ผลสำรวจความสุขคนทำงาน (องค์กร) ในประเทศไทย ปี 2563 ด้วยเครื่องมือ “HAPPINOMETER” พบระดับความสุขของคนทำงานที่ลดลงจากปี 2562 เล็กน้อยโดยมีคะแนนความสุข (0-100 คะแนน) อยู่ที่ 59.5 คะแนน1 ในการสำรวจครั้งนี้ได้มีการสอบถามถึงประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่มีต่อความสุขของคนทำงานในมิติต่างๆ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบเป็นรายมิติของความสุขทั้ง 9 มิติจาก HAPPINOMETER พบว่า สุขภาพเงินดี (Happy Money) เป็นมิติความสุข ที่มีสัดส่วนคนทำงาน ได้รับผลกระทบเชิงลบ (-) มากที่สุด ถึง 46% ตามมาด้วย สุขภาพกายดี (Happy Body) และผ่อนคลายดี (Happy Relax) ที่มีสัดส่วนคนทำงานได้รับผลกระทบเชิงลบ (-) สูงเช่นกันที่ 43%
ที่มา: การสำรวจ ความสุข ความพึงพอใจ และความผูกพันองค์กร ของคนทำงานในประเทศไทย ปี 2563
พิจารณาจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังมีความไม่แน่นอนสูง จำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต ยังคงสูงขึ้นและลดลง ตามความรุนแรงของการแพร่ระบาดในแต่ละระลอก ผลกระทบจากความไม่ต่อเนื่องของการทำงานในหลายภาคธุรกิจที่ต้องปรับตัวและได้รับผลกระทบจากมาตรการในการควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาด ความกังวลด้านสุขภาพและความรู้สึกไม่มั่นคงในชีวิตการทำงานจากสถานการณ์เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศที่หดตัวลงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ไม่น่าแปลกใจที่มิติความสุขในเรื่อง “การเงินและรายได้” “สุขภาพ” และ “ความเครียดความกังวล” จากการทำงาน จะเป็น 3 อันดับแรกของมิติความสุขของคนทำงานที่ได้รับผลกระทบลบจากโควิด-19
ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ที่โควิด-19 ได้เริ่มแพร่ระบาดในประเทศไทย มาตรการต่างๆ ถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการล็อคดาวน์หรือกึ่งล็อคดาวน์ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและต้องเฝ้าระวังสูง การประกาศงดการเดินทางข้ามพื้นที่ การใช้มาตรการเคอร์ฟิวห้ามการเดินทางและออกนอกสถานที่พำนักในช่วงเวลากลางคืน การสั่งปิดกิจการสถานประกอบการในหลายๆ ลักษณะที่มีความเข้มงวดแตกต่างกันไปตามสถานการณ์การแพร่ระบาดในแต่ละพื้นที่และแต่ละช่วงเวลา รวมถึงการปิดเพื่อควบคุมแคมป์คนงานก่อสร้างและโรงงานการผลิตที่พบการแพร่ระบาดสูงภายใต้มาตรการที่เรียกว่า Bubble and Seal เพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการขยายวงกว้างของการแพร่ระบาด โดยที่มาตรการเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต กิจกรรมการทำงาน การประกอบธุรกิจของสถานประกอบการในหลายภาคส่วน และเศรษฐกิจมหภาคภาพรวมของประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ท้ายที่สุดย่อมสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการและลูกจ้างคนทำงานในทุกภาคธุรกิจ
ตามที่ได้แสดงในส่วนที่แล้ว "การเงินและรายได้" ดูจะเป็นมิติความสุขที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดต่อคนทำงานในประเทศไทยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบลบที่เกิดขึ้นนี้ มีความแตกต่างรุ่นแรงมากน้อยต่างกันไปในกลุ่มคนทำงานแต่ละภาคธุรกิจ
จากข้อมูลการสำรวจฯ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาคธุรกิจ หรือ ประเภทอุตสาหกรรมของคนทำงาน สิ่งที่พบและน่าสนใจ คือ กลุ่มคนทำงานที่เดือดร้อน ได้รับผลกระทบลบ (-) ด้านการเงินและรายได้มากที่สุดเป็น 3-4 ลำดับแรก ได้แก่ คนทำงานในภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ “การขนส่งและโลจิสติกส์” (ประเภทอุตสาหกรรม H) “การก่อสร้าง” (ประเภทอุตสาหกรรม F) “ธุรกิจบันเทิงและนันทนาการ” (ประเภทอุตสาหกรรม R) และ “ธุรกิจการโรงแรมและร้านอาหาร” (ประเภทอุตสาหกรรม I) ซึ่งล้วนเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบทางตรงอย่างชัดเจนจากมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดต่างๆ ที่กล่าวไปข้างต้น โดยในภาคธุรกิจเหล่านี้ คนทำงานถึงเกือบ 3 ใน 5 (52-59%) ได้รับผลกระทบลบ (-) ในมิติการเงินและรายได้ (Happy Money) ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับคนทำงานในภาคธุรกิจ การเงินและประกันภัย การศึกษา และคนทำงานในกิจกรรมทางวิชาชีพวิทยาศาสตร์และเทคนิค ที่มีสัดส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบลบ (-) น้อยที่สุดเมื่อเทียบกับภาคธุรกิจอื่น
