The Prachakorn

ในบั้นปลายแห่งชีวิต


ปราโมทย์ ประสาทกุล

15 ตุลาคม 2563
2,573



จะมีใครคิดเหมือนกับผมบ้างไหมว่า เมื่อเรามีอายุยิ่งมากขึ้นเท่าไร เวลาก็ยิ่งผ่านไปเร็วขึ้นเท่านั้น ถึงวันนี้ (1 กันยายน) วันเวลาของปี 2563 ได้ล่วงมา 8 เดือนแล้ว เหลืออีกเพียง 4 เดือนก็จะหมดปี (วันเวลาผ่านไปเร็วเหลือเกิน ไม่น่าเชื่อว่า คนไทยได้มีชีวิตอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 มานานเกินกว่าครึ่งปีแล้ว)

ยิ่งมีอายุสูงขึ้น ผมก็มองว่า เด็ก ๆ โตเร็วขึ้น เด็กน้อยตัวเล็ก ๆ เมื่อไม่นาน วันนี้ก็เติบโตขึ้นอย่างผิดตา เด็กน้อยกลายเป็นเด็กใหญ่ เด็กใหญ่กลายเป็นหนุ่มสาว “... โตเร็วจัง เด็กสมัยนี้ ...” แล้วตัวเราจะไม่แก่เร็วได้อย่างไร

เมื่อ 10 กว่าปีก่อน ผมเคยตั้งเป้าหมายว่าจะมีชีวิตอยู่ให้ได้ถึง 80 ปี (ซึ่งเท่ากับอายุของพระพุทธเจ้า) ตอนนั้นผมเขียนบันทึกไว้ว่า ถ้าผมตายก่อนอายุ 80 ปี ก็ถือว่าผมขาดทุนชีวิต แต่ถ้ามีอายุเกิน 80 ปีก็เท่ากับว่าผมได้กำไรชีวิต

ถ้าผมยังยึดเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะมีชีวิตอยู่จนถึงอายุ 80 ปี ผมก็มีเวลาเหลืออีกเพียง 7 ปีกว่าเท่านั้น คิดเป็นจำนวนวันได้ประมาณ 2,800 วัน และถ้าผมจะโลภอยากจะมีชีวิตอยู่ต่อไปอีกนาน ๆ จนลาโลกไปเมื่ออายุสัก 90 ปี ผมก็จะมีเวลาเห็นพระอาทิตย์ขึ้น – พระอาทิตย์ตกอีกราว 6,500 ครั้งเท่านั้น

ตัวเลขจำนวนวันที่ผมจะมีชีวิตอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะเป็น 2 พัน หรือ 6 พันกว่าวัน เป็นเพียงตัวเลขสมมุติ ในความเป็นจริง ผมอาจสิ้นใจตายในวันสองวันนี้ หรืออีกปีสองปีข้างหน้า หรืออาจมีอายุยืนจนถึง 100 ปีได้เป็น “ศตวรรษิกชน” คนหนึ่งในอีก 27 ปีข้างหน้าก็ได้

เกิดมาแล้วต้องตาย

ผมเชื่อว่าคนที่มีชีวิตยืนยาวมาจนมีอายุครบ 6 รอบอย่างคนรุ่นผมทุกวันนี้ ต่างรู้ดีว่าสังขารของเราไม่เที่ยง และความตายกำลังใกล้เข้ามาถึงตัวเราทุกคนแล้ว ประธานรุ่นเพื่อนนักเรียนมัธยมฯ รุ่นเดียวกับผมเขียนย้ำทุกปีว่าพวกเรามีเวลาเหลือน้อยลงทุกที จึงควรมางานชุมนุมรุ่นประจำปีก่อนที่จะไม่มีเรี่ยวแรงที่จะมาพบปะสังสรรค์กัน หรือไม่ก็ตายจากกันไป พวกเราทุกคนรู้ดีว่าสังขารของเราย่อมเสื่อมถอยลงตามวัย และอีกไม่นานเราทุกคนก็หนีความตายไม่พ้น เราเชื่อเช่นนั้นเพราะประสบการณ์ที่ได้เห็นสัจธรรม การเกิด แก่ เจ็บ ตายที่มีให้เห็นไม่เว้นแต่ละวัน  คำสอนของทุกศาสนาต่างยอมรับการสิ้นสุดของชีวิต

ผมได้ฟังเพื่อน ๆ และคนอื่น ๆ อีกเป็นจำนวนมากพูดถึงเรื่องความตาย ทุกคนยอมรับว่าคนเราเกิดมาแล้วก็ต้องตาย แต่ดูเหมือนทุกคนจะคิดตรงกันว่า ถ้าถึงวันตายก็ขอให้ตายอย่างสงบ ไม่ทุกข์ทรมานก่อนที่จะตาย ทุกคนอยากจะนอนหลับแล้วหมดลมหายใจลาจากโลกนี้ไปเลย

