The Prachakorn

ตามไปดู....การเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนบ้านสงเคราะห์ออกสู่สังคม...ในมุมมองของความเป็นแม่


กมลชนก ขำสุวรรณ

18 ธันวาคม 2563
577



ผู้เขียนได้มีโอกาสตามไปดูเรื่องราวของผู้ปฏิบัติงานตำแหน่งที่ไม่ใช่ “แม่” โดยสายเลือด ในสถานสงเคราะห์เด็กและเยาวชน แต่ปฏิบัติหน้าที่ด้วย “หัวใจของความเป็นแม่” ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าแม่โดยสายเลือด ซึ่งมีความสำคัญและควรค่าแก่การนำเสนอสู่สังคม

การตามไปดูครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งจากการติดตามประเมินผล “โครงการเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมอย่างเป็นสุข” โดยสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เก็บข้อมูลด้วยวิธีการแบบผสมผสาน ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ

โครงการฯ นี้ดำเนินการโดย สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี (สวท.) มีระยะเวลาดำเนินโครงการทั้งสิ้น 3 ปี เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 สิ้นสุดเดือนสิงหาคม 2564 ซึ่งดำเนินการสร้างความเข้าใจ ยอมรับ และสนับสนุน ให้ผู้บริหารเห็นคุณค่าของการสร้างเสริมศักยภาพทีมงานทุกระดับและทุกตำแหน่ง ด้วยการพัฒนาคู่มือและเครื่องมือในการดำเนินงานเตรียมความพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคมเมื่ออายุครบ 18 ปี เพื่อนำไปเป็นรูปแบบการทำงานที่ดีและยั่งยืน โดยดำเนินการนำร่องใน 5 สถานสงเคราะห์เด็กโต (ดูแลเด็กอายุ 6-18 ปี) สังกัดกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ ได้แก่ สถานสงเคราะห์เด็กชายบ้านปากเกร็ด เด็กชายบ้านเชียงใหม่ เด็กชายบ้านราชสีมา สถานสงเคราะห์เด็กหญิงอุดรธานี และเด็กหญิงปัตตานี

ผู้เขียนสนใจข้อมูลการวิจัยเชิงคุณภาพกับผู้ปฏิบัติงานกลุ่มพี่เลี้ยง แม่หอ และแม่บ้าน เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นตำแหน่งที่ต้องใกล้ชิดกับเด็กมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ และเป็นตำแหน่งที่เป็นตัวแปรสำคัญในการเตรียมพร้อมเด็กและเยาวชนออกสู่สังคม ผู้เขียนได้มีโอกาสสัมภาษณ์ระดับลึก (In-depth Interview) กับกลุ่มพี่เลี้ยง แม่หอ และแม่บ้านรวม 25 ราย จาก 5 สถานสงเคราะห์

ประเด็นสำคัญที่สะท้อนออกมา เป็นสิ่งที่ผู้เขียนในฐานะที่เป็นทั้ง “แม่” และ “ผู้วิจัย” ต้องการนำมาสื่อสารให้กับบุคคลภายนอกได้รับรู้ คือ เรื่องราวดี ๆ ของผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่ง พี่เลี้ยง แม่หอ แม่บ้าน ซึ่งไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ในสายตาของเด็ก ๆ พวกเขาเหล่านี้คือผู้ทำหน้าที่ด้วย “ความเป็นแม่” เพราะคนเหล่านี้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของลูก ๆ  นับสิบนับร้อยในบ้านสงเคราะห์อย่างใกล้ชิด ตั้งแต่กิน อยู่ หลับ นอน ทั้งอบรมสั่งสอน ว่ากล่าวตักเตือนให้ประพฤติตนตามระเบียบวินัย คอยสังเกตพฤติกรรมลูก นำลูกส่งโรงพยาบาลยามเจ็บป่วย ดูแลอาคารพัก อุปกรณ์ เครื่องใช้ต่างๆ ให้ความรัก ความอบอุ่น ให้คำแนะนำปรึกษา แก้ไขปัญหาพฤติกรรม ประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดี ผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้จึงเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบ่มเพาะเลี้ยงดูลูกๆ ไม่ต่างอะไรกับคนเป็นแม่แท้ ๆ

