โควิด-19 ระลอกใหม่กำลังโจมตีประเทศไทยอย่างหนัก วันที่ผมเขียนบทความนี้ (14 พฤษภาคม 2564) มีผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตัวนี้สะสมถึงเกือบแสนคนแล้ว วันสองวันมานี้ มีผู้ที่ป่วยจนต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึงวันละประมาณ 2 พันคนในจำนวนผู้ป่วยหนักมีรายที่อาการหนักมากถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวนเกินหลัก 400 คนแล้ว
ผมสนใจตัวเลขจำนวนผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยหนักมากถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ผมวาดภาพการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ว่าต้องมีความเป็นพิเศษ ทั้งสถานที่ เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรที่เกี่ยวข้อง แพทย์พยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เข้าไปใกล้ชิดกับผู้ป่วยต้องแต่งกายด้วยชุดที่มิดชิดรัดกุม เพื่อป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ ชุดที่ใส่เหมือนชุดของมนุษย์อวกาศ ร่างกายของคนทำงานที่ต้องอยู่ในชุดที่ปิดมิดชิดอย่างนั้น คงจะร้อนอบอ้าวและทรมาน ชุดอย่างนั้นจะสวมใส่หรือเปลี่ยนแต่ละทีคงลำบากยากเย็นมากทีเดียว
ผมเคยได้ยินตัวเลขจำนวนเครื่องช่วยหายใจที่มีอยู่ในประเทศไทย แต่จำไม่ได้ว่ามีกี่เครื่อง แต่พอจะรู้ว่าเรามีอยู่อย่างจำกัด ถ้าตัวเลขผู้ป่วยหนักที่ต้องรับการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นวันละ 2 พันรายเช่นนี้ อีกไม่กี่วันประเทศไทยคงต้องประสบกับภาวะวิกฤติอย่างแน่นอน ห้องและเตียงสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 เครื่องมือ อุปกรณ์ และบุคลากรพิเศษเหล่านี้ จะมีเพียงพอที่จะรองรับผู้ป่วยอาการหนักเหล่านี้หรือไม่
เมื่อปีที่แล้วผมโทรศัพท์คุยกับเพื่อนที่ลงหลักปักฐานอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อนเล่าให้ฟังว่าสถานการณ์โควิด-19 ที่นั่นค่อนข้างน่ากลัว คนอเมริกันติดเชื้อและผู้ป่วยมีอาการหนักพร้อมๆ กันเป็นจำนวนมาก โรงพยาบาลมีคนป่วยเต็มไปหมด เจ้าหน้าที่มีไม่เพียงพอที่จะรับมือกับผู้ป่วยที่ทะลักเข้าโรงพยาบาลเหมือนเขื่อนแตก เพื่อนเล่าว่าใครติดเชื้อแล้วป่วยถึงขั้นต้องเข้าโรงพยาบาล พอนำส่งที่ทางเข้าโรงพยาบาลแล้วก็กล่าวอำลากันได้เลย เพราะจะไม่มีโอกาสได้เห็นกันอีก แม้แต่ร่างกายที่หมดลมหายใจไปแล้ว
ทุกวันนี้ผมดูข่าววิกฤติโควิด-19 ในประเทศอินเดียอย่างสลดหดหู่ใจ จนไม่อยากติดตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นในประเทศนี้อีกแล้ว...แต่ก็อดไม่ได้
ผมได้แต่ภาวนาขออย่าให้โควิด-19 ยกระดับความรุนแรงจนเป็นวิกฤติเกิดขึ้นกับคนไทยเลย...เพี้ยง
