The Prachakorn

หนุ่มสาวทั่วโลก ชะลอการมีลูกจากพิษโควิด-19


มนสิการ กาญจนะจิตรา

17 มิถุนายน 2564
1,094



แนวโน้มเด็กเกิดน้อยเป็นปรากฏการณ์ทางประชากรที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังประสบ โดยเฉพาะในยุโรปและเอเชียตะวันออกที่ประสบกับปัญหานี้มานานนับหลายทศวรรษ และเมื่อเกิดเหตุการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ส่งผลให้การลดลงของการเกิดชัดเจนยิ่งขึ้น

ประเทศที่มีลูกน้อยอยู่แล้ว มีลูกน้อยลงไปอีก

ปีที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก กลายเป็นปีที่หลายประเทศทั่วโลกประสบกับอัตราการเกิดที่ต่ำ.ที่สุดในประวัติศาสตร์ เช่น ในประเทศอิตาลีพบว่าอัตราการเกิดลดลง 22% ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นระยะเวลาครบ 9 เดือนภายหลังการเกิดการระบาดพอดี ในขณะที่ประเทศฝรั่งเศสเองก็ประสบกับอัตราการเกิดต่ำสุดในประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2

ในประเทศฝั่งเอเชียก็เช่นกัน ประเทศจีนพบว่าในปี 2563 อัตราการลงทะเบียนเกิดลดลงถึง 15% ในขณะที่ประเทศสิงคโปร์ เกาหลีใต้ และไต้หวันที่มีอัตราการเกิดต่ำเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอยู่แล้ว ต้องประสบกับปัญหาการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็วภายหลังการระบาดของโควิด-19 อัตราการเจริญพันธุ์ของประเทศไต้หวันในปีล่าสุดได้ตกลงมาต่ำกว่า 1 แล้ว นั่นหมายความว่า ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ของไต้หวันขณะนี้ มีลูกโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 1 คน

ที่มา: Bosley, C. & Jamrisko, M. (2021, March 14)1

แค่ชะลอตัวชั่วคราว หรือลดลงถาวร?

อัตราการเกิดที่ลดลงในช่วงการระบาดของโควิด-19 นี้ ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าเป็นเพียงการชะลอการมีบุตร เพื่อรอให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปก่อน หรือเป็นการตัดสินใจที่จะลดการมีบุตรอย่างถาวร อย่างไรก็ตาม การระบาดในครั้งนี้ น่าจะส่งผลในระยะยาวไม่มากก็น้อย เพราะนอกจากคู่สมรสในปัจจุบันจะลดหรือชะลอการมีลูกแล้ว คนที่กำลังอยู่ในวัยเริ่มต้นครอบครัวยังมีโอกาสในการสร้างครอบครัวน้อยลง เช่น คนโสดอาจมีโอกาสพบปะคนใหม่ๆ และพัฒนาความสัมพันธ์ต่อไปในอนาคตยากขึ้นจากมาตรการล็อกดาวน์ การทำงานจากที่บ้าน และการต้องลดชีวิตทางสังคม ส่วนคนที่มีคู่แล้วก็อาจต้องเลื่อนการแต่งงานออกไป ซึ่งการแต่งงานช้าลง มักจะส่งผลต่อการตัดสินใจมีลูกในอนาคต ดังนั้น อัตราการเกิดที่ลดลงในวันนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการลดอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องต่อไปในอนาคต

วิกฤติโควิด-19 จะเร่งการเข้าสู่สังคมสูงอายุ

การเกิดที่ลดลงจากโควิด-19 จะทำให้หลายประเทศก้าวสู่การเป็นสังคมสูงอายุเร็วขึ้น เพราะขนาดกำลังแรงงานจะลดลงอย่างรวดเร็วจากการเกิดที่น้อยลง ภายหลังการเกิดวิกฤติ หนทางสำคัญที่เศรษฐกิจจะฟื้นตัวกลับมาเดินหน้าต่อไปได้อย่างมั่นคง จำเป็นต้องพึ่งกำลังแรงงานที่จะเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศต่อไป ดังนั้น การเกิดที่ลดลงนี้จะส่งผลอย่างยิ่งต่อประเทศ โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาลมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงในการเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจ ยิ่งวิกฤตินี้ยืดเยื้อยาวนานเท่าไร ค่าใช้จ่ายรัฐบาลจะยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ในขณะที่แนวโน้มการเกิดก็จะยิ่งลดลง

แนวทางกระตุ้นการเกิดช่วงโควิด-19

หลายประเทศมีมาตรการส่งเสริมการเกิดอยู่แล้วจากแนวโน้มการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ภายหลังการเกิดโควิด-19 หลายประเทศได้เพิ่มความเข้มข้นของมาตรการ เช่น ประเทศสิงคโปร์ที่ขึ้นชื่อในเรื่องการมีมาตรการที่หลากหลายในการกระตุ้นให้คนสร้างครอบครัว ได้เพิ่มมาตรการเพื่อเพิ่มเงินสนับสนุนจำนวน 3,000 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ราว 70,000 บาท) สำหรับเด็กเกิดใหม่จนถึงเดือนกันยายน 2565 โดยหวังว่าแรงจูงใจนี้จะช่วยกระตุ้นให้ครอบครัวตัดสินใจมีลูกโดยไม่ต้องรีรอ นอกจากนั้น ยังมีการผ่อนปรนมาตรการเว้นระยะห่างสำหรับคู่รักที่ต้องการจัดงานแต่งงานในช่วงนี้ โดยอนุญาตให้จัดงานขนาดเล็กไม่เกิน 100 คนได้

อนาคตประเทศไทย

สำหรับประเทศไทย มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเหลือประชากรไม่ถึง 35 ล้านคนภายในอีก 80 ปีข้างหน้า2 ซึ่งภายหลังการเกิดวิกฤติโควิด-19 นี้ เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าตัวเลขอาจลดลงยิ่งกว่านั้น ดังนั้น การมาเยือนของโควิด-19 น่าจะเป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยเอาจริงเอาจังกับปัญหาทางประชากรที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ และเริ่มดำเนินการมาตรการเพื่อส่งเสริมการสร้างครอบครัวของคนรุ่นใหม่ รวมถึงการศึกษาแนวทางด้านประชากรอื่นๆ เช่น การพิจารณาการนำเข้าพลเมืองอย่างจริงจัง


อ้างอิง

  1. Bosley, C. & Jamrisko, M. (2021, March 14). Global baby drought of Covid-19 crisis risks population crunch. Bloomberg. https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-03-14/global-baby-drought-of-covid-19-crisis-risks-population-crunch
  2. Vollset, S. E. et al. (2020). Fertility, mortality, migration, and population scenarios for 195 countries and territories from 2017 to 2100: a forecasting analysis for the Global Burden of Disease Study.The Lancet, 396(10258), 1285-1306.


CONTRIBUTOR

Related Posts
ด้วยรักและโรคระบาด

ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ

อนาคตเด็กไทยหน้าติดจอ

นฤมล เหมะธุลิน,อภิชาติ แสงสว่าง

ผู้หญิงในสถานการณ์โควิด-19

กัญญาพัชร สุทธิเกษม

COVID-19 : รักษาระยะห่าง ดูแลระยะใจ 

พงษ์ศักดิ์ สกุลทักษิณ,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์

เลี้ยงลูกในยุคโรคระบาด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

วิถีใหม่

วรชัย ทองไทย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โควิด-19 กับ มูลค่าชีวิตคน

เฉลิมพล แจ่มจันทร์

เกิดน้อย...ก็ดีนะ

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ในบั้นปลายแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th