The Prachakorn

ผู้ดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง: ความเครียดและความสุข


รศรินทร์ เกรย์

10 กุมภาพันธ์ 2564
1,135



ในทางกายภาพ ด้วยสุขภาพที่เสื่อมถอยตามวัย เมื่อถึงระยะหนึ่งผู้สูงอายุต้องพึ่งพิงผู้อื่นในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน เช่น กินอาหาร แต่งตัว อาบน้ำ ขับถ่าย หรือออกจากบ้าน ผู้ดูแลของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นในสังคมตะวันตก หรือประเทศไทย คือ คนในครอบครัว ซึ่งอาจจะเป็น คู่สมรส ลูกสาว ลูกชาย หลาน เขย สะใภ้ เพื่อน หรือผู้ดูแลที่ได้รับค่าจ้าง  

การดูแลผู้สูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงโดยคนในครอบครัวเป็นงานหนักใช้เวลาและพลังงานมาก และโดยปกติไม่ได้รับค่าตอบแทน หรือเรียกว่า ผู้ดูแลอย่างไม่เป็นทางการ บางครั้งผู้ดูแลมีหลายบทบาท เช่น นอกจากดูแลผู้สูงอายุแล้ว ยังต้องดูแลคนอื่นๆ ในครอบครัวตนเอง หรือทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ด้วย จึงก่อให้เกิดความเครียด สุขภาพที่ไม่ดี และเสี่ยงต่อการตายมากกว่าผู้ที่ไม่ได้เป็นผู้ดูแลอย่างไรก็ตาม การดูแลผู้สูงอายุไม่ได้ก่อให้เกิดความเครียดอย่างเดียว แต่ยังก่อให้เกิดความสุข หรือความพึงพอใจในชีวิตด้วย แต่งานวิจัย ผลกระทบในทางบวกมีน้อยกว่าการศึกษาทางด้านลบ อาจเนื่องจากแนวคิดเชิงบวกเกิดขึ้นภายหลัง   

ความเครียดของผู้ดูแลอาจก่อให้เกิดการละเลย หรือความรุนแรงต่อผู้สูงอายุ ในขณะที่ประสบการณ์ทางบวกจากการดูแลส่งผลให้คุณภาพการดูแลดีขึ้น ดังนั้น การลดความเครียดหรือเพิ่มความสุขจากการดูแลจึงมีความสำคัญต่อการกำหนดโครงการในการสร้างเสริมพลังให้ผู้ดูแล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของทั้งผู้ดูแล ผู้ที่ได้รับ การดูแล และคนรอบข้าง  

งานวิจัยในประเทศไทย1,2 พบว่า ผู้ดูแลหลักของผู้สูงอายุส่วนใหญ่คือ ลูก รองลงมาคือ คู่สมรส และญาติอื่นๆ เช่น หลาน สะใภ้ เขย พี่ น้อง และส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ผลกระทบในทางลบต่อผู้ดูแล ได้แก่ ความเหนื่อยล้าทั้งทางร่างกายและจิตใจ การไม่มีเวลาพักผ่อนหรือไม่มีเวลาส่วนตัวเพียงพอ ต้องทำงานหารายได้ การไม่มีผู้ช่วย ดูแล (อย่างจริงจัง) การขาดความรู้ในการดูแล และโรคที่ผู้สูงอายุเป็นตลอดจนสุขภาพที่ไม่ดีของผู้ดูแล ซึ่งผู้ดูแลบางคนก็มีอายุมากหรือเป็นผู้สูงอายุเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้มีผลอย่างมากต่อความเครียด

ส่วนความสุขที่เกิดขึ้นจากการดูแลเป็นความเข้มแข็งจากภายในหรือการจัดการกับความเครียด ผู้ดูแลใช้หลักคำสอนของศาสนาพุทธ (งานวิจัยนี้ศึกษาเฉพาะผู้นับถือศาสนาพุทธ) ซึ่งฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยในด้านความกตัญญูรู้คุณ การตอบแทนผู้มีพระคุณ และความเชื่อเรื่องกรรม การกระทำความดี ย่อมได้รับผลดีตอบแทน คาดหวังว่าเมื่ออายุมากขึ้น ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ก็คงจะมีผู้ดูแลในอนาคตเช่นที่ตนเองได้ทำมาก่อน  

“เราคิดว่าตอนนี้เราทำแบบนี้ อีกหน่อยลูกชายเราก็คงจะมีลูกสะใภ้มาดูแลเราบ้าง เหมือนเราทำเผื่อไว้ก่อน เวรกรรมมันมีจริงนะ คิดแบบนี้ก็สบายใจขึ้น เพราะเราไม่มีลูกสาวเลย ก็คิดว่าลูกสะใภ้จะทำให้เรายามแก่” (อายุ 31 ปี อาชีพ เกษตรกร ดูแลพ่อสามีอายุ 83 ปี)