เมื่อไม่นานมานี้ รุ่นพี่ของผมคนหนึ่งตายจากไป พี่อายุ 75 ปี ร่างกายแข็งแรง ออกกำลังกายด้วยการตีกอล์ฟเป็นประจำ วันนั้นพี่นอนบนโซฟา ดูทีวีถ่ายทอดการแข่งขันกอล์ฟกีฬาโปรดของพี่ แล้วพี่ก็ “ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น” เมื่อพวกเรารู้ข่าวการจากไปของพี่ ทุกคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “พี่เป็นคนมีบุญ จึงนอนหลับตายไปอย่างสงบ” การตายของพี่เป็นการตายในอุดมคติที่ใคร ๆ ก็อยากตายด้วยอาการสุขสงบเช่นนั้น

ความตายไม่น่ากลัว

ผมอยากให้คนเราไม่กลัวความตาย เมื่อคุยกันเรื่องความตาย ผมมักบอกใคร ๆ ว่า ผมชอบคติความเชื่อของชาวทิเบต ผมเคยอ่านหนังสือเล่มหนึ่ง (เรื่องอะไรก็จำไม่ได้) ที่เล่าว่าชาวทิเบตเชื่อว่า ร่างกายของคนที่ยังมีชีวิตอยู่ก็เหมือนเสื้อผ้าที่สวมใส่ห่อหุ้มจิตวิญญาณของคนไว้ เมื่อคนตายก็เหมือนกับจิตวิญญาณของคนนั้นละทิ้งเสื้อผ้าชุดที่สวมใส่อยู่ เพื่อเปลี่ยนไปอยู่ในเสื้อผ้าชุดใหม่ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือชาวทิเบตเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด การตายของคนเราก็เป็นเพียงการเปลี่ยนเสื้อผ้าชุดที่เราใส่อยู่ในชาตินี้ไปใส่เสื้อผ้าชุดใหม่ในชาติหน้า ความตายจึงเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัวแต่อย่างใด

ถ้าพวกเรามีทัศนคติว่าความตายไม่น่ากลัว เราก็จะสบายใจเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เราก็ไม่จำเป็นต้องพยายามยื้อชีวิตไว้อย่างไม่มีเหตุผล 

ผมคิดว่าความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด มีชาตินี้และชาติหน้า มีนรกสวรรค์ เชื่อเรื่องเวรกรรมเหล่านี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่ ความเชื่อเช่นนั้นจะกระตุ้นให้เราประกอบกรรมดีเพื่อจะได้ขึ้นสวรรค์ หรือเพื่อที่จะมีชีวิตที่ดีในชาติต่อไป เมื่อยังมีชีวิตอยู่ เราควรละเว้นกรรมชั่ว เพื่อไม่ตกนรกหรือต้องไปชดใช้กรรมเวรในชาติหน้า

ความกลัวความเจ็บปวดทุกข์ทรมานก่อนตาย

เท่าที่ผมได้คุยกับเพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันมีอีกเรื่องหนึ่งที่พวกเรากลัว และไม่อยากให้เกิดขึ้นกับตัวเอง นั่นคือการเจ็บป่วยจนถึงขั้นพิการ ช่วยตัวเองไม่ได้ในบั้นปลายแห่งชีวิต ไม่มีใครอยากเห็นตัวเองต้องนอน “ติดเตียง” เป็นภาระให้ต้องมีคนคอยดูแลช่วยเหลือในการทำกิจวัตรประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการกินอาหาร ขับถ่าย อาบน้ำ

เดี๋ยวนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายให้คนทำพินัยกรรมชีวิต หรือที่ผมอยากจะเรียกว่า “ชีวเจตนา” ซึ่งหมายถึงเอกสารแสดงเจตนาให้ไม่ต้องยื้อชีวิตของเราไว้ด้วยเครื่องมือหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ใด ๆ เมื่อเราหมดสภาพที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไปได้แล้ว เรื่องนี้คงเกี่ยวข้องกับการใช้ยาหรือสารบรรเทาอาการเจ็บปวด เช่น มอร์ฟิน หรือแม้กระทั่งกัญชามากขึ้น

ผมเคยเขียนหนังสือเรื่อง “แก่ ... ก็ดีเหมือนกันนะ” ผมยังยืนยันความคิดเดิมว่า แก่ก็ดีเหมือนกัน แต่อยากจะเพิ่มเงื่อนไขอีกข้อหนึ่งว่า ขอให้เราแก่แล้วยังมีสุขภาพดีพอที่จะช่วยตัวเองได้โดยไม่เป็นภาระที่ต้องพึ่งพาคนอื่น

