The Prachakorn

ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน: คนไทยกับภาพสังคมสูงอายุในอนาคต


เฉลิมพล แจ่มจันทร์

01 มีนาคม 2565
1,020



“สำหรับคนวัยทำงานในปัจจุบันที่จะเป็นผู้สูงอายุในอนาคต ในสถานการณ์ที่คนแต่งงานช้าลง มีบุตรน้อยลง ครอบครัวมีขนาดเล็กลง ความหวังที่จะพึ่งพาลูกหลานหรือได้รับการเกื้อหนุนจากครอบครัวในอนาคตน่าจะเป็นไปได้น้อยลง การต้องพึ่งตัวเอง ต้องอยู่บนลำแข้งของตนเองจากเงินเก็บออมและการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ น่าจะเป็นชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

จากข้อมูลในรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2563 จำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศมีจำนวนถึง 12.0 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 18 ของประชากรทั้งหมด (66.5 ล้านคน) ภายในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า สังคมไทยก็จะกลายเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ (complete aged society) ที่มีผู้สูงอายุมากถึง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมดโดยที่สัดส่วนนี้ก็จะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อย ๆ การเตรียมตัวและการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับสถานการณ์สูงอายุที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคตจึงเป็นเรื่องของคนไทยทุกวัย ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุในปัจจุบันเท่านั้น

ความมั่นคงทางรายได้ หรือการมีแหล่งรายได้ รายรับที่เพียงพอต่อการดำรงชีพพื้นฐานเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุในอนาคตของคนวัยทำงานปัจจุบันเป็นเรื่องหนึ่งที่ต้องการการวางแผนและการเตรียมตัวล่วงหน้านานพอสมควร โดยเฉพาะในบริบทประเทศไทยที่ยังมีความครอบคลุมของระบบหลักประกันรายได้ยามชราและระบบบำเหน็จบำนาญหลังเกษียณค่อนข้างจำกัด 

สำหรับผู้สูงอายุไทยในปัจจุบัน แหล่งรายได้หลักในยามสูงอายุอันดับ 1 (ข้อมูลจากการสำรวจประชากรสูงอายุ พ. ศ. 2560 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ) ยังเป็นรายได้หรือเงินช่วยเหลือจากบุตร (34.7%) อันดับ 2 เป็นรายได้จากการทำงาน (31.0 %) อันดับ 3 กลายเป็นเบี้ยยังชีพจากทางราชการ (20%) ระดับ 4 และ 5 เป็นรายได้จากเงินบำเหน็จบำนาญ และจากคู่สมรสตามลำดับ ขณะที่รายได้จากดอกเบี้ยเงินออม หรือ จากค่าเช่าทรัพย์สินต่างๆเช่นที่ดินที่อยู่อาศัย ของตนเองมีสัดส่วนที่เป็นรายได้หลักของผู้สูงอายุในอันดับท้ายๆ คำถามก็คือ สำหรับผู้สูงอายุไทยในอนาคต ซึ่งก็คือคนไทยที่อยู่ในวัยกำลังแรงงานปัจจุบัน การคาดหวังต่อแหล่งรายได้เหล่านี้ ในการเป็นแหล่งรายได้หลักยามสูงอายุจะยังเป็นไปได้อยู่หรือไม่ ในสถานการณ์ที่คนไทยแต่งงานช้าลง มีบุตรน้อยลง ครอบครัวไทยมีขนาดเล็กลง ประชากรสูงอายุในปัจจุบันที่มีจำนวนมากอยู่แล้วและในอนาคตที่จะยังคงเพิ่มขึ้นต่อไปซึ่งหมายถึงภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลด้านสวัสดิการต่างๆ จากภาครัฐ โดยเฉพาะเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่มีแต่จะเพิ่มขึ้นต่อไปไม่มีลด สถานการณ์ทั้งหมดนี้ ทำให้คำตอบของคำถามข้างต้นน่าจะชัดเจนอยู่ว่า "เป็นไปได้ยาก" และก็ทำให้น่ารู้เหมือนกันว่า คนวัยทำงานไทยปัจจุบัน คิดเห็นและคาดหวังอย่างไรต่อแหล่งรายได้ของตนเองในอนาคตเมื่อกลายเป็นผู้สูงอายุ

