The Prachakorn

นโยบายสร้างที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัว: บทเรียนจากต่างประเทศ


มนสิการ กาญจนะจิตรา

16 มิถุนายน 2565
888



การสร้างความสมดุลระหว่างความรับผิดชอบในหน้าที่การงานและครอบครัว เป็นโจทย์สำคัญสำหรับหลายคน โดยเฉพาะในครอบครัวที่มีลูก หากที่ทำงานมีนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว จะมีส่วนช่วยลดความตึงเครียดในประชากรวัยทำงานได้อย่างดี

แนวทางของภาคธุรกิจที่จะมีบทบาทในการสร้างที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อครอบครัว มีได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนสิทธิในการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแบบได้รับค่าจ้างสำหรับทั้งพ่อและแม่ การส่งเสริมระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น ทั้งในด้านเวลาและสถานที่ การสนับสนุนการให้นมบุตรอย่างต่อเนื่อง การส่งเสริมการเข้าถึงบริการดูแลเด็กที่มีคุณภาพ และการสนับสนุนเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูบุตร1

นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนทำงานและของครอบครัว แต่ในบางครั้ง นโยบายเหล่านี้ อาจส่งผลอันไม่พึงประสงค์ได้เช่นกัน โดยเฉพาะในด้านการทำงานของผู้หญิง การผลักดันนโยบายเหล่านี้ จึงควรเป็นไปอย่างรอบคอบ โดยควรพิจารณาผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ดังบทเรียนจากนานาประเทศต่อไปนี้

  1. นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว อาจส่งผลเสียต่อโอกาสการถูกจ้างงานของผู้หญิงได้ ในประเทศสเปน กฎหมายปกป้องการจ้างงานที่อนุญาตให้ผู้ที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 6 ปี เลือกทำงานในลักษณะบางช่วงเวลา (part-time) ได้ เพื่อส่งเสริมความยืดหยุ่นในการทำงาน ส่งผลให้ผู้ว่าจ้างมีแนวโน้มจ้างผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ลดลง ร้อยละ 49 และโอกาสที่ผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ไม่ถูกจ้างงานเพิ่มขึ้น ร้อยละ 202
  2. นโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัว อาจส่งผลเสียต่อระดับค่าจ้างของผู้หญิง ในประเทศชิลี กฎหมายบังคับให้ผู้ว่าจ้างที่มีพนักงานผู้หญิง 20 คนขึ้นไป จ่ายค่าสถานดูแลเด็กให้กับผู้หญิงที่มีลูก เพื่อช่วยเหลือให้ผู้หญิงสามารถกลับมาทำงานได้ง่ายขึ้นอย่างไรก็ตาม งานวิจัยพบว่า ข้อบังคับนี้กลับส่งผลให้ค่าจ้างเริ่มต้นของผู้หญิงลดลง ร้อยละ 9-203 เพื่อชดเชยกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นของสถานประกอบการ
  3. นโยบายเหล่านี้ อาจขัดขวางความก้าวหน้าทางการงานของผู้หญิง หลายประเทศในยุโรปมีสวัสดิการการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรที่ยาวนานเมื่อเปรียบเทียบกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งพบว่า ในภาพรวมผู้หญิงในยุโรปมีแนวโน้มที่จะอยู่ในกำ.ลังแรงงานมากกว่าผู้หญิงในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม หากเปรียบเทียบในกลุ่มผู้หญิงที่อยู่ในกำลังแรงงานด้วยกันแล้ว จะพบว่า ผู้หญิงทำงานในยุโรปมีแนวโน้มการทำงานแบบบางช่วงเวลามากกว่า และอยู่ในตำแหน่งที่ต่ำกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับผู้หญิงทำงานในสหรัฐอเมริกา ที่มีแนวโน้มทำงานในตำแหน่งบริหารสูงกว่า และมีงานที่มั่นคงกว่า4