การได้เห็นผู้ที่ได้รับการดูแลมีสุขภาพดีขึ้น ความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมาแต่เดิมของผู้ดูแลและผู้ได้รับการดูแลก่อนที่จะอยู่ในภาวะพึ่งพิง มีความสำคัญมากต่อความสุขของผู้ดูแล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างสามี-ภรรยา นอกจากนี้ ผู้ดูแลต้องการได้รับการยกย่องชมเชยจากผู้อื่น ไม่ต้องการให้ผู้อื่นคิดว่าเป็นหน้าที่ที่ต้อง ดูแลตามบรรทัดฐานของสังคมที่มีมาแต่เดิม หรือแสดงความสงสาร อีกทั้งการแสดงความรักของผู้สูงอายุต่อผู้ดูแล มีผลต่อความสุขของผู้ดูแล ปัจจัยหลังนี้นับว่าสำคัญ เพราะผู้สูงอายุไทยและในแถบเอเชียจำนวนมากมักไม่แสดงออกถึงความรักต่อบุตรหลาน

ความสุขของผู้ดูแลขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ที่ดีก่อนหน้าที่จะอยู่ในภาวะพึ่งพิง (ได้รับอนุญาตจากเจ้าของภาพแล้ว)

ควรมีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้ดูแลมีทัศนคติทางบวก หรือมีความสุขจากการดูแลผู้สูงอายุ ผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัวเป็นทรัพยากรที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการสูงวัยในที่เดิม (การที่ผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในที่เดิมของตนเอง อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ตนเองคุ้นเคยไปตลอดชีวิต และยังคงได้รับบริการทางสังคมและสุขภาพอย่างเหมาะสม) ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวทั่วโลกในปัจจุบัน   

ในต่างประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร หรือฟินแลนด์ มีการจ่ายค่าตอบแทนเป็นตัวเงินให้กับผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัว โดยเชื่อมโยงกับระบบการคุ้มครองทางสังคมเพื่อเป็นการแสดงถึงคุณค่าของการเป็นผู้ดูแล ในประเทศเยอรมนี และฝรั่งเศส ผู้ดูแลสามารถลางาน ลดเวลาการทำงานเพื่อไปดูแลญาติในระยะท้ายของชีวิต    สำหรับประเทศไทย ผู้ที่อยู่ในวัยทำงานจำนวนมากต้องดูแลพ่อ แม่ หรือญาติในวัยสูงอายุที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงด้วย ประเทศไทยจึงควรมีการศึกษาถึงระบบสวัสดิการของผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัว ซึ่งอาจเรียนรู้ได้จากประเทศที่มีทรัพยากรมากซึ่งได้เปลี่ยนรูปแบบจากการดูแลในรูปสถาบัน มามุ่งเน้นการดูแลที่บ้านเนื่องจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างมากและรวดเร็ว และทรัพยากรที่มีจำกัด แต่ประเทศเหล่านั้นยังคงรักษาระบบการดูแลสุขภาพและสังคมอย่างเป็นทางการซึ่งเป็นที่พอใจของผู้สูงอายุ และผู้ดูแลที่เป็นคนในครอบครัว


อ้างอิง

1 Gray, RS & Pattaravanich, U. (2020). Internal and external resources, tiredness and the subjective well-being of family caregivers of older adults: a case study from western Thailand, Southeast Asia, European Journal of Ageing, 17(3), 349-359.  

2 Gray, RS, Hahn, L, Thapsuwan, S. & Thongcharoenchupong, N. (2016). Strength and stress: positive and negative impacts on caregiversfor older adults in Thailand, Australasian Journal on Ageing, 35(2): E7-E12.

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

สัจธรรมแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

อนาคตผู้สูงอายุไทย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

การเดินทางไกลที่คุ้มค่า

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Prachakorn Forum EP.7 | สูงวัยในเมืองหลวง

สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย​ จิ​ร​ประมุข​พิทักษ์

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คนไทยไม่เคยทิ้งกัน

วิภาพร จารุเรืองไพศาล

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Show & Share ความสุขของ “เอก”

ปิยะวัฒน์ สวัสดิ์จู,สุภาณี ปลื้มเจริญ

เงิน….. งาน…… บันดาลสุขอย่างไร? ในวันที่ต้อง Work From Home

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

สุขอย่างไร……..สุขแบบคนไทย ๔.๐

ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th