โครงการวิจัย "ความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุและรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ" ได้ทำการสำรวจมุมมองความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวในการเป็นผู้สูงอายุด้านต่างๆ ของคนไทยในวัยแรงงาน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นในเรื่องเกี่ยวกับแหล่งรายได้ยามสูงอายุของตนเอง ผลการสำรวจสะท้อนข้อมูลบางอย่างที่น่าสนใจ โดยพบว่าเกือบ 3 ใน 4 ของคนวัยทำงาน (ร้อยละ 71.3) คาดหวัง "พึ่งตนเอง" เป็นหลักจากเงินออม และรายได้จากทรัพย์สินที่เก็บหอม รอมริบ หรือลงทุนไว้ ความคาดหวังที่จะพึ่งพาแหล่งรายได้จาก ลูก หลาน ครอบครัว รวมถึง เครือญาติ มีอยู่ค่อนข้างน้อยเพียงร้อยละ 27.3 ของผู้ร่วมตอบแบบสำรวจทั้งหมด ความคาดหวังต่อการได้รับสวัสดิการและเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ หรือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 51.3 หรือเกินครึ่ง ซึ่งมากเป็นอันดับ 2 รองจากรายได้จากเงินออมและทรัพย์สินของตนเอง อันดับที่ 3 ที่ร้อยละ 46.4 เป็นความคาดหวังต่อการได้รับเงินหรือสิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบบํานาญภาครัฐ กองทุนประกันสังคม หรือ การเป็นสมาชิกกองทุนการออมแห่งชาติ ขณะที่สัดส่วนผู้ที่คาดหวังว่าจะยังคงมีรายได้จากการทำงานในวัยสูงอายุ มีเพียงร้อยละ 31.8  (ซึ่งก็ยังไม่แน่ชัดว่าผลจากความไม่คาดหวังที่จะทำงานในวัยสูงอายุ หรือ ความไม่คาดหวังว่ายังจะสามารถทำงานได้ในวัยสูงอายุ) 

ผลการสำรวจข้างต้นนี้ สะท้อนให้เห็นมุมมองและความตระหนักของคนไทยต่อการเป็นผู้สูงอายุในอนาคตคร่าวๆได้ในระดับหนึ่งว่า ความหวังที่จะพึ่งพาลูกหลานหรือได้รับการเกื้อหนุนจากครอบครัวในอนาคตน่าจะเป็นไปได้น้อยลง การต้องพึ่งตัวเอง ต้องอยู่บนลำแข้งของตนเองจากเงินเก็บออมและการลงทุนในทรัพย์สินต่างๆ น่าจะเป็นชะตาที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  ส่วนรัฐก็ (หวังว่า)น่าจะยังเป็นแหล่งที่พึ่งพาได้ส่วนหนึ่งที่อาจจะไม่มากแต่ก็ยังดีกว่าไม่มี โดยเฉพาะในรูปแบบสวัสดิการหรือมาตรการเงินช่วยเหลือสำหรับผู้สูงอายุ แต่ที่น่าจะเป็นโจทย์เพื่อไปหาคำตอบต่อ คงเป็นเรื่องความคาดหวังต่อรายได้จากการทำงาน ว่าทำไมหรือมีสาเหตุมาจากอะไรที่ทำให้คนไทยคาดหวังที่จะมีรายได้จากการทำงานในวัยสูงอายุเพื่อจุนเจือตนเองเพียงแค่ไม่ถึง 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจ 

ภายใต้โครงการวิจัยนี้ ข้อคำถามในการสำรวจ "ความคาดหวัง" ถูกถามตามด้วยข้อคำถามเรื่อง "การวางแผน" ที่คิดไว้และ "การเตรียมตัว" ในปัจจุบันของกลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจวัยทำงาน ในโอกาสหน้า ผู้เขียนน่าจะได้นำข้อมูลผลการสำรวจมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่านต่อไป เพื่อให้เห็นว่า ในความคาดหวังและความตระหนักที่รู้ว่าต้องพึ่งตนเองมากขึ้นในอนาคต การวางแผนและการเตรียมตัวที่คิดไว้หรือมีบ้างแล้วนั้น มีแนวโน้มน่าจะสามารถตอบโจทย์เพื่อบรรลุความคาดหวังในการพึ่งพาตนเองให้ได้ในยามสูงอายุได้หรือไม่ หรือน่าจะยังมีอะไรที่เป็นช่องว่าง (gaps) มีข้อจำกัดและอุปสรรคอะไร ที่เราทุกฝ่ายน่าจะสามารถช่วยกันแก้ไขและเติมเต็มได้ในช่วงที่น่าจะยังทันการก่อนเราจะเข้าสู่การเป็นสังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือระดับสุดยอดในอนาคต


ที่มา โครงการความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุและรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติผ่านมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.)

การอ้างอิงข้อมูลจากบทความนี้
จงจิตต์ ฤทธิรงค์ เฉลิมพล แจ่มจันทร์ พิมลพรรณ นิตย์นรา และณัฐณิชาลอยฟ้า. 2565. ความคาดหวัง การวางแผนและการเตรียมตัวของประชากรวัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ. สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นครปฐม



CONTRIBUTOR

Related Posts
ภาษี

วรชัย ทองไทย

สังคมสูงวัย อย่ามองแค่อายุ

มนสิการ กาญจนะจิตรา

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

สร้างรักแท้ด้วยทฤษฎีเกม

ถิรวัฒน์ วรรณพฤกษ์

เมีย 2018 ณ เมียนมา

จรัมพร โห้ลำยอง

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

COVID-19 กับผลกระทบต่อผู้ย้ายถิ่น

สักกรินทร์ นิยมศิลป์

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th