ระยะนี้ (กลางเดือนพฤษภาคม 2564) เจอหน้าใครก็มักจะถามกันว่า “ฉีดวัคซีนแล้วหรือยัง” สำหรับผมเมื่อถูกถาม ก็จะตอบว่า “นัดฉีดแล้ว ได้คิวนัดวันที่ 11 เดือนหน้า” มีคนหนึ่งมองหน้าผมด้วยแววตาสงสัย แล้วถามกลับว่าทำไมผมฉีดช้าจัง เพราะเขาฉีดไปครบแล้วทั้ง 2 เข็ม ผมได้ตอบไปด้วยน้ำเสียงเจียมตัวว่า ลูกชายของผมเป็นคนจองคิวให้ตามระบบ ผ่านแอปพลิเคชัน “หมอพร้อม” ได้คิวฉีดเวลา 15.00 น. วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ที่โรงพยาบาลพุทธมณฑล
ผมจองคิวได้ตั้งแต่ 2 อาทิตย์ที่แล้ว ลำพังตัวเองคงไม่มีปัญญาและความกระตือรือร้นที่จะจองคิวฉีดวัคซีน ลูกชายของผมทั้งครอบครัวมาจากกรุงเทพฯ มาจัดการทุกอย่างให้ เขาใช้เวลาไม่นาน คนรุ่นใหม่จะคุ้นเคยกับการใช้แอปพลิเคชัน โทรศัพท์มือถือ และการใช้อินเทอร์เน็ตกว่าคนรุ่นผมมาก
ผู้สูงอายุอย่างผมจัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางที่จะได้รับวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ กลุ่มนี้จะได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา ตามคิวที่ได้จองไว้ตั้งแต่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป
ผู้สูงอายุค่อนข้างเปราะบางเพราะถ้าติดเชื้อโควิด-19 แล้ว เสี่ยงที่จะมีอาการป่วยหนักและเสียชีวิตสูง จริงๆ แล้วผมไม่อยากอยู่ในกลุ่มที่ได้ลำดับความสำคัญในการฉีดวัคซีนก่อนคนวัยอื่นเลย ผู้สูงอายุควรอยู่ในลำดับความสำคัญหลังคนวัยทำงาน โดยเฉพาะคนใช้แรงงานที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้านคนมีรายได้น้อย คนที่ต้องพบปะผู้คนมากมาย เช่น คนขับรถเมล์ คนขับรถแท็กซี่ แรงงานรับจ้าง พ่อค้า แม่ค้า พวกเขาเหล่านั้นมีโอกาสเสี่ยงสูง และถ้าติดเชื้อ ชีวิตของพวกเขาก็จะได้รับผลกระทบอย่างมาก ผู้มีรายได้น้อยมักอยู่กันอย่างแออัดในที่อยู่อาศัยที่คับแคบ ยากต่อการรักษาระยะห่างทางสังคม เมื่อติดเชื้อแล้วก็อาจนำเชื้อไปแพร่ให้กับคนในครอบครัวต่อไปอีก
ผมเชื่อว่าพวกเราจะผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปได้ ผมยังมองโลกในแง่ดี วันหนึ่งอีกไม่นานคนไทยจะมีภูมิคุ้มกันซึ่งไม่ว่าจะเกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือจากวัคซีน หรือไวรัสโควิด-19 จะกลายพันธุ์ให้ลดความดุร้ายลง ในอนาคต โควิด-19 อาจจะกลายเป็นเชื้อไข้หวัดธรรมดาๆ ที่เป็นกันทั่วไปก็ได้
ผมรู้ตัวว่าเมื่อมีอายุถึงวัยนี้ ผมก็มีเวลาที่จะมีชีวิตเหลืออีกไม่นาน วันเวลาผ่านไปเร็วมาก ปีหนึ่งมี 52 สัปดาห์ ผมสังเกตว่าเดี๋ยวนี้ แต่ละสัปดาห์ผ่านไปเร็วเหลือเกิน
ในประชากรและการพัฒนาฉบับก่อน ผมได้รวบรวมหลักปฏิบัติ 15 ข้อ เพื่อเป็นผู้สูงอายุที่มีสุขภาพดีและมีพลังมานำเสนอไว้ มีเพื่อนรุ่นพี่คนหนึ่งถามผมว่า ผมปฏิบัติตามได้กี่ข้อ ผมตอบว่าทำได้เกือบทุกข้อ แต่ทำได้ในระดับที่มากน้อยต่างกัน บางข้อทำได้น้อย เช่น ไม่กินมากเกินไป ไม่นิ่งอยู่กับที่นานเกินไป บางข้อทำได้ดีมาก เช่น ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ อย่างไรก็ตาม การมีหลักปฏิบัติให้ยึดถือไว้ก็ช่วยเตือนใจให้เราดูแลสุขภาพตัวเองอยู่เสมอ
