถึงอุปสรรค ความท้าทาย และผลกระทบที่ผู้หญิงข้ามเพศในศรีลังกาต้องเผชิญ หากพวกเธอต้องการได้รับสิทธิในการเปลี่ยนเพศตามกฎหมาย ซึ่งผู้เขียนมองว่าเป็น “ความพิเศษที่ยังคงไม่พิเศษ”


ภาพที่ 1 ประกาศนียบัตรการรับรองเพศสภาพ (Gender Recognition Certificate: GRC)
   
ที่มา : Ministry of Health Sri Lanka. (2016). Issuing of Gender Recognition Certificate for Transgender Community. Retrieved from http://www.health.gov.lk/CMS/cmsmoh1/viewcircular.php?cno=01-34/2016&med=english 

ภาพที่ 2 การเปลี่ยนเพศในสูติบัตรโดยการขีดฆ่าของเจ้าหน้าที่ทะเบียนท้องที่
 
ที่มา : Human Rights Watch. (2016). All Five Fingers Are Not the Same: Discrimination on Grounds of Gender Identity and Sexual Orientation in Sri Lanka. New York: Human Rights Watch.

เอกสารอ้างอิง
Yutthaworakool, S. (2020). Understanding the Right to Change Legal Gender: A Case Study of Trans Women in Sri Lanka. (Master’s Thesis). Mahidol University, Nakhon Pathom.


อ้างอิง

  1. บทความนี้เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิตเรื่อง “Understanding the Right to Change Legal Gender: A Case Study of Trans Women in Sri Lanka” นำเสนอต่อสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล
  2. เกี่ยวกับ "ผู้เขียน" จบปริญญาตรีเกียรตินิยมด้านรัฐศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปริญญาโทด้านสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาประชาธิปไตย ปัจจุบันเป็นครูสังคมศึกษาในระดับมัธยมปลาย สนใจประเด็นทางการเมืองและสังคมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ โดยเฉพาะเรื่องสิทธิของคนชายขอบ
  3. บริติช ราช (British Raj) เป็นการเรียกช่วงเวลาที่จักรวรรดิอังกฤษยึดครองอาณานิคมบริเวณภูมิภาคเอเชียใต้ระหว่างช่วงปี ค.ศ.1858 ถึง ค.ศ.1947 ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประเทศอินเดีย ปากีสถาน บังคลาเทศ ศรีลังกา และเมียนมา ในปัจจุบัน
     


CONTRIBUTOR

Related Posts
Highlight ศตวรรษิกชนปี 2024

ศุทธิดา ชวนวัน

มองประชากรศึกษาผ่านกรอบเควียร์

ติณณภพจ์ สินสมบูรณ์ทอง

กฎหมาย

วรชัย ทองไทย

Kidfluencer | EP. 2

รีนา ต๊ะดี

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ต้องยกเลิกมาตรา 301

กฤตยา อาชวนิจกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th