ดังนั้น การผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวในสถานประกอบการ จึงต้องผ่านการคิดไตร่ตรองอย่างดี เพื่อลดโอกาสเกิดผลเสียได้ จากบทเรียนดังกล่าว หากประเทศไทยต้องการผลักดันนโยบายเหล่านี้ในสถานประกอบการมากขึ้น ควรพิจารณาให้รัฐเป็นผู้รับผิดชอบหลักในด้านค่าใช้จ่าย ไม่ควรผลักภาระไปยังสถานประกอบการ เพราะหากผู้ว่าจ้างเป็นผู้ต้องรับผิดชอบหลักในด้านค่าใช้จ่าย เช่น ในกรณีของประเทศชิลี สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ผู้ว่าจ้างจะผลักภาระค่าใช้จ่ายไปยังพนักงาน ในรูปแบบของการลดค่าจ้าง

นอกจากนี้ การผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวควรอยู่ในขอบเขตที่พอเหมาะ เช่น การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรควรมีระยะเวลาที่ไม่สั้นเกินไป และไม่นานเกินไป เพื่อให้พ่อแม่มีเวลาในการปรับตัวอย่างเพียงพอ แต่ไม่นานเกินจนกลายเป็นต้นทุนสำหรับสถานประกอบการ ซึ่งข้อเสนอแนะอยู่ระหว่าง 3–9 เดือน5

สุดท้าย ควรผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวที่เปิดกว้างให้ทั้งพ่อและแม่ ไม่เฉพาะเจาะจงไปยังผู้หญิงเท่านั้น เช่น การลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ควรเป็นสวัสดิการสำหรับทั้งพ่อและแม่อย่างเท่าเทียมกันมากขึ้น เพื่อลดทัศนคติเชิงลบต่อการว่าจ้างพนักงานหญิง

การผลักดันนโยบายที่เป็นมิตรต่อครอบครัวในสถานประกอบการ เป็นแนวทางที่สามารถเสริมสร้างคุณภาพชีวิตของครอบครัวได้ และเป็นนโยบายสำคัญในยุคที่เด็กเกิดน้อยและขนาดของกำ.ลังแรงงานลดลง เพื่อเสริมสร้างคุณภาพของประชากรวัยแรงงานและประชากรรุ่นต่อๆ ไป แต่การผลักดันนโยบายควรเป็นไปอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อครอบครัวอย่างแท้จริง

ภาพ: คุณแม่ตั้งครรภ์ ยังคงทำงานอย่างแข็งขันในโรงงานอุตสาหกรรม
ที่มา: https://www.abc.net.au/news/2018-07-11/pregnant-at-work-how-colleagues-and-boss-can-help/9962956


อ้างอิง

  1. https://www.unicef.org/indonesia/media/13016/file/Family-Friendly%20Policies%20Handbook%20for%20Business.pdf
  2. Fernandez-Kranz, D., & Rodriguez-Planas, N. (2021). Too family friendly?The consequences of parent part-time working rights. Journal of Public Economics, 197, 104407.
  3. Prada, M. F., Rucci, G., & Urzua, S. S. (2015). The effect of mandated child care on female wages in Chile (No. w21080). National Bureau of Economic Research.
  4. Blau, F. D., & Kahn, L. M. (2013). Female labor supply: Why is the United States falling behind?. American Economic Review, 103(3), 251-56.
  5. Ruhm, C. J., & Teague, J. L. (1995). Parental leave policies in Europe and North America.  https://www.nber.org/system/files/working_papers/w5065/w5065.pdf


CONTRIBUTOR

Related Posts
โกหก

วรชัย ทองไทย

ตบมือหรือปรบมือ

วรชัย ทองไทย

Work From Home (WFH)

ดนุสรณ์ โพธารินทร์

คนแก่ ม้าหาย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เพศหลากหลาย Happy SDG กับ ภาพจำ ที่เปลี่ยนผ่าน?

วรรณี หุตะแพทย์,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

ปลาดุกในที่ทำงาน

จรัมพร โห้ลำยอง

โรคอ้วน

วรชัย ทองไทย

โลกเราเปลี่ยนไปตามวัย

ปราโมทย์ ประสาทกุล

ประเด็นทางประชากรและสังคม

จรัมพร โห้ลำยอง,ศิรินันท์ กิตติสุขสถิต

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th