The Prachakorn

คุณแม่อย่าท้อ


ขวัญชนก ใจซื่อกุล

26 กรกฎาคม 2566
1,005



“การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรงและเป็นบุคคลคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน สำหรับผู้เขียนแล้วการที่ลูกจะเติบโตมาอย่างมีความสุข อาจจะต้องเริ่มจากการที่แม่เองก็ต้องมีความสุขด้วยเช่นกัน”

“การเป็นลูกที่ดีนั้นง่ายกว่าการเป็นแม่ที่ดีเยอะเลย” นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนตกผลึกได้ หลังจากเปลี่ยนสถานะมาเป็นคุณแม่มือใหม่ของลูกชายวัยสามเดือน หลังจากเริ่มจัดสรรเวลาและปรับตัวให้คุ้นชินกับความปกติใหม่ของชีวิตได้แล้ว ผู้เขียนตั้งใจเขียนบทความนี้ขึ้นมาเพื่อส่งกำลังใจให้คุณแม่ท่านอื่น ๆ ที่อาจต้องเผชิญกับช่วงเวลาท้าทายของชีวิตในการตั้งครรภ์ และคุณแม่มือใหม่ที่กำลังทุ่มเทกำลังกายกำลังใจเพื่อเลี้ยงดูอีกหนึ่งชีวิตให้เติบโต โดยอิงจากประสบการณ์ของตนเองและคนรอบตัว

แม้จะได้เตรียมกายและใจให้พร้อมที่จะมีลูกมาก่อนแล้ว เมื่อตั้งครรภ์จริง ๆ ผู้เขียนจึงได้ตระหนักว่าเส้นทางสายนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของทั้งร่างกาย หน้าที่การงานและวิถีชีวิต รวมถึงยังต้องรับมือกับความเชื่อและความคาดหวังของสังคมในการเป็นแม่ที่ดี คุณแม่หลายท่านมีประสบการณ์คล้ายกันในการเผชิญหน้ากับคำวิพากษ์วิจารณ์ในระหว่างการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นขนาดของท้องที่ดูเล็กหรือใหญ่ไป จนทำให้เกิดความกังวลถึงสุขภาพของลูกในท้อง ผู้หญิงจำนวนหนึ่งไม่กล้ากล่าวถึงความทรมานจากอาการแพ้ท้องเนื่องจากกลัวจะถูกตัดสินว่าเป็นแม่ที่ไม่อดทน ทั้ง ๆ ที่อาการแพ้ท้องในกลุ่มคุณแม่ที่แพ้ท้องหนักมากนั้น บางคนถึงขนาดอาเจียนเมื่อดื่มน้ำหรือกระทั่งเมื่อกลืนน้ำลาย ผู้หญิงที่ผ่าคลอดบางคนถูกตัดสินว่าไม่เสียสละ ทั้ง ๆ ที่บางคนจำเป็นต้องผ่าคลอดเนื่องด้วยเหตุผลทางการแพทย์ หรือเนื่องจากจะได้กำหนดวันลางานได้ ในขณะเดียวกันผู้หญิงที่ไม่สามารถให้นมแม่ได้ 100% จนต้องเสริมนมผง หรือแม่ที่สามารถให้นมแม่ได้เพียง 3 เดือน หรือน้อยกว่านั้นเพราะต้องกลับไปทำงานและสถานที่ทำงานไม่เอื้อต่อการปั๊มนม ต่างก็เผชิญกับความรู้สึกผิดที่ไม่สามารถให้นมแม่ล้วนได้เหมือนแม่คนอื่นหรือตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก ที่แนะนำให้เด็กกินนมแม่อย่างเดียวเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน

สำหรับผู้เขียนแล้วคุณแม่ทุกคนเป็นแม่ที่ดีได้ในแบบของตัวเอง แม่มีสิทธิที่จะพูดถึงการเจ็บไข้ได้ป่วยของร่างกายตนเองโดยไม่ต้องรู้สึกผิด แม่ที่ต้องเผชิญกับฮอร์โมนที่แปรปรวนหลังคลอดและยังเจ็บแผลจากการคลอด (ไม่ว่าจะเป็นการผ่าคลอดหรือการคลอดธรรมชาติก็ตาม) แต่ต้องตื่นมาให้นมลูกหรือปั๊มนมทุก ๆ สามชั่วโมง คือแม่ที่เสียสละที่สุดแล้ว แม้ผู้เขียนจะเห็นด้วยกับการให้นมแม่ 6 เดือน แต่ในขณะเดียวกันการที่น้ำนมน้อยจนต้องเสริมนมผง หรือการที่แม่สามารถให้นมลูกได้แค่สามเดือน เพราะสามารถลาคลอดได้แค่นั้นก็ไม่ใช่ความผิดของคนเป็นแม่เช่นกัน แต่อาจจะต้องไปดูที่กฎหมายว่าการลาคลอด 90 วันนั้นอาจจะไม่เพียงพอและไม่ส่งเสริมการให้นมแม่ นอกจากนี้การอนุญาตให้คุณพ่อลางานเพิ่มขึ้นเพื่อมาแบ่งเบาภาระของคุณแม่ในช่วงหลังคลอดก็อาจเป็นเรื่องที่ต้องหยิบมาพิจารณาด้วยเช่นกัน

ที่สุดแล้วไม่ว่าแม่จะเลือกให้กำเนิดลูกวิธีการใด เลี้ยงลูกแบบไหน ให้นมอะไร ผู้เขียนเชื่อว่าแม่ทุกคนเลือกสิ่งที่ดีและเหมาะสมที่สุดให้แก่ตัวเองและลูกน้อย การที่เด็กคนหนึ่งจะเติบโตมาอย่างสมบูรณ์แข็งแรงและเป็นบุคคลคุณภาพไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยใดปัจจัยหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมถึงองค์ประกอบหลาย ๆ อย่างเข้าด้วยกัน สำหรับผู้เขียนแล้วการที่ลูกจะเติบโตมาอย่างมีความสุข อาจจะต้องเริ่มจากการที่แม่เองก็ต้องมีความสุขด้วยเช่นกัน ขอส่งกำลังใจนี้ให้แก่คุณแม่ทุกคน และอยากขอให้คนรอบข้างใจดีกับคุณแม่ตั้งครรภ์และคุณแม่มือใหม่ เคารพในการตัดสินใจและให้กำลังใจคุณแม่ไปด้วยกันค่ะ

ภาพถ่ายของตัวผู้เขียนเอง ระหว่างการตั้งครรภ์

 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ทำไมคุณพ่อต้องลาคลอด

มนสิการ กาญจนะจิตรา

คุยกับ ChatGPT เรื่องนโยบายประชากร

อภิชาติ จำรัสฤทธิรงค์

ต้นทุนของการมีลูก

มนสิการ กาญจนะจิตรา

รำพึงรำพันวันสงกรานต์ 2562

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล

ปราโมทย์ ประสาทกุล

คุณแม่อย่าท้อ

ขวัญชนก ใจซื่อกุล

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ณ Cornell University Episode 5 Happy End

ภัสสร มิ่งไธสง

เธอกำหนดชีวิตของเธอเอง

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th