The Prachakorn

10 สถานการณ์ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติทั่วโลกที่มีผลต่อคุณภาพชีวิต


อมรา สุนทรธาดา

04 สิงหาคม 2565
361



ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติมีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินที่ประมาณค่าไม่ได้ ถ้าย้อนดูเฉพาะในรอบ 2 ปี ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นที่นับว่าส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากร ดังนี้1

ไฟป่าในออสเตรเลีย เมื่อตุลาคม 2562 เกิดจากสาเหตุภัยแล้งรุนแรงตลอดช่วงเวลา 3 เดือน ในรัฐนิวเซาท์เวลส์และรัฐควีนส์แลนด์ เป็นภัยพิบัติครั้งที่รุนแรงที่สุด พื้นที่ป่า 36 ล้านไร่ วอดไปกับคลื่นเพลิง บ้านและอาคารสิ่งปลูกสร้าง 9,000 แห่ง ถูกเผา มีผู้เสียชีวิต 400 ราย

อุทกภัยในกรุงจากาตาร์ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2563 ส่งผลให้ประชากร 4 แสนคน ไร้ที่อยู่ มีผู้เสียชีวิต 66 ราย ความแรงของกระแสน้ำทำให้แผ่นดินถล่มและทำลายอาคารสิ่งปลูกสร้างต่างๆ กลายเป็นกองขยะทั่วเมือง

การระบาดของโควิด-19 ในประเทศจีนและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก จีนพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกที่เมือง Wuhan เมื่อธันวาคม 2562 ซึ่งในขณะนั้นยังไม่มีข้อมูลว่าเป็นโรคระบาดร้ายแรง ต่อมา วันที่ 11 มกราคม 2563 รัฐบาลมีประกาศเป็นทางการพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิต องค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นโรคระบาดที่ทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2563 เกิดการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในประเทศต่างๆ ทั่วโลกมีผลต่อการวางมาตรการเพื่อความปลอดภัย เช่น มาตรการ New Normal รวมทั้งการค้นคว้าเพื่อผลิตวัคซีนป้องกันการแพร่ระบาด

ภาพ: การระบาด  COVID-19 เพิ่มจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
ที่มา: https://www.instagram.com/p/CBZvHLrnpSS/  สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2565

ภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ 12 มกราคม 2563 ส่งผลต่อการย้ายที่อยู่ของประชากรราว 300,000 คน เพราะผลกระทบจากความร้อน ฝุ่น ภูเขาไฟดังกล่าวเคยระเบิดมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อ 43 ปีที่แล้ว ฟิลิปปินส์ได้ชื่อว่ามีภัยพิบัติจากภูเขาไฟระเบิดบ่อยครั้ง มาตรการป้องกันทำได้เพียงการเฝ้าระวังโดย Institute of Volcanology and Seismology มีมาตรการเฝ้าสังเกตภูเขาไฟ มากกว่า 2,000 ลูก ในจำนวนนี้มี 176 ลูก ที่ต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด

ภัยพิบัติจากภูเขาไฟระเบิด หลายประเทศทั่วโลก เช่น จีน อินเดีย อิหร่าน ฟิลิปปินส์ รัสเซีย ตุรเคีย และประเทศต่างๆ ในหมู่เกาะแคริบเบียน ยังต้องเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น เพราะยังพบว่าภูเขาไฟบางแห่งมีแรงระเบิดมากกว่า 6 ริกเตอร์ โดยเฉพาะจาเมกาและรัสเซีย ยังต้องเฝ้าระวังภูเขาไฟที่ส่งแรงสะเทือนมากกว่า 7 ริกเตอร์

กองทัพตั๊กแตนทะเลทราย ที่ระบาดในกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออก แอฟริกาตะวันออก เอเชียตะวันออกกลาง ฝูงแมลงเหล่านี้สามารถกินพืชพันธุ์ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว แพร่พันธุ์เร็วเนื่องจากุภาวะโลกร้อน อุณหภูมิที่อุ่นขึ้นช่วยให้แมลงวางไข่และแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้นสามารถแพร่พันธุ์ได้ 150 ล้านตัวในพื้นที่เพียง 1 ตารางกิโลเมตร แมลงเหล่านี้ไม่เป็นอันตรายต่อคน

ภาพ: ฝูงตั๊กแตนทะเลทราย
ที่มา:https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/9/95/Red-billed_quelea_flocking_at_waterhole.jpg สืบค้นเมื่อ 15 สิงหาคม 2565

พายุไซโคลน Amphan ในปี 2563 มีความรุนแรงเทียบเท่าพายุเฮอริเคน เคยสร้างความเสียหายในอินเดียและบังกลาเทศ เมื่อพัดเข้าปะทะในพื้นที่ เกิดภาวะดินถล่ม พายุฝน ลมกรรโชก ฟ้าผ่า ภัยพิบัติครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิต 12 ราย

ไฟป่าที่รัฐอุตตราขัณฑ์ (Uttarakhand) ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของประเทศอินเดีย เป็นรัฐที่ยากจน มีภูมิประเทศเป็นเทือกเขาสูง เมื่อปี 2563 เกิดไฟป่าเผาทำลายพื้นที่ป่าประมาณ 1,283 ไร่ กรมป่าไม้ของรัฐต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาลเพื่อการฟื้นผืนป่าและต้องเริ่มโครงการทดลองใหม่ที่ถูกไฟป่าทำลาย

เหตุการณ์น้ำท่วมที่รัฐอัสสัม ประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นเขตชุ่มฝน เหตุการณ์ฝนตกหนักเมื่อปี 2563 มีผลกระทบต่อประชาชนรวม 128 หมู่บ้าน

ปรากฏการณ์หิมะสีเขียว (Green Snow) เมื่อพูดถึงทวีป แอนตาร์กติก (Antarctica) เราจะมีจินตนาการว่าเป็นดินแดนที่มีธารน้ำแข็งและหิมะขาวโพลนทั้งที่ราบและบนเทือกเขาสูง มีสัตว์สวยงาม เช่น นกเพนกวิน แมวน้ำ ผลจากภาวะโลกร้อนทำให้ทวีปนี้มีอุณหภูมิสูงขึ้น หิมะละลายและเพิ่มปริมาณน้ำจากธารน้ำแข็งไหลลงสู่ที่ต่ำมากกว่าปกติ นอกจากนี้อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เชื้อราสีเขียวเข้มกระจายอยู่ด้านบนของลานหิมะขยายพันธุ์ได้รวดเร็วและปกคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้างและเป็นที่มาว่าทำไมทวีปแอนตาร์กติกไม่ ขาว ทั้งหมด

ภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุที่ยากต่อการควบคุม  


อ้างอิง

  1. https://www.holidify.com/pages/natural-disasters-in-the-world-in-2020-4836.html สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2565

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

รอหมูป่าออกจากถ้ำ

ปราโมทย์ ประสาทกุล

โลกร้อน

วรชัย ทองไทย

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th