The Prachakorn

การกินผักและผลไม้ของผู้สูงอายุไทย


สิรินทร์ยา พูลเกิด

10 ตุลาคม 2565
1,313



สุขภาพคนเราเสื่อมไปตามวัย การกินอาหารที่ดี หลากหลาย และในสัดส่วนที่เหมาะสมตามวัย มีความสำคัญที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุดำเนินชีวิตที่เหลืออย่างมีพฤฒิพลัง หรือสูงวัยแบบกระฉับกระเฉง

ผักและผลไม้เป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข แนะนำให้ประชากรไทยทุกกลุ่มวัยกินให้เพียงพอในแต่ละวัน องค์การอนามัยโลกได้แนะนำให้ประชากรวัยผู้ใหญ่ กินผักและผลไม้รวมกันให้ได้เฉลี่ยอย่างน้อย 400 กรัม/วัน1 เพื่อช่วยป้องกันความเสี่ยงของการเกิดโรคภัยไข้เจ็บ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งบางชนิด

สถานการณ์การกินผักและผลไม้ของผู้สูงอายุไทยน่าเป็นห่วงสัดส่วนผู้สูงอายุกินผักและผลไม้เพียงพอตามคำแนะนำมีไม่ถึงร้อยละ 40 และมีแนวโน้มลดลงอีก จากผลการศึกษาโครงการศึกษาสถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้ของคนไทย ของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ2 พบว่า ในปี 2564 ผู้สูงอายุกินผักและผลไม้เฉลี่ย 367.6 กรัม/วัน ลดลงจากปี 2562 ที่กินได้ 372.9 กรัม/วัน และสัดส่วนผู้สูงอายุที่กินเพียงพอลดลงจากร้อยละ 38.7 ในปี 2562 เหลือร้อยละ 37.7 ในปี 2564 (ดูแผนภูมิ 1)


แผนภูมิ 1: ร้อยละการกินผักและผลไม้เพียงพอของผู้สูงอายุ ในปี 2562 และ2564 จำแนกตามเพศและกลุ่มอายุ (วัยต้น คือ อายุ 60-69 ปี วัยกลาง คือ อายุ 70-79 ปี และวัยปลาย คือ อายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไป)

ในปี 2564 ผู้สูงอายุชายมีสัดส่วนการกินผักและผลไม้เพียงพอมากกว่าผู้สูงอายุหญิง และยังกินเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ขณะที่ผู้สูงอายุหญิงมีสัดส่วนการกินเพียงพอลดลง เหตุผลสำคัญอาจเกิดจากผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่ภาครัฐออกมาตรการจำกัดการเดินทาง และปิดหรือจำกัดการใช้สถานที่สาธารณะ ทำให้คนต้องทำงานที่บ้านมากขึ้น ผู้ชายจึงมีโอกาสดูแลอาหารการกินของตนเองมากขึ้น บางครอบครัวอาจมีคนทำอาหารให้กิน ในทางกลับกัน ผู้หญิงส่วนใหญ่มีหน้าที่หลักดูแลความเป็นอยู่ของคนในครอบครัว ทำให้มีภาระเพิ่มขึ้นในการดูแลอาหารการกินของสมาชิกที่อยู่บ้าน จึงทำให้มีเวลาดูแลการกินของตัวเองลดลงได้

แม้ว่ากลุ่มผู้สูงอายุวัยปลายอายุ 80 ปีขึ้นไป มีสัดส่วนการกินผักและผลไม้เพียงพอต่ำสุด เมื่อเทียบกับวัยอื่น แต่ในปี 2564 พบว่า ผู้สูงอายุวัยนี้กินเพียงพอเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ซึ่งอาจเป็นผลจากการจำกัดให้ประชาชนอยู่ในที่พักในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ทำให้สมาชิกในครอบครัวผู้สูงอายุมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน กินข้าวหรือทำอาหารร่วมกัน และผู้สูงอายุได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากสมาชิกในครัวเรือนมากขึ้น ส่งผลต่อการเพิ่มความอยากอาหาร รวมถึงการกินผักและผลไม้ของผู้สูงอายุกลุ่มนี้ได้ จากผลการวิเคราะห์ข้อมูลของโครงการฯ ในปี 2562 พบว่า ผู้สูงอายุที่ไม่ได้อาศัยอยู่คนเดียว เช่น อยู่กับคู่สมรส ลูก หลาน พี่น้อง มีโอกาสกินผักและผลไม้เพียงพอมากกว่ากลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียว3

สถานการณ์ที่น่ากังวล คือ ผู้สูงอายุที่อาศัยในกรุงเทพฯ มีสัดส่วนกินผักและผลไม้เพียงพอต่ำกว่าผู้สูงอายุในภูมิภาคอื่นกว่าสองเท่า ในปี 2564 พบผู้สูงอายุที่อาศัยในกรุงเทพฯ เพียงร้อยละ 20 กินผักและผลไม้เพียงพอ (ดูแผนภูมิ 2) ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากมาตรการล็อกดาวน์ที่ทำให้ร้านค้าขายอาหารต่างๆ ต้องปิดบริการชั่วคราว ซึ่งเป็นแหล่งซื้อหาสินค้าอาหารหลักของคนกรุงเทพฯ ประกอบกับกรุงเทพฯ เป็นพื้นที่เมืองทำให้ยากต่อการมีพื้นที่ปลูกผักและผลไม้กินเอง ส่งผลต่อการเข้าถึงผักและผลไม้ และการกินที่อาจลดลงตามไปด้วย


แผนภูมิ 2: ร้อยละการกินผักและผลไม้เพียงพอของผู้สูงอายุ ในปี 2562 และ2564 จำแนกตามภาค

สุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้สูงอายุเริ่มที่บ้าน บ้านที่มีสมาชิกคอยดูแลเรื่องอาหารการกิน สร้างบรรยากาศการอยู่ร่วมกันของคนในครอบครัว บ้านและชุมชนมีพื้นที่ให้ได้ปลูกหรือหาผักและผลไม้ปลอดภัยกินเองได้ จะช่วยเพิ่มการกินผักและผลไม้ของผู้สูงอายุได้ดี ทั้งในยามวิกฤตและภาวะปกติ


  1. WHO. (2004). Fruit and vegetables for health: report of a Joint FAO/WHO Workshop. World Health Organization. https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/43143/9241592818_eng.pdf?sequence=1&isAllowed=y
  2. สิรินทร์ยา พูลเกิด และคณะ. (2565). รายงานวิจัยโครงการศึกษาสถานการณ์การบริโภคผักและผลไม้ของคนไทย (ระดับประเทศ). สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ.
  3. Phulkerd et al. (2020). The influence of co-residential and non-co-residential living arrangements on sufficient fruit and vegetable consumption in the aging population in Thailand. BMC Geriatrics, 20(1), 476. https://doi.org/10.1186/s12877-020-01884-2

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
บ้านคนแก่ของเพื่อนเก่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สัญญา (Perception)

วรชัย ทองไทย

บริโภคนิยม

วรชัย ทองไทย

รถไฟเหาะ

วรชัย ทองไทย

รอหมูป่าออกจากถ้ำ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

All Gen – Enjoy กับสุขภาพแค่ไหน

สุภาณี ปลื้มเจริญ

มาชะลอวัยกันเถอะ!

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ฟันปลอม...จำเป็นจริงหรือ?

สาสินี เทพสุวรรณ์

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ออมก่อน พร้อมก่อน

วรรณี หุตะแพทย์

พลเมืองไอซ์แลนด์

อมรา สุนทรธาดา

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th