ที่มา: การสำรวจ ความสุข ความพึงพอใจ และความผูกพันองค์กรของคนทำงานในประเทศไทย ปี 2563
ผลการสำรวจที่นำมาเขียนถึงนี้ เป็นข้อมูลที่จัดเก็บในช่วงปี 2563 (คาบเกี่ยวเล็กน้อยในช่วงต้นปี 2564) ซึ่งสถานการณ์โควิด-19 ในขณะนั้นยังไม่รุนแรงมากนักเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในปี 2564 โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นมาที่อัตราการแพร่ระบาด การเสียชีวิตจากโควิด-19 มีความชัดเจนและรุนแรงต่อเนื่อง เช่นเดียวกับมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดเพิ่มสูงขึ้นจนถึงสูงสุดในหลายพื้นที่ เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์2 ได้เปิดเผยตัวเลขจำนวนผู้ว่างงานในประเทศจากรายงานภาวะสังคมไทย ประจำไตรมาส 3 ซึ่งพบว่ามีมากถึง 8.7 แสนคน คิดเป็น 2.25% ของกำลังแรงงาน โดยเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดตั้งแต่ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
ในแง่ผลกระทบจากมาตรการโควิด-19 ต่างๆ ที่ออกมา คนทำงานในภาคธุรกิจขนส่ง ก่อสร้าง บันเทิง ที่พักและร้านอาหาร น่าจะยังคงเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรงค่อนข้างมาก แต่ในขณะเดียวกันที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มกินระยะเวลาต่อเนื่องยาวนานขึ้นเป็นเกือบ 2 ปี จนถึงปัจจุบัน ภาคธุรกิจอื่นทุกๆ ภาค ย่อมเริ่มเห็นผลกระทบที่ได้รับทั้งทางตรงและทางอ้อมที่ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องไปยังคนทำงานทั้งผลเล็กน้อย เช่น การถูกลดจำนวนชั่วโมงทำงาน ลดค่าตอบแทนหรือรายได้ ไปจนถึงขั้นเลวร้ายสุดที่อาจถูกเลิกจ้าง หรือ ตกงาน สถานการณ์ผลกระทบเหล่านี้ เป็นประเด็นที่ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังกันต่อไป
ในขณะที่บทความนี้กำลังถูกเขียนขึ้น โครงการศึกษาวิจัยนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะองค์กรเพื่อนำไปสู่องค์กรสุขภาวะและความยั่งยืน (HAPPINOMETER) โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการสำรวจความสุขคนทำงาน (องค์กร) ในประเทศไทย ปี 2564 ซึ่งเมื่อเสร็จสิ้น เราน่าจะได้เห็นตัวเลขค่าคะแนนความสุขของคนทำงานไทยในปี 2564 กันว่าจะเพิ่มขึ้นหรือว่าปรับลดลงอย่างไร รวมถึงได้เห็น ผลกระทบของโควิด-19 ต่อความสุขของคนทำงานในมิติต่างๆ เพื่อเป็นข้อมูลให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคสถานประกอบการเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้นำมาใช้พิจารณาเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างเสริมความสุขให้กับคนทำงานไทยในยุคโควิด-19 ได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนต่อไป
อ้างอิง
บุรเทพ โชคธนานุกูล
กุลภา วจนสาระ
วรเทพ พูลสวัสดิ์
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
ดวงวิไล ไทยแท้
สิรินทร์ยา พูลเกิด
มนสิการ กาญจนะจิตรา
พรสุรีย์ จิวานานนท์
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปิยวัฒน์ เกตุวงศา
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ดนุสรณ์ โพธารินทร์
มนสิการ กาญจนะจิตรา
มนสิการ กาญจนะจิตรา
วรชัย ทองไทย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
จรัมพร โห้ลำยอง
วรรณี หุตะแพทย์
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
วิภาพร จารุเรืองไพศาล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
บุรเทพ โชคธนานุกูล
สุภิรัฐพงศ์ พงศ์ศักดิ์ศรี
วิภาพร จารุเรืองไพศาล
จรัมพร โห้ลำยอง
ปราโมทย์ ประสาทกุล
นิพนธ์ ดาราวุฒิมาประกรณ์
อมรา สุนทรธาดา
นุชราภรณ์ เลี้ยงรื่นรมย์
สิรินทร์ยา พูลเกิด
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น
วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
นงเยาว์ บุญเจริญ
จรัมพร โห้ลำยอง
จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
สุภรต์ จรัสสิทธิ์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
วรชัย ทองไทย
จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต
เพ็ญพิมล คงมนต์
สุภรต์ จรัสสิทธิ์