จากการได้พูดคุยกับผู้ปฏิบัติงานเหล่านี้ พบว่าทุกคนทุ่มเทกับงาน และเต็มใจช่วยเหลือเด็กทุกคนเสมือนหนึ่งลูกของตัวเอง ตั้งแต่เช้าถึงเย็นค่ำ ความหวังของพี่เลี้ยง แม่หอ และแม่บ้านเหล่านี้ ล้วนต้องการให้ลูก ๆ ก้าวผ่านช่วงชีวิตในสถานสงเคราะห์จนเติบใหญ่ และพร้อมเดินทางไปสู่สังคมภายนอกอย่างเป็นสุข โดยความภาคภูมิใจที่ได้รับคือการที่ลูก ๆ ที่เคยอยู่ในความดูแลยังกลับมาเยี่ยมเยียนและนำเรื่องราวทั้งทุกข์และสุขมาเล่าให้ฟังอยู่เสมอ สะท้อนให้เห็นถึงสายใยความรักและความผูกพันระหว่างแม่กับลูกในอีกหนึ่งมุมมอง

ข้อสำคัญ พี่เลี้ยง แม่หอ แม่บ้าน ที่ปฏิบัติงานด้วยความเป็นแม่ ได้ประยุกต์ความรู้ ที่ได้รับจากโครงการฯ มาปรับการทำงานที่ต้องใกล้ชิดกับเด็กและเยาวชนได้อย่างเห็นผลการเปลี่ยนแปลง โดยสะท้อนว่า ตนเองก็มีความมั่นใจ และพยายามปรับเทคนิควิธีการเข้าถึงตัวเด็กได้มากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ตำแหน่งพี่เลี้ยง แม่หอ แม่บ้าน ที่ปฏิบัติงานด้วยความเป็นแม่ ด้วยความเสียสละ ความอดทน และความเมตตา ซึ่งมีความหมายยิ่งใหญ่ แต่ในเชิงนโยบายกลับเป็นตำแหน่งเล็ก ๆ ที่ได้รับค่าตอบแทนน้อย และอยู่ในตำแหน่งงานที่ไม่มั่นคง วางอยู่บนความเสี่ยง ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตและความสุข

วัตถุประสงค์ในการหยิบยกเรื่องนี้มานำเสนอแก่ท่านผู้อ่าน เพื่อต้องการสื่อสารให้คนภายนอกได้รับรู้ และเห็นความสำคัญของพี่เลี้ยง แม่หอ แม่บ้านทุกท่าน ในฐานะฟันเฟืองสำคัญในการเตรียมพร้อมเด็กออกสู่สังคม และเป็นผู้มุ่งมั่นปฏิบัติงานที่มีความเสียสละและมีจิตสาธารณะอย่างแท้จริง  หากมีการยกย่องและเชิดชูเกียรติ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ได้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดเลือก “แม่ดีเด่นแห่งชาติ สาขาจิตสาธารณะ” เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ จะทำให้คนในสังคมเห็นความสำคัญของ “ความเป็นแม่” ที่แตกต่างและหลากหลาย รวมทั้งเกิดขวัญและกำลังใจแก่พี่เลี้ยง แม่หอ แม่บ้านในการปฏิบัติงานมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องได้

ความเป็นแม่…ความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่…ใครจะเถียง? 



CONTRIBUTOR

Related Posts
ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัว การย้ายถิ่น และมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนใต้

กาญจนา ตั้งชลทิพย์,ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์,อารี จำปากลาย

หวังว่าโควิด-19 จะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

พิธีมงคลสมรสที่จัดในวัด

ปราโมทย์ ประสาทกุล

เมื่อโควิด-19 กำลังจะผ่านไป

ปราโมทย์ ประสาทกุล

สามเดือน...ยังไม่พอ

มนสิการ กาญจนะจิตรา

โลกแคบลง เมื่ออายุมากขึ้น

ปราโมทย์ ประสาทกุล

Copyright © 2020 สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล
ตำบลศาลายา อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม 73170
โทรศัพท์ 02-441-0201-4 โทรสาร 02-441-9333
Webmaster: piyawat.saw@mahidol.ac.th