คนเราฝืนความเสื่อมของสังขารไม่ได้ เมื่อเรามีอายุสูงขึ้นถึงระดับหนึ่งก็จะยากที่จะมีชีวิตอยู่ได้ตามลำพัง คนรุ่นผมถ้ามีชีวิตยืนยาวต่อไปอีกเรื่อย ๆ สักวันหนึ่งก็คงอยู่คนเดียวไม่ได้ ต้องมีคนอยู่ด้วยและช่วยดูแล ผมเคยไปพบคุณยายอายุ 100 ปี ที่ยังแข็งแรง ยังทำกิจวัตรประจำวันได้ด้วยตัวเอง แต่ถึงกระนั้นคุณยายก็ยังต้องมีคนดูแลใกล้ชิด ไม่มีลูกหลานคนไหนยอมปล่อยให้คุณยายอยู่ตามลำพังคนเดียว

เวลาเราพูดถึงเรื่องผู้สูงอายุ เรามักจะเหมารวมว่าคนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปเป็นผู้สูงอายุเหมือนกันทั้งหมด แต่แท้ที่จริงแล้ว คนที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมีสภาพร่างกายสมบูรณ์ไม่เท่าเทียมกันสังขารของคนที่ยิ่งมีอายุมาก ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะเสื่อมโทรมไปมากขึ้นโดยทั่วไป คนอายุ 60 ปีต้น ๆ ย่อมมีร่างกายสมบูรณ์แข็งแรงมากกว่าคนอายุ 80-90 ปีขึ้นไป เราจึงแบ่งผู้สูงอายุออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ ผู้มีอายุ 60-69 ปี เป็น “ผู้สูงอายุวัยต้น”  ผู้มีอายุ 70-79 ปี เป็น “ผู้สูงอายุวัยกลาง” และผู้มีอายุ 80 ปีขึ้นไป เป็น “ผู้สูงอายุวัยปลาย” หรือถ้าจะแถมอีกกลุ่มหนึ่ง คือ “ศตวรรษิกชน” คือคนที่มีอายุ 100 ปีขึ้นไป

ผู้สูงอายุวัยต้นย่อมมีสมรรถนะของร่างกายดีกว่าผู้สูงอายุวัยปลาย สมัยนี้ผู้สูงอายุวัยต้นส่วนใหญ่จะยังแข็งแรง และมีพลังจนไม่น่าจะเรียกว่าเป็นผู้สูงอายุเสียด้วยซ้ำ

ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต

อีกไม่ถึง 10 ปี ผมก็จะเป็นผู้สูงอายุวัยปลายแล้ว ทุกวันนี้ ผมเห็นผู้สูงอายุวัยปลายที่มีอายุ 80 ปีต้น ๆ จำนวนมาก ที่มีพลังแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ และมีชีวิตอยู่ได้ด้วยตนเอง ไม่เป็นภาระที่ต้องพึ่งพาคนอื่น ถ้าผมยังมีชีวิตอยู่จนอายุเกิน 80 ปี ผมก็หวังที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีพลังเช่นนั้นบ้าง และอีกไม่ถึง 20 ปี ถ้าผมมีอายุถึง 90 ปี ผมค่อนข้างแน่ใจว่า หากมีชีวิตอยู่โดยไม่มีคนอยู่ด้วยคอยช่วยดูแลน่าจะลำบาก

อีก 20 ปีข้างหน้า คนที่มีอายุ 90 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะมีจำนวนมากถึงประมาณ 4 ล้านคน ผู้สูงอายุวัยปลายสุดเหล่านี้ ไม่ว่าจะยังช่วยตัวเองได้ หรืออยู่ในสภาพที่ต้องพึ่งพาคนอื่นแล้ว  คงต้องมีผู้ดูแลอยู่ด้วยอย่างค่อนข้างจะแน่นอน

สำหรับผม เมื่อมีอายุเกิน 6 รอบแล้วในวันนี้ ได้ตั้งใจว่า เราต้องไม่ประมาท และควรเตรียมตัวตาย ทุกวันผมท่องคาถาที่แต่งขึ้นเอง

    “ยึดมั่นในพรหมวิหารสี่ ปราโมทย์ปีติเป็นนิสัย
    ไม่คิดมุ่งร้ายทำลายใคร รักษากาย วาจา ใจ ให้งดงาม”

แม้รู้ว่าจะปฏิบัติตามคาถานี้ได้ยาก เพราะตัวเองก็ยังเป็นคนธรรมดาที่ควบคุมอารมณ์ไม่ได้เป็นบางครั้ง และขาดสติไปบ้างเป็นบางครา แต่ก็มุ่งมั่นตั้งใจที่จะทำให้ได้เพื่อจะได้ตายอย่างสุขสงบ

ในบั้นปลายแห่งชีวิต
ที่มา: https://www.thaihealthcenter.org



CONTRIBUTOR

Related Posts
คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

น้ำลาย

วรชัย ทองไทย

มองโลกในแง่ดีในปีใหม่

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประชากรศาสตร์ของโควิด-19

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความหน้า และความหลัง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สัจธรรมแห่งชีวิต

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th