เพื่อนชาวฟิลิปปินส์คนหนึ่งส่ง “อาหารเพื่อความคิด” มาให้ผมทางอีเมลบ่อยๆ วันนี้เขาส่งความคิดของศาสตราจารย์ด้านสรีรวิทยา (Physiology) ชื่อดังชาวรัสเซียมาให้อ่าน ศ.พาฟลอฟ กล่าวว่า “ความสุขเป็นความลับอย่างเดียวของสุขภาพ” และ “ความสุขกับสุขภาพมีความเชื่อมโยงกันโดยธรรมชาติ”
ศ.พาฟลอฟ ให้ข้อคิดมา 10 ข้อว่าเราจะทำตัวให้มีความสุขมากขึ้นเมื่อเราก้าวเข้าสู่วัยสูงอายุได้อย่างไร ผมขอนำข้อคิดบางอย่างมาสรุปไว้โดยไม่เรียงเป็นข้อๆ ดังนี้ครับ
คุณไม่ใช่ซุปเปอร์แมนอีกต่อไปแล้ว อย่าโหมทำงานหนักตลอดทั้งวัน คุณควรมีชีวิตอยู่อย่างสงบ คุณภาพชีวิตของคุณขึ้นอยู่กับจิตใจของคุณ อย่าทำตัวให้เป็นคนแปลกแยกในครอบครัว ควรมองคนในแง่ดี การเรียนรู้ยังเป็นเรื่องจำเป็น ให้ความสนใจที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ กล้าทำในสิ่งที่คุณสนใจอย่างเช่น การใช้อินเทอร์เน็ต ชอปปิงออนไลน์ พึ่งตัวคุณเองย่อมดีกว่าพึ่งคนอื่น มีความเชื่อมั่นในตนเอง เรียนรู้และแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ สถานะและเกียรติยศเป็นเพียงเปลือกนอกที่ห่อหุ้มความดีงามของคุณ สำนึกในบุญคุณของทุกคนและสิ่งต่างๆ ขอบคุณครอบครัว การงานและเพื่อนฝูง ยิ้มไว้เสมอ อย่าจริงจังกับชีวิตมากเกินไป มีอารมณ์ขันและทำชีวิตให้มีแต่เรื่องหัวเราะ ความสุขสุดยอดคือการที่มีคนดูแลคุณ ถ้าไม่มีคนดูแล คุณก็ดูแลตัวเอง พักผ่อน ออกกำลังกาย กินอาหารดีๆ กินอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ฝึกสมองของคุณด้วยวิธีที่สนุกและตื่นเต้น อย่าไปกังวลกับเรื่องใหญ่ระดับชาติที่คุณไม่สามารถจัดการได้ อย่าเป็นคนแก่ช่างโกรธ อย่าเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น
ตอนนี้ผมกำลังสร้างสมดุลระหว่างเรื่อง 4 เรื่องของตัวผม 1) ป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อไวรัส 2) ทำงานให้เสร็จสิ้นตามเวลาที่ตั้งใจ 3) ติดต่อกับญาติพี่น้องและเพื่อนฝูงตามสมควร และ 4) รักษาสภาพจิตใจตัวเองให้มีความสุข
ภาพโดย: ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
อมรา สุนทรธาดา
ประทีป นัยนา
พรสุรีย์ จิวานานนท์
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
มนสิการ กาญจนะจิตรา
รศรินทร์ เกรย์
บุรเทพ โชคธนานุกูล
มนสิการ กาญจนะจิตรา
ภัทราภรณ์ จึงเลิศศิริ
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ดนุสรณ์ โพธารินทร์
ปราโมทย์ ประสาทกุล
วรชัย ทองไทย
บุรเทพ โชคธนานุกูล
กัญญาพัชร สุทธิเกษม
เฉลิมพล แจ่มจันทร์
ศุทธิดา ชวนวัน
วรชัย ทองไทย
ปราโมทย์ ประสาทกุล
ปราโมทย์ ประสาทกุล
สุรีย์พร พันพึ่ง,ตะวันชัย จิรประมุขพิทักษ์
ปัณณวัฒน์ เถื่อนกลิ่น